"มานพ" ผอ.รพ.สต.หนองพะลาน จ.นครราชสีมา สะท้อนปัญหาการปฏิบัติงานสู้โควิด-19 ในบทบาทพยาบาลวิชาชีพ ทั้งความเสี่ยงติดเชื้อและอาจถึงขั้นเสียชีวิต พร้อมวอนขอสวัสดิการ “บำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษ ” คุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์โดยเร็ว
จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขหลากหลายวิชาชีพ ต้องปฏิบัติงานเพื่อต่อสู้กับโควิด “พยาบาล” เป็นอีกหนึ่งวิชาชีพที่ทำงานตรงนี้ นายมานพ ผสม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ผอ.รพ.สต.หนองพะลาน อ.เมือง จ.นครราชสีมา เล่าถึงการบริหารจัดการในส่วนของพยาบาลที่ต้องรับผิดชอบในพื้นที่รพ.สต. รวมถึงปัญหาและอุปสรรคที่ต้องเจอในการปฏิบัติงานครั้งนี้
นายมานพ กล่าวว่า พยาบาลใน รพ.สต. ทั่วประเทศส่วนใหญ่จะมี 1-2 คน ต่อ รพ.สต. สำหรับการปฏิบัติงานของพยาบาลก่อนที่จะมีโรคระบาดโควิดเข้ามานั้น บทบาทของเราคือ รักษา ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟู อย่างเช่นการรักษา เราก็จะดูแลคนไข้เบาหวาน ความดัน หรือคนไข้ทั่วไป และอุบัติเหตุฉุกเฉิน รวมถึงการดูแล เรื่องยาเวชภัณฑ์ต่างๆ คือการที่คนไข้จะได้รับยามากินพยาบาลจะเป็นคนบริหารจัดการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการไปเบิกยา การทำสต๊อกยา การดูแลควบคุมยา การเจาะเลือดประจำปีการนัดพบหมอหรือการทำหัตถการเบื้องต้น เช่น การใส่สายให้อาหาร ด้านการส่งเสริม เราจะดูแลตั้งแต่การฝากท้อง การฉีดวัคซีนให้เด็กตามกลุ่มอายุ
ส่วนด้านการป้องกันสุขภาพ เราจะมีหน้าที่คัดกรอง อย่างเช่น การคัดกรองภาวะสารเคมีในเกษตรกร การคัดกรองหลอดเลือดในกลุ่มที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ว่าเป็นความดันเบาหวานหรือไม่ เป็นต้น สุดท้ายการฟื้นฟูสุขภาพพยาบาลเราจะลงไปดูกลุ่มติดบ้านติดเตียง อย่างเช่น ในกลุ่มที่เป็นหลอดเลือดในสมองตีบ ได้รับการกายภาพหรือไม่และได้ทำการกายภาพอย่างถูกวิธีไหม มีภาวะแทรกซ้อนจากการนอนนานๆหรือมีแผลกดทับหรือภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือไม่ เป็นต้น
นายมานพ กล่าวว่า นอกจากนี้ เรายังมีงานด้านเอกสารงานที่ทำอยู่ประจำ เช่น การทำงานในด้านพัสดุจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่มีโควิดระบาดรอบที่ 1 เข้ามา เราก็มีหน้าที่เพิ่มขึ้นคือ ต้องคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงที่เดินเข้ามาในหมู่บ้านของเรา มีการประสานงานกับโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเสี่ยงนั้นได้รับการตรวจ swab และบางครั้งประชาชนไม่สะดวกในการเดินทาง เราก็จะทำหน้าที่ รับ-ส่ง ตามโรงพยาบาลเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้วยเช่นกัน หลังจากนั้นให้มากักตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชนเยอะ
