ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเคลียร์ชัด! หลังเพจ “โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์” โพสต์ตัดพ้อจะไม่มีวัคซีนฉีดปชช. หลังวันที่ 23 ก.ค.เป็นต้นไป ข้อเท็จจริง สธ.จัดส่งวัคซีนตามกรอบให้ทางจังหวัดปทุมธานีแล้ว และขอให้เน้นฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เหตุเสี่ยงติดเชื้ออาการรุนแรงและเสียชีวิต ขณะที่ตัวเลขฉีดวัคซีนรพ.ต่างๆในจ.ปทุมธานีอยู่ที่ 250,827 โดส ส่วนรพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  ฉีด 85,447 โดสข้อมูล ณ วันที่ 14 ก.ค.2564

กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณี เฟซบุ๊ก “โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์” โพสต์เรื่องราวเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2564 ถึงการทำงานวันที่เก้าสิบเก้าของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โดยได้กล่าวถึงการรับจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นต่อเนื่อง และสูงที่สุดในประเทศที่ 11,397 ราย

โดยใจความระบุว่า การรบมากว่าร้อยวัน มีบุคลากรแนวหน้าล้มหายตายจาก และบาดเจ็บไปกักตัวมากกว่าสามร้อยคน มีความอ่อนล้า มีความเหน็ดเหนื่อย มีหยาดเหงื่อและน้ำตาของผู้คนมากมายที่มาช่วยกันรบ กับศัตรูที่มองไม่เห็น ทั้งที่มีหน้าที่และไม่มีหน้าที่ และที่ทำเกินกว่าหน้าที่มากมายมหาศาล เพราะเพื่อบางสิ่งบางอย่างที่พวกเรายึดมั่น เพราะอุดมการณ์ เพราะสำนึกและเพราะเพื่อปกป้องพี่น้องชาวไทย... ในสัปดาห์ที่อาจจะเป็นสัปดาห์สุดท้ายของพวกเราที่จะมาถึงนี้ เราอยากจะบอกเล่ากับผู้คนในรุ่นต่อไปให้ได้รู้ว่า พวกเราที่ธรรมศาสตร์ได้ทำอะไรลงไปบ้าง ในระหว่างวิกฤตร้ายแรงของสังคมไทย เพื่อจะบอกเล่าสิ่งที่พวกเราได้ทำมาด้วยกำลัง ด้วยแรงกาย ด้วยหัวใจและด้วยสองมือของคนธรรมศาสตร์ที่นี่เอง เพื่อเป็นประวัติศาสตร์อีกส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยนี้ในการช่วยประคับประคองสังคมไทย ดังที่มีมาในอุดมการณ์ตั้งแต่ตันของธรรมศาสตร์ เริ่มแต่เมื่อมีวิกฤตร้ายแรงของการระบาดของไวรัสโควิด พวกเราที่นี่ได้ร่วมกันลงมือลงแรงเพื่อช่วยดูแลรักษาสังคมและผู้คนชาวไทยในเรื่องใหญ่ๆอย่างน้อยสี่เรื่องด้วยกัน

ทั้งนี้ ประเด็นหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า หากเป็นจริงย่อมเห็นใจบุคลากรที่ปฏิบัติงาน เนื่องจากเพจ “โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์” ระบุว่า

ได้มีการจัดตั้งศูนย์รับวัคซีนธรรมศาสตร์ รังสิต ซึ่งเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนเพียงแห่งเดียวในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 และฉีดวัคซีนต่อเนื่องมา 41 วันแล้ว และมีศักยภาพในการฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่าวันละ 2,000 คน และปลายเดือนนี้เราจะเพิ่มศักยภาพการฉีดวัคซีนเป็นวันละ 3,000 คนโดยใช้ทรัพยากรและบุคลากรของ รพ.ธรรมศาสตร์และอาสาสมัครทั้งหมด ขณะนี้เราฉีดวัคซีน Astra Zeneca ให้กับผู้ที่รอโอกาสและความหวังในการได้รับภูมิคุ้มกันไปได้กว่า 73,000 คน และตั้งใจจะฉีดไปเรื่อย ๆ ทุกวันจนกว่าไม่มีวัคซีนจะให้ฉีดอีก เพราะพวกเราเชื่อว่า การมีวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้คนเป็นทางรอดเดียวของสังคมไทยจากสงครามโควิดนี้

