ศบค.เร่งเปิดวอล์กอิน จุดตรวจหาเชื้อให้ประชาชน ร่วมกับกระทรวงแรงงานเปิดจุดตรวจเชื้อศูนย์กีฬาเวสน์ หากพบเชื้อเข้าสู่การรักษา หากไม่พบพร้อมฉีดวัคซีน ส่วนการจำกัดพื้นที่ สธ.ไม่ใช่คำว่า ล็อกดาวน์ ขอรอการพิจารณาของ ศบค.ชุดใหญ่ 9 ก.ค.นี้
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงการเปิดจุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ว่า ขณะนี้มีประชาชนจำนวนมากกังวลว่าจะติดเชื้อโควิด จึงได้มาตรวจหาเชื้อตามรพ.ต่างๆ จำนวนมาก ล่าสุดในที่ประชุม ศบค. จะเร่งเปิดจุดตรวจหาเชื้อให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น และวันจันทร์ที่ 12 ก.ค. จะมีรถตรวจพระราชทานประจำ 2 จุดเปิดบริการ คือ ที่ธูปะเตมีย์ และหัวหมาก และใน 1- 2 วันนี้จะเปิดจุดตรวจกองทุนประกันสังคมตามมาตรา 33 โดยผอ.ศบค. หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดที่ศูนย์กีฬาเวสน์ ซึ่งน่าจะดำเนินการได้วันพรุ่งนี้(9 ก.ค.) จะค้นหาผู้ป่วยหากพบติดเชื้อจะเข้าสู่การรักษา แต่หากไม่พบ ไม่ต้องรักษา ก็จะฉีดวัคซีนให้มากขึ้น
นอกจากเปิดวอล์กอินการตรวจเชื้อ ให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้นแล้ว ทางกทม.และปริมณฑลก็ยังมีการตรวจเชิงรุก ที่เมื่อเจอผู้ป่วย 1 รายก็จะติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดด้วย รวมทั้งการตรวจจับหาเชื้อในชุมชน รวมแล้วจะมี 6 จุดตรวจประจำกลุ่มเขต ขณะที่แล็ปเอกชน ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะมีการทบทวนตรวจสอบมาตรฐานว่า หากเป็นแล็ปที่ผ่านมาตรฐานกรมวิทย์ก็จะให้มีการดำเนินการด้วย เมื่อระดมตรวจมากขึ้นก็จะเจอผู้ป่วยมากขึ้น
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ส่วนการบริหารจัดการเตียงนั้น ที่ประชุมมีการพิจารณาให้มีการเร่งรัดมาตรการแยกกักที่บ้าน หรือ Home Isolation โดยให้ทางสำนักงานอนามัย กทม. ร่วมกับคลินิกอบอุ่น รวมๆกว่า 270 จุดในการดำเนินการนี้ ซึ่งต้องเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวอ่อน ก็จะมีระบบการดูแล จ่ายยาตามความเหมาะสม โดยใน 1-2 วันนี้จะเข้าสู่ระบบนี้อย่างจริงจัง ขณะนี้มีบ้างแต่ยังน้อย นอกจากนี้ ยังมี Community Isolation เรียกว่า ศูนย์พักคอย หรือ รพ.สนามในชุมชน โดยดำเนินการแต่ละเขต มีรพ.พี่เลี้ยงมาสนับสนุน แต่จะต้องมีการทบทวนเรื่องมาตรฐานในการจัดตั้งรพ.สนาม ยิ่งมีการจัดสถานที่ใหญ่เกิน 100 เตียง
“ในเวลานี้ นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ และนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปรียบเหมือนเข้าสงคราม จะให้เรียบร้อยสมบูรณ์ทุกอย่างอาจทำไม่ได้ แต่ให้เป็นมาตรฐานยอมรับได้ และยึดความปลอดภัยโดยผู้ป่วยต้องเข้าสู่ศูนย์พักคอย อย่างที่ว่าดังกล่าว ให้เร็วที่สุด อย่างเดิมเป็นเตียงกล่องกระดาษ อาจต้องเป็นฟูกแทน และระยะนี้ ทางภาคสังคมก็มีความพยายามในการเข้ามาช่วยดำเนินงาน ต้องขอบคุณอย่างยิ่ง บางชุมชนให้ความร่วมมือ มีการจัดแบบขนาดเล็ก เป็นศูนย์พักคอยในชุมชน 10 เตียง หลักการเมื่อตรวจเยอะ เจอผู้ป่วยเยอะ ไม่อยากให้ผู้ป่วยรอที่บ้าน ต้องเข้ารับการดูแล ดังนั้น จึงต้องมีศูนย์พักคอย และรอการเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็ว” พญ.อภิสมัย กล่าว
