สช.ห่วงสถานการณ์โควิด-19 สั่นคลอนระบบบริการ หนุนภาคประชาชนหนุนช่วยจัดตั้งศูนย์พักคอยชุมชน หรือ Community Isolation ทั่วประเทศ จ่อใช้กลไกเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่ “นพ.ประทีป” ระบุ เตรียมขยาย “นครปฐมโมเดล” ต้นแบบการสานพลังทุกภาคส่วนในระดับจังหวัดสู้วิกฤตสุขภาพ
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ประสานความร่วมมือองค์กรภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคม และสุขภาพ หนุนเสริมการจัดระบบดูแลตนเองในชุมชน (Community Isolation : CI) ทั่วประเทศ โดยจะขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จากกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยยังพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่มากกว่าวันละ 1.5 หมื่นราย และผู้ป่วยหนักสีแดงเข้มกำลังสร้างปัญหาและสั่นคลอนระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะเมื่อเชื้อโควิด-19 กระจายตัวจาก กทม. ออกไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศจากนโยบายกระจายผู้ติดเชื้อกลับจังหวัดภูมิลำเนาเพื่อให้เข้าถึงระบบบริการได้ง่ายขึ้นและลดภาระจากวิกฤตเตียงเต็มของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดังนั้นทุกจังหวัดจึงจำเป็นต้องเร่งจัดระบบการดูแลผู้ติดเชื้อขึ้นในชุมชน ทั้งรูปแบบ Home Isolation และ Community Isolation และจัดระบบข้อมูล การสื่อสาร การส่งต่อเชื่อมกับระบบบริการหลัก เช่น รพ.สนาม หรือ รพ.หลัก ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวต่อว่า การดูแลตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) และศูนย์พักคอยในชุมชน Community Isolation เชื่อมกับระบบบริการ ที่รัฐบาลประกาศเป็นนโยบาย ถือเป็นแนวทางที่จำเป็นและถูกต้อง สอดคล้องกับสถานการณ์ของไทย และใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก และขณะนี้มีหลายพื้นที่มีการจัดระบบสนับสนุน Home Isolation หรือการจัดตั้ง Community Isolation ขึ้นมาแล้ว สิ่งที่ต้องเร่งทำต่อคือเพิ่มการมีส่วนร่วมและการจัดการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อช่วยผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ยังตกค้างอยู่ตามบ้านเรือนและชุมชน
“สิ่งที่ สช. และภาคีเครือข่ายจะร่วมกันขับเคลื่อน คือการหนุนเสริมให้เกิดการจัดตั้งและบริหารศูนย์พักคอย หรือ Community Isolation โดยการจัดการของชุมชนให้เพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะช่วยตัดวงจรการระบาดแล้ว ยังจะช่วยดูแลผู้ติดเชื้อและแก้ปัญหาคนตกค้างตามบ้านและชุมชนได้ โดยจะมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด ภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วมระดับชุมชน” นพ.ประทีป กล่าว
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในระหว่างที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาด ทาง จ.นครปฐม ได้ลุกขึ้นมาสานพลังทุกภาคส่วนภายในจังหวัดเพื่อจัดกระบวนการรับมือวิกฤต โดยมีการจัดทำมาตรการของประชาชน เช่น ระบบข้อมูล การสื่อสาร การส่งต่อ การตั้งกองทุนจัดหาเครื่องวัดและถังออกซิเจน สนับสนุนการจัดตั้งดูแล Home และ Community Isolation การให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและอื่นๆ เพื่อหนุนเสริมการทำงานของภาครัฐและหนุนเสริมมาตรการของโรงพยาบาลจนเกิดเป็นความเข้มแข็งระดับพื้นที่ นครปฐมโมเดลจึงถือเป็นรูปธรรมที่น่าสนใจ เป็นต้นแบบการสานพลังที่ควรค่าแก่การขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ
“ขณะนี้ สช. ได้ร่วมกับภาคีสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อขยายและประยุกต์ใช้นครปฐมโมเดล เป็นต้นแบบการทำงานระดับพื้นที่ ตลอดจนถอดบทเรียนและองค์ความรู้จากการจัดทำ Home Isolation และการจัดตั้ง Community Isolation ใน กทม. และจังหวัดอื่น เพื่อประยุกต์ใช้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศด้วย” รองเลขาธิการ คสช. กล่าว
นพ.วิโรจน์ รัตนอมรสกุล นพ.สสจ. นครปฐม กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ Home และCommunity Isolation จะกลายมาเป็นระบบสำคัญในการรับมือโควิด-19 ของชุมชนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง โดยหลักคิดสำคัญ คือการให้ชุมชนเป็นฐานในการบริหารจัดการและจัดบริการภายใต้การสนับสนุนของระบบบริการของรัฐ ตามที่ สช. และภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง คือเมื่อรู้ตัวผู้ติดเชื้อแล้ว จะต้องแยกให้เร็ว รักษาให้เร็ว และเฝ้าระวังผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ โดยมีอาสาสมัครในชุมชนเป็นกำลังสำคัญในการดูแล เชื่อมต่อกับหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่จะช่วยเติมความรู้ รวมถึงได้รับการสนับสนุนเรื่องของยา และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น เช่น เครื่องวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจน
“ทางนี้จะเป็นทางที่ดีที่สุดในสถานการณ์ที่หน่วยบริการรับไม่ไหว เราต้องเอาระบบบริการที่ไม่มีขีดจำกัดเข้าไปอยู่ในชุมชน เพราะผู้ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่จะเป็นสีเขียว มีอาการน้อย ชุมชนสามารถดูแลช่วยกันรักษาและให้กำลังใจผู้ติดเชื้อและประชาชนภายในชุมชนได้เลย หรือหากมีความจำเป็นก็สามารถส่งต่อไปรักษาตามระบบที่เชื่อมโยงกันอยู่แล้ว” นพ.สสจ.นครปฐม กล่าว
อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้การจัดตั้ง Community Isolation โดยชุมชน และการเข้าสู่กระบวนการดูแลใน Community Isolation ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะเงื่อนไข กฎระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ รวมทั้งการสนับสนุนความรู้ เครื่องมือ และงบประมาณที่จำเป็นเพื่อเปิดช่องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากและเร็วขึ้น
- 36 views