เมื่อนโยบายภาครัฐเปลี่ยน ทั้งการให้ตรวจโควิดด้วยตัวเอง และเมื่อผลตรวจเป็นบวก หากไม่มีอาการให้รักษาตัวที่บ้านแบบ Home Isolation หรือรักษาตัวในชุมชน Community Isolation  เกิดคำถามว่า ระบบในการรองรับมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ติดตามระบบการรองรับดังกล่าวได้ในรายงานชิ้นนี้ 

สถานการณ์ผู้ป่วยโควิดประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ป่วยวิกฤตมากขึ้น จนตัวเลขคนเสียชีวิตยังน่าวิตก เห็นได้ชัดจากตัวเลขผู้ป่วยรายวันที่มากกว่า 1 หมื่นราย อย่างวันที่ 22 ก.ค.2564 ผู้ป่วยรายใหม่ 13,655 ราย สะสมแล้ว 453,132 ราย เสียชีวิตสะสม 3,697 คน กำลังรักษาอยู่ 137,058 ราย อาการหนัก 3,856 ราย และต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 889 ราย จากตัวเลขดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อปัญหาเตียงไม่พอกับจำนวนผู้ป่วยที่ถาโถมไม่เว้นในแต่ละวัน โดยเฉพาะในพื้นที่ระบาดหนัก อย่างกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่เห็นได้อย่างชัดเจน

ยังไม่รวมถึงปัญหาการรอคิวตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธีมาตรฐาน หรือ RT-PCR ตามสถานพยาบาล หน่วยบริการที่ผ่านมาตรฐานอีก กลายเป็นคอขวดอย่างที่เห็นในข่าวต่างๆ ส่วนหนึ่งคนรอตรวจจำนวนเยอะ กับอีกส่วน รพ. ภาระงานมาก ไม่สามารถตรวจได้ทัน ขณะเดียวกัน เมื่อตรวจเชื้อแล้วหากผลเป็นบวก การจะส่งต่อรักษาก็มีอุปสรรค เพราะไม่มีเตียงรองรับ ไม่ว่าจะเตียงสีเหลือง สีแดง ก็เต็มไปหมด แม้กระทั่งสีเขียวก็ประสบปัญหาไม่แพ้กัน

ปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การเปิดให้ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตัวเอง ผ่านชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen test kit: ATK) และหากพบผลเชื้อเป็นบวก ประกอบกับเป็นกลุ่มไม่มีอาการ แข็งแรงดี จะเข้าสู่การรักษาที่เรียกว่า การรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) และการรักษาตัวในชุมชน หรือ Community Isolation (CI) ซึ่งทั้ง 2 แบบจะมีระบบติดตาม คอยดูอาการของผู้ป่วย โดยหากรักษาตัวที่บ้าน ก็จะมีห้องแยกชัดเจน มีระบบคอยติดตามอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หากเป็นการรักษาในชุมชนจะมีภาคประชาสังคมที่เข้ามาร่วมมือ จับคู่กับทางคลินิกชุมชนอบอุ่น หรือศูนย์บริการสาธารณสุข  กทม. มาช่วยดำเนินการ ซึ่งทั้งหมดยังมีทีมที่เรียกว่า CCR Team ซึ่งเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขลงไปติดตามอีกด้วย และหากผู้ป่วยมีอาการจากสีเขียว เริ่มไปสู่สีเหลืองก็จะมีระบบพาเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาลทันที

ทั้งหมดเป็นนโยบายมาช่วยในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยพุ่งทะยาน ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์มีจำกัด เตียงรักษาไม่เพียงพอ... แต่ก็เกิดคำถามว่า ในความเป็นจริง จะมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากผู้ป่วยหลายคนเมื่อพบเชื้อหลายคนยังประสบปัญหาไม่สามารถติดต่อทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้..

ภาพจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

วันนี้เรามาย้ำถึงขั้นตอนภายหลังหากตรวจโควิดด้วยชุด ATK แล้วเป็นบวกกัน...

