หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รามาฯ เผยข้อมูลไทยยังพบโควิดสายพันธุ์อัลฟามากสุด รองลงมาเป็นเดลตา ส่วนสายพันธุ์อินเดียจะมาแทนอังกฤษเมื่อไหร่ ต้องรอประเมินอีกครึ่งเดือน ขณะที่เสนอภาครัฐให้ปชช.มีส่วนร่วมกลุ่มไม่แสดงอาการใดๆ ให้ตรวจเชื้อด้วยตัวเอง และแยกกักตัวที่บ้าน มีระบบติดตามรายงานตัว เหมือนกรณีอังกฤษ
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2564 ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวถึงการติดตามโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ว่า ขณะนี้มีการติดตามอยู่ ซึ่งทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ สุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจเชื้อทุกสัปดาห์ ขณะที่หน่วยงานอื่นๆก็มีการดำเนินการ โดยเมื่อได้ข้อมูลจะส่งไปยังฐานข้อมูลกลางโควิดโลกที่ชื่อว่า "GISAID" เป็นแหล่งเก็บข้อมูลรหัสพันธุกรรมของไวรัส ซึ่งประเทศไทยได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมและส่งหรือซับมิทข้อมูลเข้า "GISAID” เริ่มตั้งแต่ธ.ค.2562 จนถึงปัจจุบันมิ.ย. 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,521 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ ล่าสุดวันที่ 21 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา พบว่าขณะนี้ประเทศไทยมีสายพันธุ์อัลฟา(อังกฤษ) 69% สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) 24% สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) 4% และสายพันธุ์อื่นๆ เช่น สายพันธุ์ท้องถิ่น B.1.36.16 ประมาณ 3%
“ขณะนี้สายพันธุ์ที่พบมากที่สุดยังเป็นอัลฟา แต่ต้องมีการติดตามประมาณครึ่งเดือน หรือ 1 เดือนจากนี้ก็จะทำให้ประเมินได้ว่า สายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย จะมาแทนที่สายพันธุ์อัลฟา หรืออังกฤษ อย่างไร” ศ.ดร.วสันต์ กล่าว
ศ.ดร.วสันต์ กล่าวว่า ขณะนี้มีประชาชนส่วนหนึ่งกังวล และไปตรวจเชื้อตามโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งจริงๆ อยากเสนอขอให้รัฐบาลดึงประชาชนมีส่วนร่วมด้วยการตรวจเชื้อด้วยตัวเอง แต่ต้องแบ่งกลุ่มอาการให้ชัดเจน โดยหากเป็นกลุ่มไม่มีอาการ หรือคนทั่วไป ควรแจกชุดตรวจหาเชื้อให้พวกเขา ซึ่งในต่างประเทศมีการดำเนินการ อย่างประเทศอังกฤษ เมื่อตรวจเชื้อแล้วและพบว่าผลเป็นบวก ติดเชื้อโควิด19 ขอให้คนกลุ่มนี้กักตัวเองที่บ้าน แต่ต้องกักตัวอย่างเหมาะสมไม่คลุกคลีกับใคร แยกพื้นที่ให้ชัดกับครอบครัว ขณะเดียวกันควรมีแอปพลิเคชันแจ้งข้อมูลของคนกลุ่มนี้ หากมีอาการต้องรีบส่งรพ. ทันที
“ชุดตรวจพวกนี้ เป็นชุดตรวจแอนติเจนโควิด-19 ผลความแม่นยำไม่เท่า RT-PCR แต่หากกรณีที่เชื้อระบาดวงกว้าง หรือกระจายในชุมชนก็ควรพิจารณานำวิธีนี้มาใช้ โดยอาจต้องแจกชุดตรวจให้ดำเนินการตรวจบ่อยขึ้น จากนั้นก็ให้รายงานผ่านแอปพลิเคชัน หรือยืนยันเชื้ออีกครั้ง ตรงนี้จะเป็นอีกทางออกช่วยภาครัฐอีกทาง” ศ.ดร.วสันต์ กล่าว
- 22 views