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวอีกว่า สำหรับการฉีดวัคซีนนั้น จะเน้นไปที่แคมป์คนงานด้วย แต่ตอนนี้ปิดอยู่ และหากมีมาตรการจนลดผู้ติดเชื้อได้ อาจมีมาตรการผ่อนคลาย แต่ต้องฉีดวัคซีนให้แรงงานก่อน โดยศบค.จะขอประสานวัคซีนเพิ่มเติมให้กับพื้นที่กทม.และปริมณฑล ซึ่งในการประชุมอีโอซีเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ปลัดสธ. รับปากว่า วัคซีนที่เข้ามาจะจัดสรรให้กทม. ปริมณฑลในการระดมฉีดโดยเร็ว และจะเพิ่มศักยภาพฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น เช่น วัคซีนมาวันละ 1 หมื่น ฉีด 5 วันได้ 5 หมื่น แต่หากมา 5 หมื่นฉีด 1-2 วันครบ ก็จะเพิ่มศักยภาพได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการ Home Isolation และ Community Isolation ซึ่งเป็นการแยกกักที่บ้านและชุมชน จะใช้ผู้ป่วยกลุ่มอาการขาว และเขียวอ่อนๆ แต่หากเขียวเข้มอาจต้องไปรพ.สนาม ที่หนองจอง แจ้งวัฒนะ เป็นต้น ซึ่งมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยเขียวแก่ๆ และเหลือง
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายนั้น ขณะนี้มีการเดินทางจนมีพบการติดเชื้อไปทุกจังหวัดทั่วประเทศแล้ว ซึ่งตอนนี้กังวลกลุ่มเดินทางไปต่างจังหวัด โดยภาคเหนือติดเชื้อ 12 จังหวัด ภาคกลาง และตะวันออก 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด รวมทั้งกระจายภาคใต้ 5 จังหวัด ตอนนี้ต้องเน้นย้ำกลุ่มเดินทางกลับบ้านส่วนหนึ่งข้ามไปยังจังหวัดพื้นที่สีเหลือง ซึ่งสามารถไปร้านอาหาร ไปสังสรรค์พบปะเพื่อนฝูง อาจดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อยากให้เห็นพื้นที่อีสานวันก่อนพบติดเชื้อ 100 กว่าราย แต่วันนี้พบ 841 ราย พี่น้องประชาชนอาจตอบคำถามได้ด้วยตัวเองว่า ตัวเลขเหล่านี้หากเดินทางกลับ 10-20 คนหากคุมให้คนเหล่านี้แยกกักในพื้นที่เหมาะสมก็จะไม่เห็นตัวเลขกระจายแบบนี้
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ที่ประชุมพูดคุยมาตรการสังคม ซึ่ง สธ.นำเสนอปรับมาตรการต่างๆ ทั้งสาธารณสุขและสังคม เสนอ ศบค.ชุดเล็กเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา หลักๆ จะจำกัดการเดินทางออกนอกพื้นที่ โดยห้ามเคลื่อนย้ายระหว่างจังหวัด ในที่ประชุมได้หารือในส่วนกระทรวงมหาดไทย กลาโหม สปม. จะจัดตั้งจุดตรวจลดการเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่ และปรับมาตรการ WFH รัฐและเอกชนสูงสุด และขอให้อยู่บ้านมากขึ้น ลดความเสี่ยงติดเชื้อ สถานที่ที่มีการพูดถึงมีห้างสรรพสินค้า รวมกิจการประเภทเดียวกัน ร้านสะดวกซื้อ ตลาด ข้ามต้มรอบดึก จะมีการหารือการกำหนดเวลาปิดกิจการ รวมถึงขนส่งสาธารณะ เมื่อลดการเคลื่อนย้ายบุคคล ก็ต้องปรับเวลาขนส่งสาธารณะให้สอดคล้องกับมาตรการที่ สธ.เสนอ
“ที่ประชุมเป็นห่วงว่า การลดเวลาต่างๆ การปรับมาตรการก็ต้องคำนึงถึงความจำเป็น อย่างสาธารณูปโภค อาหาร ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต อาจต้องเปิด หรือแม้กระทั่งร้านขายเครื่องมืออุปกรณ์ช่าง นี่เป็นมาตรการที่ สธ.นำเสนอศบค.ชุดเล็กในวันนี้ และต้องเสนอศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 9 กรกฎาคม เวลา 10.00 น. โดยต้องรอการประชุมก่อน” ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าว
เมื่อถามว่าข้อเสนอนี้เรียกว่า ล็อกดาวน์ 14 วันหรือไม่ พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ไม่มีคำว่า ล็อกดาวน์ แต่เป็นข้อเสนอปรับมาตรการ มีรายละเอียดกิจกรรม กิจการใด ระยะเวลาอย่างไร แต่ยังไม่ได้สรุปเป็นข้อสรุป ต้องนำเสนอที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่พิจารณาและอนุมัติวันพรุ่งนี้(9 ก.ค.) ก่อน
ข่าวเกี่ยวข้อง : รอศบค.ชี้ขาด! หลัง สธ.เสนอจำกัดการเดินทาง -อนุมัติ รพ. ตรวจเชื้อโควิดแบบ “แรบิด แอนติเจน เทส”
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 5 views