น่าเศร้าใจที่เราคงจะฉีดต่อเนื่องไปได้อีกเพียง 4 วัน และวันที่ 23 กรกฎาคมก็จะเป็นวันสุดท้ายที่เราจะมีโอกาสช่วยเหลือผู้คนได้ เพราะไม่มีวัคซีนส่งมาให้เราฉีดอีกแล้ว อาสาสมัครและบุคลากรวันละ 150 คน ที่ทำงานติดต่อกันมาจนครบ 45 วันคงจะเศร้าใจที่ประเทศไม่มีวัคซีนให้กับประชาชนอีกแล้ว แต่ผู้คนที่ลงทะเบียนรอวัคซีนอยู่อีกกว่าห้าหมื่นคนไว้ที่เราที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยคงจะรู้สึกเหมือนกับฟ้าถล่มลงต่อหน้าต่อตา ที่โอกาสของพวกเขาที่จะได้รอดพ้นจากการคุกคามของโรคระบาดนี้ จะสูญสลายไปในทันที เมื่อได้รับทราบข่าวการปิดศูนย์รับวัคซีน เพราะไม่มีวัคซีนอีกแล้วจากพวกเรา

โดย สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊กของ โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ 

ล่าสุดวันที่ 19 ก.ค. 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.)  ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus  ถึงกรณีดังกล่าว ว่า ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ขอยืนยันตามเดิมว่า กรอบการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้มีการจัดสรรตามกรอบที่ทางจังหวัดส่งมา ซึ่งหลังจากทางสธ.ส่งไปยังทางจังหวัดแล้วนั้น ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจะจัดสรรรไปตามกรอบของแต่ละพื้นที่ แต่ละโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือต่างจังหวัดก็เหมือนกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าการจัดสรรวัคซีนให้ในระดับโรงพยาบาลไม่ใช่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่มีหน้าที่ในการจัดสรรให้รายรพ. แต่ให้ในกรอบใหญ่ เรียกง่ายๆคือ ส่วนกลางจัดสรรเป็นก้อนใหญ่ตามเป้าหมาย ตามนโยบาย และทางจังหวัดจะดำเนินการตามกรอบพื้นที่ของตนเอง

เมื่อถามว่า กรณีเพจโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ระบุว่าจะไม่มีวัคซีนให้ประชาชนอีกนั้น จะส่งผลต่อความเข้าใจผิดหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า จริงๆเท่าที่ทราบ ทางโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ได้รับวัคซีนสองส่วน คือ ส่วนแรกจากในกลุ่มที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) 11 แห่ง ที่มีการจัดสรรไว้ให้ ซึ่งได้มีการฉีดให้กับบุคลากร อาจารย์ นักศึกษา ส่วนอีกส่วนก็จะเป็นระดับพื้นที่ อย่างไรก็ตาม จากที่ผ่านมาตามนโยบายคือ จากนี้ต้องมุ่งเน้นฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็นอันดับแรก เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งก็ต้องไปดูว่า วัคซีนก่อนหน้านี้ที่ได้รับไปมีเท่าไหร่ ซึ่งจะเป็นในส่วนพื้นที่ที่มีการจัดสรรให้

รายงานข่าวให้ข้อมูลว่า จากฐานข้อมูลการฉีดวัคซีนในระดับพื้นที่ที่มีรายงานเข้ามาเมื่อวันที่ 14 ก.ค.2564 พบว่า มีการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลต่างๆของจ.ปทุมธานี รวม 250,827 โดส โดยเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 59,150 โดส บุคคลที่มีโรคประจำตัว 50,948 โดส ซึ่งหากแบ่งรายโรงพยาบาล ประกอบด้วย

1.โรงพยาบาลปทุมธานี ฉีดรวม 25,665 โดส   แบ่งเป็น  ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 10,288 โดส  บุคคลที่มีโรคร่วม 3,371 โดส

2.โรงพยาบาลคลองหลวง ฉีดรวม 8,265 โดส  แบ่งเป็น  ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 3,447 โดส    บุคคลที่มีโรคร่วม 1,009 โดส

3.โรงพยาบาลธัญบุรี ฉีดรวม 15,169 โดส       แบ่งเป็น  ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 4,624 โดส บุคคลที่มีโรคร่วม 1,836 โดส

4.โรงพยาบาลประชาธิปัตย์ ฉีดรวม 5,601 โดส  แบ่งเป็น ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 2,823 โดส บุคคลที่มีโรคร่วม 740 โดส

5.โรงพยาบาลหนองเสือ ฉีดรวม 4,264 โดส   แบ่งเป็น   ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 2,112 โดส บุคคลที่มีโรคร่วม 717 โดส

6.โรงพยาบาลลาดหลุมแก้ว ฉีดรวม 7,975    แบ่งเป็น ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 1,871 โดส บุคคลที่มีโรคร่วม 2,976 โดส

7.โรงพยาบาลลำลูกกา ฉีดรวม 11,669 โดส  แบ่งเป็น ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 3,034 โดส บุคคลที่มีโรคร่วม 1,291 โดส

8.โรงพยาบาลสามโคก ฉีดรวม 4,686 โดส  แบ่งเป็น  ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 1,351 โดส บุคคลที่มีโรคร่วม 1,798 โดส

9.โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ฉีดรวม 85,447 โดส  แบ่งเป็น ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 17,991 โดส บุคคลที่มีโรคร่วม 25,712 โดส

******************************************

อนึ่ง สำหรับรายละเอียดในเพจ รพ.สนามธรรมศาสตร์