เลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน เผยผลหารือ รมช.สธ. เป็นไปด้วยดี ล่าสุดรับเรื่องกำหนดตำแหน่งวิชาชีพสาธารณสุข พร้อมเข้าสู่ที่ประชุม อ.ก.พ. สธ.ในเดือน ก.ค.นี้
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 นายอเนก ทิมทับ เลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเข้าพบ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามการช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุขในประเด็นต่างๆ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ว่า ประเด็นในการหารือเป็นการติดตามเรื่องต่างๆ โดยมีทั้งผู้แทนกลุ่มผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) กลุ่มข้าราชการเจ้าพนักงานสาธารณสุข กลุ่มลูกจ้าง เพื่อหารือถึงประเด็นต่างๆ รวม 6 เรื่อง ดังนี้
1.การกำหนดตำแหน่งใหม่ นักสาธารณสุข ประเภทวิชาชีพเฉพาะ และค่าตอบแทนวิชาชีพ
2.กลุ่มเจ้าพนักงาน หรือ จพ.(แท่งทั่วไป) 11 สายงาน ขอปรับสู่แท่งวิชาการ
3.กลุ่มบรรจุวุฒิไม่ตรงตำแหน่ง
4.กลุ่มลูกจ้างรายวันรายคาบและ พกส.บรรจุหลัง 15 มีนาคม 63
5.กลุ่ม ผอ.รพ.สต. ติดตามความก้าวหน้า กรอบกำลังคน เงินเพิ่มพิเศษโควิด และ ขั้นพิเศษ1%
6.กลุ่มแพทย์แผนไทย เจ้าพนักงานเวชสถิติ ฯลฯ ขอบรรจุ
“ จากการประชุมเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ท่านสาธิต และท่านสุระ รับเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยกรณีการขอกำหนดตำแหน่งใหม่ของนักสาธารณสุข ประเภทวิชาชีพนั้น จะมีการนำเข้าที่ประชุม อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มที่ดี เพราะเรื่องนี้เรารอมาจะครบ 10 ปีแล้ว ตั้งแต่มีกฎหมาย ที่เรียกว่า พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ.2556 แต่ไม่มีการกำหนดตำแหน่งให้” นายอเนก กล่าว
นายอเนก กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ต้องมีการกำนดวิชาชีพสาธารณสุข เนื่องจากที่ผ่านมาจนกระทั่งทุกวันนี้ นักสาธารณสุข และเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน ซึ่งจบปริญญาตรี และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขตามกฎหมายที่ออกมารองรับ ยังไม่มีการกำหนดตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ทั้งที่มีกฎหมายรองรับ ดังนั้น หากมีการกำหนดชื่อวิชาชีพสาธารณสุข จะช่วยในเรื่องการควบคุมมาตรฐานการทำงานของวิชาชีพ ทำให้ทำงานเป็นมืออาชีพได้รับการยอมรับมากขึ้น มีเรื่องจรรยาบรรณเข้ามาเกี่ยวข้อง ช่วยในเรื่องศักดิ์ศรี ความก้าวหน้าในสายงาน เป็นต้น
“ท่านสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. ได้สั่งการในที่ประชุมให้ดำเนินการ โดยให้ทางกลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคลของ สธ. รวบรวมเรื่องนำเข้า คณะกรรมการ อกพ.สธ พิจารณาในเดือน ก.ค.นี้ ไม่เพียงแต่เรื่องกำหนดวิชาชีพ แต่ยังรวมถึงประเด็นอื่นๆที่มีการพูดคุยด้วย และมอบให้กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล และ สภาการสาธารณสุขชุมชน ช่วยกันสรุปรวบรวมประเด็น และตั้งคณะทำงานหาแนวทางดำเนินการร่วมกันต่อไป” เลขาฯ กล่าว
นายอเนก กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ท่านสุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดสธ. ระบุถึงกรณีกลุ่ม จพ. (แท่งทั่วไป) 11 สายงาน ที่จะขอปรับสู่แท่งวิชาการนั้น ขอให้เอาข้อสังเกตเหตุผล ความจำเป็นที่จะขอปรับทำตามแบบฟอร์ม ของ กพ. แล้วส่งมาให้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาและดำเนินการต่อไป ส่วนเรื่องอื่นๆ อย่างเจ้าพนักงานเวชสถิติที่ติดตามเรื่องการบรรจุข้าราชการรุ่นโควิดนั้น ที่ไม่ได้อยู่ใน 24 สายงาน แต่ทางกระทรวงฯ รับเรื่องและพร้อมช่วยเหลือเช่นกัน ซึ่งทางสภาการสาธารณสุขจะมีการรวบรวมประเด็นทั้งหมดเสนอกระทรวงฯ ก่อนนำเข้า อ.ก.พ.สธ.
(ติดตามข่าวการช่วยเหลือกรณีการบรรจุเจ้าพนักงานเวชสถิติ : “สาธิต” เร่งช่วยเหลือเจ้าพนักงานเวชสถิติ หลังไร้รับบรรจุข้าราชการรุ่นโควิด19)
วันเดียวกัน นายกฤษชนะ สร้อยสัตย์ เจ้าพนักงานเวชสถิติ และประธานชมรมเจ้าพนักงานเวชสถิติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางชมรมฯ กังวลว่า จากการหารือร่วมกันกับท่านสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. และท่านสุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดสธ. และตัวแทนของทางชมรมเจ้าพนักงานเวชสถิติ กับทางสภาการสาธารณสุขชุมชนนั้น กังวัลว่า อาจมีประเด็นเจ้าพนักงานเวชสถิติตกหล่น อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางชมรมฯไม่สามารถทราบได้เลยว่า ข้อมูลที่ยื่นเรื่องให้ท่าน รัฐมนตรีช่วย สธ. และจะมีการนำเข้าที่ประชุม อ.ก.พ.สธ ในเดือน ก.ค. นี้ จะมีวาระเกี่ยวกับเจ้าพนักงานเวชสถิติหรือไม่ ประเด็นหลักที่ได้เข้าพบรัฐมนตรีช่วยฯ ในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 นั้น คือเรื่องการไม่ได้รับความเป็นธรรมในการบรรจุเข้ารับราชการในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด19 จะเป็นคนละประเด็นกับการปรับ จพ. 11 สายงานเข้าสู่แท่งวิชาการ ในการนี้จึงขอเรียกร้องไปยังกระทรวงสาธารณสุข ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอท่านให้ความกรุณาตรวจสอบและแก้ไขเพิ่มเติมให้ เจ้าพนักงานเวชสถิติได้คลายกังวลและเชื่อมั่นได้ว่า ในการประชุม อกพ.สธ ในเดือน ก.ค. นี้ จะมีประเด็นเจ้าพนักงานเวชสถิติเช่นกัน
- 42 views