ผู้อำนวยการองค์การเภสัชฯ เผยผลทดลองฉีดวัคซีนโควิด “HXP-GPOVac” อาสาสมัครระยะที่ 1 เบื้องต้นพบภูมิคุ้มกันตอบสนองได้ดี เตรียมรายงานผลการทดสอบอย่างเป็นทางการเดือน ก.ค.นี้ ก่อนทดลองระยะที่ 2 และ 3 ต่อไป
เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการศึกษาวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเชื้อตายในมนุษย์ระยะที่ 1 ว่า การพัฒนาวัคซีน HXP-GPOVac เป็นความร่วมมือระหว่างคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเริ่มทดลองในอาสาสมัครระยะที่ 1 เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นได้ส่งตัวอย่างไปตรวจในแล็บที่ได้มาตรฐานจากหลายสถาบันต่างๆ อาทิ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และแล็บต่างประเทศ ผลที่ออกมาเบื้องต้นพบว่าค่อนข้างดี มีภูมิคุ้มกันตอบสนองได้ดี เป็นที่น่าประทับใจมาก ทั้งนี้จะมีการรายงานผลการทดสอบอย่างเป็นทางการในเดือน ก.ค.นี้ และจะเลือกวัคซีน 2 สูตรที่ให้ผลดีที่สุด จากที่มีการทดลองไป 5 สูตร เพื่อมาทำการทดลองในอาสาสมัคร 250 คน ในระยะที่ 2 ราวๆ เดือน ส.ค. และเลือก 1 สูตรที่ดีที่สุดเพื่อทดลองในระยะที่ 3 ต่อไป
นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ทั้งนี้ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโควิด 19 ทุกชนิดก็ตั้งต้นพัฒนามาจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์อู่ฮั่น ซึ่งวัคซีน HXP-GPOVac ก็เป็นการทดลองกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น แต่ใช้เทคโนโลยีล็อคโปรตีนไวรัส 6 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับวัคซีนตัวอื่นที่มีการล็อคโปรตีนไวรัส 2 ตำแหน่ง ซึ่งการล็อคตำแหน่งโปรตีนหลายจุดนั้นจะทำให้ร่างกายจดจำเชื้อได้หลากหลายกว่า สร้างภูมิคุ้มกันได้กว้างกว่า และผลการทดสอบของเราที่ออกมาก็พบว่าภูมิคุ้นกันขึ้นขึ้นดีมาก และเมื่อนำมาทดสอบกับสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ก็ให้ผลลัพธ์ค่อนข้างดี ภูมิคุ้มกันไม่ได้ลดลงมากนัก ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบกับสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) และสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) และส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อดูว่าวัคซีนตอบสนองกับสายพันธุ์ใดบ้าง สำหรับเทคโนโลยีนี้ ในรุ่นต่อไปจะมีการเปลี่ยนหัวเชื้อ เปลี่ยนเชื้อต้นแบบ ซึ่งอาจจะมีการนำเชื้อหลายสายพันธุ์มารวมกัน เอาสไปรท์โปรตีนของแต่ละสายพันธุ์รวมกัน เพื่อดูประสิทธิภาพของวัคซีน
เมื่อถามถึงด้านความปลอดภัยในกลุ่มอาสาสมัครระยะที่ 1 ที่ผ่านมา นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า วัคซีนมีความปลอดภัยและกลุ่มอาสาสมัครเองก็ปลอดภัย อยู่ในเกณฑ์ดีหมดทุกคน อาจมีบางรายที่ตั้งครรภ์และออกจากการศึกษาไป และยังไม่มีผู้ที่แพ้วัคซีนรุนแรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับองค์การเภสัชกรรมในการศึกษาวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย HXP-GPOVac ได้มีการแถลงข่าวการเริ่มทดลองฉีดวัคซีนในคนระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 โดยมี ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการทดสอบวัคซีน และหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยดังกล่าวพร้อมให้รายละเอียดในการทดลองวัคซีนในคนระยะที่ 1 ว่าเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี ไม่มีประวัติติดเชื้อโควิดมาก่อน ไม่มีการตั้งครรภ์ จำนวน 210 คน อายุ 18-59 ปี
- 48 views