ส่วนโควิดระบาดในรอบปัจจุบันนี้ตั้งแต่เมษายน เป็นต้นมา งานประจำในส่วนของพยาบาลก็ยังทำอยู่ โดยที่เราได้มีการจัดการระบบเพิ่มขึ้นในส่วนของการให้บริการในชุมชน เช่น มีการออกไปแจกยาตามหมู่บ้านเพื่อลดการกระจายความเสี่ยงไม่ให้มีคนเข้ามาแออัดใน รพ.สต. นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของการจัดการวัคซีนเรามีหน้าที่รณรงค์ให้ประชาชนยอมรับในการฉีดวัคซีน ซึ่งในตอนแรกประชาชนค่อนข้างกลัวในเรื่องของผลข้างเคียง แต่เราได้เข้าไปให้ความรู้และโน้มน้าวประชาชนให้มีความเชื่อมั่นในวัคซีนมากขึ้น
นอกจากนี้เราวางแผนที่จะทำ State quarantine คือ เตรียมพื้นที่ในชุมชนที่เป็นส่วนกลางไว้สำหรับกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่สีแดงเข้มหรือเป็นกลุ่มเสี่ยง ก่อนจะเข้ามาในหมู่บ้านของเราเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชุมชนมากที่สุด และยังมีในเรื่องของ Home Isolation ที่เราทำเพื่อรองรับผู้ที่ติดเชื้อแล้ว ไม่มีเตียงหรือเป็นผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน รวมถึงมีเรื่องของแคมป์ก่อสร้างที่เราต้องออกไปควบคุมหรือประสานกับนายจ้างว่าการเดินทางเข้า-ออก ถ้ามีกลุ่มเสี่ยง ให้รีบแจ้งมาทางเราเพื่อควบคุมการระบาดในพื้นที่อีกด้วย ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นหน้าที่ที่เราได้ดำเนินการทำอยู่ปัจจุบันนี้
นายมานพ กล่าวต่อว่า อีกเรื่องสำคัญของพยาบาลรพ.สต. ที่ได้รับผิดชอบคือ ต้องมาสนับสนุนจุดฉีดวัคซีนที่เป็นของจังหวัดแต่ละแห่งอย่างเช่น ห้างสรรพสินค้า หรืออื่นๆ ที่เรามาช่วยสนับสนุนในส่วนของ จุดคัดกรอง จุดซักประวัติ ร่วมกับจังหวัดด้วย ซึ่งการทำงานนี้ “พยาบาล”ถือเป็นด่านหน้าที่ต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอด
"การที่เราได้รับทราบว่า มีเพื่อนร่วมวิชาชีพพยาบาลรพ.สต.ออกไปให้บริการฉีดวัคซีน แต่มีการติดเชื้อและเสียชีวิต ทำให้ขวัญกำลังใจหดหาย และรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยจากการปฏิบัติงาน แม้เราจะพยายามปฏิบัติตามมาตรฐานในการดูแลแล้วก็ตาม"
“ทำไมเราไม่ได้วัคซีน mRNA วัคซีนที่มีคุณภาพ เราอยากมีอาวุธที่ดีก่อนที่จะให้บริการประชาชน เพราะเชื้อโรคเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น ถ้าเราติดเชื้อขึ้นมามันไม่มีอะไรมาคุ้มครองหรือดูแลบุคลากรทางการแพทย์เลย ทำไมรัฐบาลดูแลแต่ข้าราชการตำรวจและทหาร แล้วข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขทุกวิชาชีพ รวมถึงพยาบาล รพ.สต. ทุกๆท่านที่ให้บริการเป็นด่านหน้านี้ ถ้าเกิดเค้าติดเชื้อหรือเสียชีวิตขึ้นมา ทำไมเค้าไม่ได้รับการเยียวยา ไม่ได้รับการดูแลเป็นกรณีพิเศษ
สุดท้ายฝากวิงวอนไปถึงรัฐบาล ถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ช่วยให้ขวัญและกำลังใจบุคลากรที่ปฏิบัติงาน ให้มี พรบ. หรือสวัสดิการ “บำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษ ” มาคุ้มครองเพื่อให้เป็นขวัญและกำลังใจที่จะบริการให้กับประชาชนอยู่ในขณะนี้ด้วย ซึ่งเราก็มีลูกหลาน มีครอบครัวที่ต้องดูแล เหมือนกับข้าราชการประเภทอื่นเหมือนกัน” นายมานพ กล่าว
- 2472 views