เริ่มจากหากพบว่า มีผลเป็นบวก อันดับแรกติดต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสปสช. โทร 1330 ปัจจุบันเปิดคู่สาย 1,600 คู่สาย หากยังไม่สามารถติดต่อ หรือยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ ให้กรอบข้อมูลหรือลงทะเบียนได้ผ่านทางช่องทาง ดังนี้

-  https://crmsup.nhso.go.th/

- เข้าผ่านทาง line โดย เพิ่มเพื่อน @nhso กดเมนู ลงทะเบียนระบบดูแลที่บ้าน Home Isolation

- จากนั้นจะได้รับการประเมินอาการด้วยวิดิโอคอลวันละ 2 ครั้ง และจัดอาหาร 3 มื้อ พร้อมทั้งส่งปรอทวัดไข้แบบดิจิตอลและเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วให้ และยาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ

- หากอาการไม่ดีขึ้น พร้อมส่งยาฟาวิพิราเวียร์ และประสานส่งต่อรักษาหากอาการแย่ลง

นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่สายด่วน สปสช. 1330 ยังมีสายด่วนอื่นๆ ทั้งประกันสังคม 1506 และกรมการแพทย์ 1668

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการใช้ชุดตรวจ ATK นั้น หากเป็นกลุ่มที่สงสัยว่าตนเองอาจติดเชื้อ เนื่องจากสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย หรือมีญาติ พ่อแม่ ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยและต้องการตรวจหาเชื้อโควิด สามารถไปขอตรวจวิธีดังกล่าวได้ที่สถานพยาบาล หรือคลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ซึ่งขณะนี้ทางสปสช. ได้ร่วมกับทางกรุงเทพมหานคร ในการกระจายชุดตรวจดังกล่าวเพื่อให้ครอบคลุมมากที่สุด แต่หากไม่ได้เข้าข่าย แต่ต้องการตรวจ ก็สามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายยา แต่ประเด็นนี้ต้องตรวจสอบดีๆ เพราะต้องดูด้วยว่า ยี่ห้อไหนผ่านมาตรฐานการรับรองของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และวิธีการตรวจต้องอ่านคำแนะนำให้เข้าใจ พร้อมทั้งการกำจัดทิ้ง ซึ่งจะมีคู่มือให้

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ย้ำว่า เมื่อตรวจด้วยชุดตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก หากเข้าเกณฑ์อาการสีเขียว ไม่มีอาการ แข็งแรงดี ก็เข้าสู่การดูแลตัวเองที่บ้านได้ (Home Isolation)โดยไม่ต้องมีการตรวจซ้ำด้วย RT-PCR แต่หากไม่สามารถดูแลตัวเองที่บ้าน ต้องเข้าสู่การรักษาตัวในชุมชน (Community Isolation) ซึ่งยังจำเป็นต้องทำการตรวจซ้ำด้วยวิธีมาตรฐาน เพราะการตรวจเชื้อแบบแอนติเจน เทสต์ คิท มีผลลวงได้ อย่างไรก็ตาม ขณะที่ประเด็นเรื่องการให้ยาฟาวิพิราเวียร์นั้น ก็เป็นไปตามแนวทางเวชปฏิบัติที่ทางกรมการแพทย์ออกมา โดยไม่ได้ให้หว่านทั้งหมด แต่จะมีข้อจำกัด เนื่องจากไม่ใช่ว่า เราไม่กังวลเรื่องเชื้อดื้อยา แต่แนวทางระบุชัดว่า หากให้ยาเร็วในบางกลุ่มจะช่วยได้

“แนวทางเวชปฏิบัติอันใหม่ระบุชัดว่า หากผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ พิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เริ่มให้ยาเร็วที่สุด แต่กรณีผู้ป่วยไม่มีอาการสามารถรักษาตามอาการ หรือให้ยาฟ้าทะลายโจร ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมการแพทย์ปรับแนวทางเวชปฏิบัติ การให้ยาฟาวิพิราเวียร์ผู้ป่วยโควิด-19)

