กรมสุขภาพจิตพบจากสถานการณ์โควิดระบาดหนัก! บุคลากรสาธารณสุขมีความเครียดสูง 2 เรื่อง ทั้งจากความรู้สึกเสี่ยงติดเชื้อจากภาระหน้าที่ และความ่ไม่สบายใจเรื่องอื่นๆ ทั้งครอบครัว- คนใกล้ชิด ย้ำจากนโยบายปลัดสธ. ขอให้ทุกรพ. หน่วยงานต่างๆ บริหารช่วงเวลา มีเวลาดูแลสภาพจิตใจ ผ่านช่องทางการสื่อสารเฉพาะบุคลากร มีช่องทางให้คำปรึกษานอกเหนือจากงาน พร้อมแนะนำวิธีผ่อนคลายจิตใจปชช.ทั่วไป
เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2564 พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวพยาบาลที่อ.สามพราน จ.เสียชีวิตจากการทำร้ายตัวเอง ซึ่งมีการระบุว่าเพราะเครียดจากการดูแลผู้ป่วยโควิดจำนวนมาก และมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ว่า การกระทำดังกล่าว ส่วนใหญ่มีหลายปัจจัยร่วมกัน มีหลายเรื่องที่รบกวนจิตใจหลายๆ เรื่องเพราะคนๆ หนึ่งกว่าจะตัดสินทำอะไรลงไป จะมีความท่วมท้นของความรู้สึกที่ผสมผสานกัน ตอนนี้ยังไม่ทราบรายละเอียด มีแค่รายงานจากข่าว แต่หน้าที่ของเราคือการดูแลคนที่อยู่โดยรอบทั้งหมดว่าจะผ่านเรื่องเหล่านี้อย่างไร ส่วนกรณีของน้องพยาบาลท่านนี้ก็ต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลกลับมาเพื่อเป็นการป้องกันสำหรับคนทำงานทางด้านสาธารณสุขให้มากขึ้นไปอีก เพิ่มจากที่เราพยายามทำกันแล้ว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ทั้งนี้ จากการติดตามบุคลากรสาธารณสุขในช่วงของการระบาดของโรคโควิด – 19 พบว่า มีความเครียดสูง มีความเหนื่อยล้าค่อนข้างสูงมากจาก 2 เรื่อง 1. รู้สึกเสี่ยงต่อการติดเชื้อเนื่องจากภาระหน้าที่ที่ต้องทำงานกับผู้ป่วย และการดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่ก็ยังเสี่ยงที่จะติดเชื้อเช่นกัน ซึ่งนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ให้นโยบาย เรื่องอุปกรณ์ป้องกันตัว มาตรการต่างๆ ต้องพร้อม รวมถึงวัคซีนบู๊สเตอร์โดส ก็ได้ให้ความสำคัญมาก 2. ความไม่สบายใจเรื่องอื่นๆ เพราะบุคลากรสาธารณสุขก็เหมือนคนอื่นที่มีความเป็นห่วงหลายเรื่อง ทั้งครอบครัว คนใกล้ชิด
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า การดูแลสภาพจิตใจตอนนี้นอกจากนโยบายที่ท่านปลัดสธ.ให้ไว้ ในหน่วยต่างๆ จะต้องมีช่วงหมุนเวียนเรื่องเวลาให้มีช่วงเวลางาน และช่วงเวลาที่เราจะได้ดูแลสภาพจิตใจ ให้กำลังใจกันและกัน ผ่านทางช่องทางการสื่อสารเฉพาะให้บุคลากร ได้มีการปรึกษาหารือ ถามสารทุกข์สุกดิบกัน คุยในเรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือจากงานที่ต้องดูแลผู้ป่วยจำนวนมากขณะนี้ ตอนนี้เรารับรู้เรื่องการทำงานหนักของทุกคน แต่ภาระงานมันยังเดินหน้าต่อไป จึงต้องดูแลกันและกัน หลายๆ เรื่องก็มีความผ่อนคลายลง
ขณะนี้สถานการณ์ถือว่าค่อนข้างหนัก ความร่วมมือหรือไม่ร่วมมือของทุกฝ่ายที่จะมีผลต่อการทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บุคลากรมีความเครียดเช่นกัน เพราะเป็นธรรมดาว่าเมื่อเห็นความร่วมมือของทุกคนในการที่จะทำให้การระบาดหยุดลงก็จะรู้สึกมีพลัง แต่บางขณะถ้าเห็นอะไรที่มารบกวนก็อาจจะลดทอนความรู้สึกลง อย่างไรก็ตาม เราพยายามทำให้ระบบการทำงานร่วมกันผ่อนคลาย และปลอดภัย อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องของมุมมอง ซึ่งบุคลากรสาธารณสุขจะทิ้งทุกอย่างไว้ข้างนอก แล้วมาดูแลผู้ป่วยทุกคน โดยไม่เลือกว่าใครเป็นใคร ในที่สุดเขาก็ทำหน้าที่ของเขา แต่บางครั้งนอกเวลาบุคคลากรก็เหมือนคนทั่วไปที่มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนความเห็น ความรู้สึกระหว่างกันได
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สำหรับประชาชนทั่วไป จากสถานการณ์โควิดขณะนี้ เราเข้าใจว่าปัจจัยข้างนอกรุมเร้ามาก ทำให้คนเราเครียด แม้ว่าจะตั้งใจว่าจะไม่เครียด หรือไม่เครียดมากก็ตาม แต่ความเปลี่ยนแปลงโดยรอบทำให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้เครียด ดังนั้นก็ขอให้ระวังใจของตัวเราเอง บางวันอาจะเครียดมาก บางวันรับมือได้ แต่ระมัดระวังความเครียดสะสม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภาวะอารมณ์ ส่งผลให้ความคิดเปลี่ยนไปจากเดิม การมีมุมมองด้วยความตึงเครียด จะทำให้มุมมองด้านลบแทรกเข้ามา ยิ่งทำให้มองเห็นแต่เรื่องลบๆ และยิ่งรู้สึกแย่ กลายเป็นความหมกมุ่น และอาจจะส่งผลต่อความคิดบางอย่าง ดังนั้นถ้ากำลังหมกมุ่นให้เปิดใจคุยกับคนใกล้ตัว หรือเข้าไปที่แอพฯ “สติ” ซึ่งมีคนฟังที่ถูกฝึกมาเพื่อคอยรับฟัวในสิ่งที่ท่านเล่า หรือระบายความคิดที่อาจจะไม่สามารถคุยกับคนใกล้ตัวได้
“ขอให้ประชาชนสังเกตภาวะอารมณ์ของตัวเอง หากมีความเครียดก็พยายามหาวิธีการผ่อนคล้ายตัวเอง เพื่อไม่ให้พลังงานด้านลบมีมากจนเกินไป ซึ่งเชื่อว่าแต่ละท่านมีวิธีการไม่เหมือนกัน ไม่มากก็น้อย อะไรที่จะสามารถดึงความรู้สึกด้านบวกกลับมาได้ก็ต้องหมั่นเติมให้กับตัวเอง และเติมให้กับคนรอบข้าง เล็กๆ น้อยๆ ที่เราให้กัน มันจะช่วยประคับประคองอารมณ์ ความรู้สึกให้กลับมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองต่อไปได้” พญ.พรรณพิมล กล่าว
- 36 views