อธิบดีกรมการแพทย์ เผยเตียงผู้ป่วยโควิดวิกฤต บุคลากรหน้างานตึงทุกส่วน ไม่ได้กลับบ้านร่วม 2 เดือน ยังไม่เรียกระบบสาธารณสุขล่ม! เพราะหลาย รพ. เริ่มปรับระบบดูแลรักษา หันมาใช้ Home isolation และ Community Isolation พร้อมชี้กู้วิกฤตต้องอาศัย 5 มาตรการควบคู่ ทั้งนโยบายรัฐต้องชัดเจน ประชาชนให้ความร่วมมือ ระบบควบคุมโรคต้องเข้มแข็ง และฉีดวัคซีนต้องครอบคลุม
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 3 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงเตียงรองรับผู้ป่วย ว่า ในภาพรวมทั้งประเทศยังมี แต่ในภาพของกรุงเทพและปริมณฑล มีการขยายเพิ่มประมาณ 200 เตียง อย่างล่าสุดหลายรพ. ขยายไอซียูเพิ่มอีกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม จากการทำงานของคอลเซ็นเตอร์ พบว่า ยังมีคนค้างรอเตียงเป็นหลักพันคน จึงมีการคิดมาตรการการดูแลที่บ้านในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ที่เรียกว่า Home isolation ซึ่งจะมีแนวทาง มีการติดตาม ทั้งวัดไข้ วัดออกซิเจนในกระแสเลือด คอยติดตามอาการ หากเปลี่ยนแปลงต้องรรีบนำส่งสถานพยาบาล แต่ต้องย้ำว่า วิธีนี้ใช้ได้สำหรับคนบางกลุ่ม ไม่ใช่ทุกบ้าน เพราะต้องเป็นบ้านที่อยู่คนเดียว มีห้องเฉพาะ เป็นต้น
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ความเป็นจริงไม่ได้อยากให้มีการดูแลที่บ้าน แต่เมื่อเกิดวิกฤตเช่นนี้จึงจำเป็น แต่ต้องเป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ที่ไม่มีอาการ ซึ่งต้องแยกตัวเองได้จริงๆ มีห้องตัวเองที่บ้าน ที่ผ่านมาในเรื่อง Home isolation ได้มีการทดลองที่รพ.ราชวิถี มีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้วประมาณ 2 เดือน ซึ่งผู้ป่วยให้ความร่วมมือดี ล่าสุดยังได้ร่วมกับทางภาคประชาสังคม เรียกว่า Community Isolation ได้ประสานกับเอ็นจีโอ และกรุงเทพมหานครในการช่วยเหลือกัน เพราะต้องมีสำนักงานเขตเข้าไปประสานกับภาคประชาสังคม ชุมชน รพ.ช่วยกันดูแลผู้ป่วย ซึ่งเมื่ออาการเริ่มหนักขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนดก็จะส่งเข้าสู่สถานพยาบาลเช่นกัน
(ข่าวเกี่ยวข้อง : 6 โรงพยาบาลในกทม.นำร่อง "Home isolation" รองรับผู้ป่วยโควิดรอเตียง)
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า ที่น่ากังวล ยังมีกรณีคนไข้มาห้องฉุกเฉินที่รพ.ราชวิถี ไม่ได้มาด้วยอาการโควิด แต่เมื่อเช็กตรวจเชื้อกลับพบว่าเป็นบวก เราจึงต้องเตรียมพร้อม และจะขยายห้องฉุกเฉินมาที่แผนกอีอาร์ด้วย อีกทั้ง ยังมีปัญหา รพ.ส่งหญิงตั้งครรภ์มา รพ.ราชวิถี เพราะรพ.นั้นๆ เมื่อพบว่าหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ ก็จะส่งต่อ ตรงนี้จะเป็นปัญหา จึงขอให้รพ.อื่นๆช่วยรับรักษาด้วย
เมื่อถามว่า ณ ตอนนี้ระบบสาธารณสุขล่มสลายแล้วหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้ากรณีเตียงไม่พอ ยังไม่ถึงกับระบบสาธารณสุขล่มสลาย เพราะยังมีระบบรักษาพยาบาล เราปรับระบบจากการดูแลในรพ.มาเป็น Home isolation และ Community Isolation ดังนั้น หาก 5 มาตรการไปด้วยกันดี คือ นโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาล ประชาชนให้ความร่วมมือกับนโยบาย ระบบควบคุมโรคต้องเข็มแข็ง และการฉีดวัคซีนต้องครอบคลุม หากไปด้วยกันดี ไม่มีทางที่ระบบสาธารณสุขจะล้มเหลว ตอนนี้บุคลากรหน้างานตึงจริงๆ หลายท่านไม่ว่าจะเป็นรพ.เลิดสิน รพ.นพรัตนฯ รพ.ราชวิถี และที่อื่นๆอีกไม่ได้กลับบ้านมา 2 เดือนแล้ว
“ทุกมาตรการต้องกลับไปทบทวนตัวเองว่า เข้มข้นพอหรือไม่ ทั้งรัฐบาล ประชาชนดูแลตัวเองดีพอหรือไม่ เพราะเข้าไปในชุมชน ครอบครัว อาจต้องใส่แมสที่บ้าน รวมไปถึงรพ.ต่างๆ การรักษาพยาบาล ตรงนี้ค่อนข้างหนักใจ เพราะหมอพยาบาล บุคลากรล้ามาก ดังนั้น จึงต้องทบทวนกันหมด สิ่งสำคัญต้องป้องกันกลุ่มอาการหนักและเสี่ยงเสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เราต้องมาช่วยป้องกันกลุ่มนี้ และขอให้ทุกภาคส่วนหันหน้าเข้าหากัน เห็นต่างได้ แต่มาคุยมาช่วยกัน อย่ามาโทษกัน ถ้าโทษกัน ประเทศจะเดินหน้าไม่ได้ สิ่งสำคัญทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
อนึ่ง Home isolation จะเป็นการกักตัวที่บ้านคนเดียว เป็นกลุ่มสีเขียวระหว่งรอแอดมิท รพ. แพทย์พิจารณาว่ารักษาที่บ้านได้ รวมไปถึงกรณีรักษาที่รพ. สถานที่รัฐจัดให้ ไม่น้อยกว่า 10 วัน และกลับบ้นเพื่อรักษาต่อเนื่องที่บ้านโดยวิธี Home isolation
ส่วน Community Isolation เป็นผุ้ป่วยยืนยันโควิดอยู่ในชุมชน ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ไม่ต้องการออกซิเจนในการรักษา รับทุกกลุ่มอายุ เป็นการทำงานร่วมกับชุมชน
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 42 views