ตามที่การเผยแพร่ข้อความทางสื่อสังคมออนไลน์ใน Facebook มีเนื้อหาอ้างว่า นักษาชาวอินเดีย มหาวิทยาลัยพอนดิเชอร์รี่ค้นพบยาสามัญประจำบ้านได้รับการอนุมัติจาก องค์กรอนามัยโลก (WHO) ช่วยต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งทางหน่วยงาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว พบว่า สรรพคุณที่กล่าวอ้างมีเนื้อหาที่เป็นเท็จ

ในข้อความมีการอ้างว่าได้แหล่งข้อมูลมาจาก นักศึกษาชาวอินเดีย ชื่อ Ram มหาวิทยาลัยพอนดิเชอร์รี จากการตรวจที่มีข้อมูลปรากฏ สอบพบเพียงชื่อมหาวิทยาลัยพอนดิเชอร์รี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยกลางของ ภาคใต้ของประเทศอินเดียอยู่ใน Kalapet , พอน, สหภาพอาณาเขตของ Puducherry ของอินเดีย และส่วนประเด็นได้รับการอนุมัติจาก WHO ได้ทำการตรวจสอบในฐานข้อมูลของ WHO ก็ไม่ได้มีหลักฐานปรากฏ

หากกล่าวถึงข้อเท็จจริงของสรรพคุณสมุนไพรที่มีการอวดอ้าง พริกไทย ตามตำรายาไทยเป็นสมุนไพรที่มีรสร้อน มีสรรพคุณ ขับลม ขับเหงื่อ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยให้เจริญอาหาร ขับลม ขับเสมหะ บำรุงธาตุผล ด้านฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จากข้อมูลการรายงานวิจัยทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองด้วยวิธีทางเคมีของสารสกัดเอทานอลจากใบพริกไทยในการต้านอนุมูลอิสระ DPPH (2,2-diphenyl-1-picrylhy-drazyl) assay เปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน L- ascorbic acid ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดพริกไทย และสารมาตรฐาน L-ascorbic acid สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH นอกจากนี้ พบว่า มีฤทธิ์ต้านเชื้อราและแบคทีเรีย ระงับปวด ต้านการอักเสบ โดยผลการศึกษาทางพิษวิทยา พบว่า ควรระวังการใช้พริกไทยในปริมาณขนาดสูง เพราะมีรายงาน พบความเป็นพิษต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อได้รับปริมาณขนาดสูงและติดต่อกันหลายวัน 

ขิง ตามตำรายาไทย มีรสเผ็ดร้อน ระบุว่าให้ใช้ส่วนเหง้า เพื่อรักษาอาการท้องอืด เฟ้อ เสียดท้อง อาหารไม่ย่อย แก้คลื่นไส้ อาเจียน ข้อมูลเชิงสรรพคุณโบราณ ขิงแห้ง แก้ไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ ขับเหงื่อ แก้หอบ แก้ลม แก้จุกเสียด แก้เสมหะ บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียน อาเจียน ส่วนขิงสด ใช้แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับลมในลำไส้ให้ผายลมและเรอ แก้อาเจียน ยาขมช่วยเจริญอาหาร ขับน้ำดีช่วยย่อยอาหาร แก้ปากคอเปื่อย แก้ท้องผูก ลดความดัน ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน) ใช้เหง้าขิงแก่แบบสด ๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือ ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม แก้จุกเสียด คลื่นเหียน อาเจียน อย่างไรก็ตามในอนาคตอาจมีข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการเพิ่มขึ้น
จากการศึกษาทางเภสัชวิทยา พบว่ามีฤทธิ์บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ฤทธิ์ขับลมเกิดจากสาร menthol, cineole, shogaol และ gingerol กระตุ้นการทํางานของกล้ามเนื้อที่ระบบทางเดินอาหารให้มีการบีบตัวมากขึ้น จึงเกิดการขับลมออกมา มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านการอักเสบ 

