อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายวัคซีนไฟเซอร์ เพราะเหตุใดต้องผสมน้ำเกลือ!! เหตุเป็นข้อกำหนด เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิดเข้มข้น ต้องมีการผสมกับน้ำเกลือ โดย 1 ขวดจะเท่ากับ 6 โดส พร้อมเผยรายละเอียด 4 กลุ่มรับวัคซีน โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า กระตุ้นเข็ม 3 รับวัคซีน 7 แสนโดส
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 30 ก.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวชี้แจงรายละเอียดการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ ว่า สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งได้รับบริจาคจากประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 1.5 ล้านโดสและส่งมาถึงประเทศไทยแล้วนั้น จะฉีดใช้ให้ 4 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ถึงไทย! วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสล็อตสหรัฐบริจาคพร้อมกระจายบุคลากรการแพทย์ด่านหน้า)
กลุ่มที่ 1 บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด19ทั่วประเทศ เป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิค้มกัน จำนวน 7 แสนโดส ซึ่งได้มีการสำรวจรายชื่อจากรพ.ต่างๆส่งมา จากนั้นสธ.จะกระจายวัคซีนไปรพ.เป้าหมายต่างๆ เพื่อฉีดให้บุคลากรสาธารณสุขมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น
กลุ่มที่ 2 ฉีดในผู้สูงอายุ ผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์สามารถรฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ด้วย เพราะฉะนั้นจะมีการฉีดให้กลับเด็กที่มีอายุ 12 ขึ้นไปและป่วยใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรังจะได้รับวัคซีนนี้ด้วย ซึ่งจะมีการกระจายไปใน 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส จำนวน 645,000 โดส
กลุ่มที่ 3 ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย โดยเป็น ผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ และคนไทยผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เช่น นักเรียน นักศึกษา เป็นต้น จำนวน 150,000 โดส
กลุ่มที่ 4 ทำการศึกษาวิจัย โดยการอนุมัติของคณะกรรมการวิจัยจริยธรรม เพื่อนำผลการวิจัยมาใช้ในการกำหนดนโยบายต่อไป จำนวน 5,000 โดส
“วัคซีนไฟเซอร์ที่ส่งมาเป็นวัคซีนเข้มข้น ต้องมีการผสมด้วยน้ำเกลือก่อนนำไปฉีด เป็นวัคซีนที่ต้องมีการผสมกับน้ำเกลือ ใน 1 ขวดเมื่อผสมแล้วจะฉีดได้เท่ากับ 6 โดส และที่แตกต่างจากวัคซีนอื่นที่ฉีด เพราะ วัคซีนไฟเซอร์กำหนด ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 โดส 0.3 มิลลิลิตร (มล.) และการฉีด 2 เข็ม ต้องห่างกัน 3 สัปดาห์ โดยวัคซีนไฟเซอร์ต้องเก็บในอุณหภูมิ -90 ถึง -70 องศาเซลเซียส ซึ่งเก็บได้นาน 6 เดือน และเมื่อนำมาเก็บในตู้เย็นธรรมดา ต้องเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ซึ่งเก็บได้ 1 เดือน เพราะฉะนั้นต้องวางแผนอย่างดีในการบริหารจัดการการกระจายและการฉีดวัคซีน ทั้งการนัดหมายวันเวลาที่จะมาฉีด เนื่องจากเก็บรักษาในตู้เย็นธรรมดาได้แค่ 1 เดือน”นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ไทม์ไลน์วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส คือ 30 ก.ค. 2564 วัคซีนล็อตบริจาคถึงประเทศไทย จัดเก็บที่คลังวัคซีนที่ -70 องศาเซลเซียส ของบริษัทซิลลิค ฟาร์มา(ประเทศไทย) จำกัด และส่งตัวอย่างตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2 ส.ค.คาดว่าจะได้รับผลตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัย วันที่ 3-4 ส.ค. บริษัทจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ แพ็ควัคซีนเพื่อจัดส่ง 5-6 ส.ค.จัดส่งวัคซีนล็อตแรกเข็มกระตุ้นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และเข็ม 1 สำหรับกลุ่มเสี่ยงเป้าหมายถึงหน่วยบริการ วันที่ 7-8 ส.ค. รพ.เตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีน โดยรพ.ต้องนัดหมายคนมาฉีด ควบคุมเวลาอย่างดี เพราะเอาออกจากตู้เย็นแล้วจะอยู่ได้ไม่นาน เพราะฉะนั้นความแม่นยำในการนัดหมายต้องเป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้นวัคซีนจะเสียหาย วันที่ 9 ส.ค. หน่วยบริการเริ่มฉีดวัคซีน และกลางเดือนส.ค.2564 จัดส่งวัคซีนเข็ม 2 สำหรับฉีดปลายเดือนส.ค.2564 คาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนส.ค. 2564
อ้างอิงจาก Pfizer-BioNTech COVID-19 Vaccine Preparation and 6th Dose Guidance (cdc.gov)
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 953 views