สรุปคือ ประเด็นการให้ยาสำหรับผู้ป่วยที่รักษาตัวเองที่บ้าน หรือชุมชน ก็สามารถดำเนินการได้ตามไกด์ไลน์ใหม่ของกรมการแพทย์ แต่ยังมีอีกปัญหาที่หลายคนเป็นห่วง กรณีการตรวจเชื้อด้วยตัวเองเป็นผลบวก แต่ไม่สามารถรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation โดยต้องไปอยู่ Community Isolation ก็ต้องทำ RT-PCR ปัญหา คือ ระหว่างรอทำการตรวจมาตรฐาน จะทำอย่างไร เพราะจะให้อยู่บ้านก็เสี่ยงแพร่เชื้อคนที่บ้าน หรือคนในชุมชน ต้องมีสถานที่รอ และส่งต่อรักษาได้

แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกรณีหากต้องให้ผู้ตรวจเชื้อแล้วผลเป็นบวก แต่ต้องตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR โดยจะมีศูนย์มารองรับ ที่เรียกว่าศูนย์แรกรับและส่งต่อ ซึ่งปัจจุบันมีที่อาคารนิมิบุตร มีศักยภาพ ในการตรวจหาเชื้อสว็อป ทำ RT-PCR ได้ พร้อมยังเป็นศูนย์แรกรับ และส่งต่อผู้ป่วยอีก ประเด็นคือ หากมีเพียงจุดเดียวอาจไม่เพียงพอกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจากการประชุมหารือร่วมกันทั้งของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมรับผู้ป่วยทั้งแบบรักษาที่บ้าน และในชุมชน เห็นพร้องในการเปิดศูนย์แรกรับและส่งต่อ ที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน สามารถเปิดพื้นที่ในการดำเนินการตรงนี้ได้ แต่ปรากฏว่า ล่าสุดทางกรุงเทพมหานคร ยังไม่พร้อมเปิด ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วจะอย่างไร เพราะกทม.ถือเป็นพื้นที่ระบาดและเสี่ยงที่สุดแล้วตอนนี้ 

"ส่วนในเรื่องของระบบติดตามอาการผู้ป่วยที่บ้าน ที่ชุมชน ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการวางระบบ และมีการจับคู่กับรพ. หน่วยบริการแล้ว ซึ่งในต่างจังหวัดมีการดำเนินการ และเริ่มทำหลายที่ ตอนนี้ต้องมาดูที่พื้นที่ กทม. หากทำตรงนี้ได้อย่างเป็นระบบดีๆ ก็จะช่วยดูแลผู้ป่วยโควิดได้มาก  โดยเฉพาะคนที่ไม่มีอาการ เมื่อมีการติดตามที่ดี ให้ยาตามอาการ หลายรายสามารถรักษาจนหายป่วยโดยอาการไม่ขยับเป็นสีเหลือง  แต่หากระบบในการติดตามอาการไม่พร้อม ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหาได้เช่นกัน" แหล่งข่าวฯ กล่าว

สุดท้ายแล้วต้องให้กำลังใจบุคลากรผู้ปฏิบัติงานทุกคน ที่ร่วมด้วยช่วยผู้ป่วย ...ตอนนี้ความหวังไม่ใช่แค่ความร่วมมือร่วมใจของประชาชนเท่านั้น แต่ต้องทุกฝ่ายจริงๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ทุกหน่วยงาน คำว่าบูรณาการ ควรให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม 

และการติดตามอาการผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้านหรือชุมชน ต้องไว  มีระบบเทเลเมดิซีนที่ดี ระบบจัดส่งยารวดเร็ว  ซึ่งเข้าใจว่ามีการเตรียมพร้อมทั้งหมดแล้ว แต่ทั้งหมดต้องเป็นระบบที่รวดเร็ว เมื่ออาการเปลี่ยน ต้องนำเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างทันท่วงที

เพราะไม่มีใครอยากเห็นผู้ป่วยต้องมารอ และเสียชีวิตที่บ้านอย่างแน่นอน ........

 

ภาพจากประชาสัมพันธ์ สปสช.

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : “รามอินทราเฮลท์สหคลินิก” ร่วมระบบดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน

***********************************

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org