ด้านการศึกษาทางคลินิกพบว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การศึกษาฤทธิ์ของขิง และการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยเพิ่มน้ำหนักที่สามารถยกได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามสัดส่วน ในอาสาสมัครชายที่มีภาวะอ้วน พบว่า ระดับของ TAC ในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( p<0.008) และระดับ MDA มีค่าลดลงในระหว่างที่ทำการศึกษา ( p<0.001) ในกลุ่ม ที่ได้รับการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อโดยเพิ่มน้ำหนักขึ้นเรื่อย ๆ ตามสัดส่วน (progressive resistance training :PRT) และในกลุ่มที่ได้รับแคปซูลขิง จากการศึกษานี้แสดงว่า progressive resistance training : PRT และสารสกัด ขิงสามารถต่อต้านอนุมูลอิสระได้ แต่การให้ร่วมกันมิได้เพิ่มฤทธิ์ของทั้ง 2 วิธี 

ทั้งนี้มีการศึกษาพิษเฉียบพลัน และพิษกึ่งเฉียบพลัน ของขิงในหนูขาวเพศผู้ และศึกษากลไกการเกิดพิษ ผลการทดสอบพบว่า ผงขิงในขนาด 2,500 mg/kg ที่ได้ปริมาณวันละครั้ง ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นช้า (bradycardia) และเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจได้ การให้สารสกัดขิงในขนาด 50 mg/kg นาน 28 วันทำให้หัวใจเต้นช้า (bradycardia) สารสกัดขิงขนาด 500 mg/kg ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นช้า (bradycardia) และมีการเสื่อมสภาพ ของกล้ามเนื้อหัวใจ การเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นช้าเป็นผลมาจากสารสกัดขิงทำให้เกิดการขยายตัว ของหลอดเลือด โดยเพิ่มการปลดปล่อย หรือเพิ่มการสังเคราะห์ nitric oxide หรืออาจเกิดจากผลของ calcium channel blocking 

สุดท้าย น้ำผึ้ง เป็นน้ำรสหวานที่เกิดจาดผึ้งดูดจากดอกไม้แล้วสะสมไว้ในรวงผึ้ง ตามตำรายาไทย ใช้น้ำผึ้งปรุงแต่งรสยา ทั้งน้ำผึ้ง มีรสหวานฝาด และร้อนเล็กน้อย มีสรรพคุณช่วยบำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้สะอึก แก้ไข้ตรีโทษ หรือตามความเชื่อคือเป็นยาอายุวัฒนะ และใช้แต่งรสยาบางชนิด เช่น ยาแก้ไข้ที่มีรสขมมากจนกินไม่ได้ ก็ใช้น้ำผึ้งผสมให้มีรสหวานนิดหนึ่ง เพื่อช่วยใก้กินยาได้ง่ายขึ้น และช่วยชูกำลัง ซึ่งน้ำผึ้งเข้าได้กับตำรับยาทุกชนิด และเป็นน้ำกระสายยา ช่วยให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น ทำให้ตัวยาดูดซึมเร็วขึ้น 

เมื่อนำมาพิจารณาตำรับยาแผนไทย ตามหลักการทางการแพทย์แผนไทย พบว่า สมุนไพรทั้ง 3 ชนิด ไม่มีสรรพคุณหลัก ในการรักษาอาการไข้เลย แม้ว่าจะมีบางงานวิจัยหรือข้อมูลวิชาการ บ่งชี้การกินพริกไทย ขิง และนำผึ้ง เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพในบางด้าน แต่ยังไม่มีหลักฐานรายงานผลการวิจัยว่าสามารถกำจัดเชื้อโควิด – 19 ได้ 

อย่างไรก็ดี ไม่ควรหายารับประทานเอง และขิงหากกินในระยะมีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรระวัง ในผู้ป่วยที่มีปัญหาการแข็งตัวของเลือดหรือผู้ที่อยู่ระหว่างการใช้ยากันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelet) เนื่องจากอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้า และทำให้เลือดไหลหยุดยาก และอาจเกิดอาการแสบร้อนบริเวณทางเดินอาหาร อาการระคายเคืองบริเวณปากและคอ รวมทั้งผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้าดี รวมถึงไม่แนะนำให้รับประทานในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี 

 

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี http://www.thaicrudedrug.com