เลขาธิการ สปสช. เผยจากความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และกทม. ใช้ชุดตรวจ Antigen test kit หรือ ATK ตั้งแต่ 12 ก.ค. ใช้แล้ว 5 หมื่นกว่าราย ผลบวกสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ เมื่อนำไปเทียบกับวิธีมาตรฐานผิดพลาดไม่เกิน 3% เตรียมขยายชุดตรวจให้ปชช.กลุ่มเสี่ยง อยู่ระหว่างการจัดหา
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และกทม. ในการใช้ชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen test kit: ATK) ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. ใช้ไปแล้ว 5 หมื่นกว่าราย พบได้ผลบวกประมาณสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ และเมื่อนำกรณีผลบวกดังกล่าวไปเทียบกับการตรวจมาตรฐานความผิดพลาดไม่เกิน 3% ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. ครั้งล่าสุด ได้มีมติขยายชุดตรวจฯ ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงบางส่วนเพื่อตรวจเอง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการจัดหา และทีมวิชาการโดยกรมควบคุมโรคกำลังวางแผนกระจายจุดตรวจให้กับประชาชน
“เมื่อตรวจแล้วให้ผลตรวจเป็นบวกก็จะนำเข้าสู่ Home isolation หรือ community isolation หากมีอาการก็จะนำเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาลต่อไป” นพ.จเด็จ กล่าว และว่า ขณะนี้ได้นำร่องสื่อสารกับคลินิกชุมชนอบอุ่นในกทม. 200 กว่าแห่ง และศูนย์สาธารณสุข 69 แห่ง ก็เริ่มทยอยตรวจมากขึ้น รวมถึงเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมาได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ทั่วประเทศเพิ่มเติมด้วย เพราะจะมีการทยอยให้ตรวจต่อไป
ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กล่าวว่า ชุดตรวจ ATK เป็นชุดตรวจที่ตรวจได้ด้วยตัวเอง ทราบผลเร็วใน 15 นาที ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถคัดกรองผู้ติดเชื้อได้มาก อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยวิธีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องตรวจทุกคน คนที่ควรตรวจคือกลุ่มเสี่ยง เช่น มีญาติ มีคนใกล้ชิด มีการสัมผัสใกล้ชิดกัน หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยง แล้วมีอาการ เช่น น้ำมูก ไอ จาม มีไข้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 ขณะนี้ยังมีความรุนแรง ดังนั้น หากผลตรวจออกมาเป็นลบท่านยังต้องปฏิบัติตนเหมือนว่ามีความเสี่ยงตลอดเวลา เพื่อป้องกันตัวเอง และป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นด้วย หากผลตรวจออกมาเป็นบวกให้โทรสายด่วน สำคัญคือ 1330 และดูตัวเองเบื้องต้น
นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า กรณีหน่วยตรวจเชิงรุก และสถานพยาบาล เมื่อใช้ชุดตรวจดังกล่าวแล้ว พบผลเป็นบวก ทางบุคลากรจะมีการประเมินอาการว่ามีความจำเป็นต้องเข้ารพ.หรือไม่ เช่น หอบเหนื่อย จะนำส่งรพ.เพื่อรักษาต่อ ส่วนอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ แต่ผลเป็นบวก จะให้ดูแลตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) โดยจะมีทีมบุคลากรสาธารณสุข คอยติดตามอาการ มีทั้งฟ้าทลายโจร และยารักษา ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดระดับออกซิเจน ให้ด้วย อย่างไรก็ตามขอย้ำว่า ในกลุ่มที่ผลเป็นบวก จะต้องตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR เพื่อยืนยันผล
ทั้งนี้กรณีคนที่มีอาการหวัดซึ่งอาจจะใช่ หรือไม่ใช่โควิดก็ได้ หากผลออกมาเป็นลบ สามารถตรวจซ้ำได้หลังตรวจครั้งล่าสุด 3-5 วันได้ ระหว่างนี้ก็ต้องแยกตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างจากผู้อื่น ตนขอย้ำว่าผลตรวจออกมาจะมีความถูกต้องมากที่สุดอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าท่านเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ หรือถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงและมีอาการ ชุดตรวจจะมีความแม่นยำสูง แต่ก็อาจจะมีผลลวงเช่นกัน แต่ไม่มาก ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของชุดตรวจว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ถึงได้ย้ำให้มีการซื้อในร้านขายยา ไม่ควรซื้อออนไลน์ ซึ่งมีโอกาสเป็นชุดตรวจปลอมสูง นอกจากนี้ การเก็บตัวอย่างตรวจด้วยตัวเองก็สำคัญ
เมื่อถามถึงกรณีรพ.เอกชน เรียกรับเงินล่วงหน้า เพื่อรับประกันว่ามีเตียงรักษา นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า เรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุข รับทราบและจะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย วันนี้ภาพรวมเตียงในกทม. 70% อยู่ที่รพ.เอกชน หากประชาชนถูกเรียกรับเงินขอให้ร้องเรียนมาที่สายด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)โทร 1426 กระทรวงสาธารณสุขจะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะวันนี้ทรัพยากรเรามีจำกัด แต่ส่วนที่ยังสามารถดูแลผู้ป่วยได้ก็ต้องช่วยเหลือ ดูแลประชาชนอย่างเต็มความสามารถ ดังนั้นหากเอกชนที่ยังทำการเก็บเงินอยู่ขอให้ยุติการกระทำ ถ้ายังทำอยู่ก็จะมีการดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย
ภาพจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- 6 views