"อนุทิน" นั่งหัวโต๊ะเรียกถก บอร์ด สปสช.ด่วน ไฟเขียวจัดซื้อชุดตรวจโควิด-19 "Antigen Test Kit" กว่า 8.5 ล้านชุด วงเงิน 1 พันล้านบาท เตรียมกระจายสู่หน่วยบริการ แจกให้ประชาชนทุกคน-ทุกสิทธิ ตรวจได้ด้วยตัวเอง

ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 8/2564 (วาระพิเศษ) เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบเพิ่มชุดตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วย Antigen Test Kit (ATK) ในวงเงินเบื้องต้น 1,014 ล้านบาท เพื่อจัดหาชุดตรวจให้หน่วยบริการนำไปแจกจ่ายกับประชาชนทุกคนทุกสิทธิต่อไป


ทั้งนี้ จะเป็นการดำเนินแผนการจัดหาภายใต้โครงการยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ปี 2564 ซึ่งจะจ่ายให้แก่เครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ (เครือข่าย รพ.ราชวิถี) ดำเนินการจัดหาเพื่อสนับสนุนชุดตรวจให้แก่หน่วยบริการในเครือข่ายและประชาชน โดยคาดว่าจะนำไปสู่การเปิดให้ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย ATK เอง ในช่วงระหว่างเดือน ส.ค. - ก.ย. 2564



นายอนุทิน กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่มีจำนวนมากในขณะนี้ จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว จึงได้จัดให้มีการประชุมบอร์ด สปสช. เป็นการเร่งด่วน เพื่อให้ขอความเห็นชอบในการจัดหาชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อเองได้ในเบื้องต้น โดยหลักการที่จะให้ความสำคัญกับประชากรทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือแรงงานต่างด้าว เพื่อให้หาเชื้อได้ครอบคลุมที่สุด และต้องทำด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำหรับการเตรียมงบประมาณจัดหาชุดตรวจ ATK ให้หน่วยบริการแจกจ่ายประชาชนทุกคนทุกสิทธิ จะเป็นการใช้จ่ายจากงบประมาณตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ โดยให้เครือข่าย รพ.ราชวิถี จัดหาชุดตรวจผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยในส่วนของวงเงินเบื้องต้น 1,014 ล้านบาท เป็นการประเมินจากจำนวนผู้ติดเชื้อ และปริมาณชุดตรวจที่คาดว่าจะใช้ราว 8.5 ล้านชิ้น ในช่วงตั้งแต่วันนี้ถึงเดือน ก.ย. 2564 ในต้นทุนชุดละ 120 บาท

นพ.จเด็จ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้ สปสช. ใช้เงินกองทุนจากรายการและประเภทบริการอื่น หรือรายการ "รายได้สูง (ต่ำ)กว่าค่าใช้จ่ายสะสม" ที่ไม่มีภาระผูกพันทดรองจ่ายค่าบริการโควิด-19 ไปก่อน ในระหว่างรองบประมาณที่จะได้รับเพิ่มเติมจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ รวมถึงให้ความเห็นชอบกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทาง การจ่ายชดเชยสำหรับบุคลากรที่จัดการศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในวงเงินเหมาจ่าย 2,500 บาทต่อศพ ซึ่งรวมอุปกรณ์ป้องกันตัวและถุงเก็บศพ

ขณะเดียวกัน บอร์ด สปสช. ยังได้เห็นชอบให้ "การเข้ารับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับหรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID- 19) ในสถานบริการอื่น ให้ถือเป็นกรณีที่มีเหตุสมควร" ตาม (ร่าง) ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง กำหนดกรณีที่มีเหตุสมควรและอัตราคำใช้จ่ายที่หน่วยบริการมีสิทธิได้รับ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2564 ซึ่งประชาชนจะสามารถเข้ารับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับโควิด-19 เช่น การฉีดวัคซีน บริการกักกันโรค หรืออื่นๆ ที่ไหรก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปหน่วยบริการประจำ