“หมอประสิทธิ์” ห่วงเปิดภูเก็ต คุมไม่ดีเสี่ยงนำเข้าโควิดตัวใหม่ แม้ฉีดวัคซีนป้องกันแล้ว แต่หากมีสายพันธุ์แปลกใหม่อาจ ครอบคลุมไม่ได้ พร้อมเผยสถานการณ์ฉีดวัคซีนในอัตราสูงแต่ปัจจัยเรื่องสายพันธุ์มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วย สิ่งสำคัญฉีดวัคซีนแล้วยังต้องเข้มมาตรการป้องกันเช่นเดิม
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถานกาณ์โรควิด 19 ว่า โดยรวมทั่วโลกสถานการณ์ดีขึ้น ปัจจัยมาจากการฉีดวัคซีนมากและเร็ว ขณะนี้มีหลายประเทศที่ประชากรได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม มากกว่า 50% ของประชากร ได้แก่ อเมริกา อังกฤษ อิสราเอล และอีกหลายประเทศที่มียอดฉีดเพิ่มขึ้น จนเห็นข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าเมื่อได้รับวัคซีนที่มากพอจะช่วยลดอัตราป่วยรุนแรง ลดเสียชีวิต และลดจำนวนการติดเชื้อใหม่ได้จริง
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ข้อมูลองค์การอนามัยโลกแสดงให้เห็นว่าจะเริ่มเห็นผลของวัคซีนเมื่อประชากรในประเทศนั้นได้รับวัคซีนอย่างน้อย 25% ซึ่งภาพรวมทั่วโลกฉีดแล้วมากกว่า 25% แต่วัคซีนยังกระจุกอยู่ในประเทศรายได้สูง ส่วนประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อย ยังมีอัตราได้รับวัคซีนค่อนข้างต่ำ ขณะที่ไทย ตั้งแต่ 28 ก.พ.ที่เริ่มฉีดจนถึงปัจจุบันฉีดไปแล้วกว่า 6 ล้านโดส แต่มีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม 6% มีผู้ได้รับวัควีนครบโดสยังอยู่ที่ 2.2% ทำให้ยังไม่เห็นผลของวัคซีน ในการลดอัตราป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ แม้จะมีการฉีดวัคซีนในอัตราสูงแต่ปัจจัยเรื่องสายพันธุ์ก็มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราป่วยได้ ปัจจุบันมี 4 สายพันธุ์ที่ต้องระวังมาก คือ สายพันธุ์แอลฟ่า (อังกฤษ) ที่กลายพันธุ์ตรงตำแหน่ง N501Y ทำให้แพร่เร็ว กระจายไปแล้วกว่า 50% ทั่วโลก และในอังกฤษเองกำลังจะกลายพันธุ์อีกจุดหนึ่ง สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) กลายพันธุ์ตำแหน่งเดียวกับแอลฟ่า จึงแพร่ไปแล้วกว่า 20 ประเทศทั่วโลก และยังกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง E484K หลุดภูมิคุ้มกันปกติ จนต้องระวังเรื่องผลของวัคซีน สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) กลายพันธุ์ที่จุด L452R ทำให้แพร่เร็วยิ่งกว่าแอลฟ่าและเบต้า และสายพันธุ์แกรมม่า (บราซิล) กลายพันธุ์ตำแหน่งเหมือนกับสายพันธุ์เบต้า ซึ่งอังกฤษแม้จะฉีดอย่างน้อย 1 เข็มสูงถึง 60% และสถานการณ์ดีขึ้น แต่เมื่อพบทุกสายพันธุ์เข้าไปในอังกฤษกลับพบอัตราติดเชื้อเพิ่มขึ้นจนนายกรัฐมนตรีของอังกฤษต้องออกมาประกาศเลื่อนการผ่อนคลายมาตรการออกไปก่อน
“เป็นจุดที่เห็นว่าการเปิดประเทศเร็วหากคุมไม่ดีอาจมีสายพันธุ์อื่นหลุดเข้ามา ดังนั้น มาตรการป้องกันส่วนบุคคลยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งที่ไม่อาจลดระดับได้ ส่วนวัคซีนยังคงเป็นทางรอดที่ประชาชนต้องรับให้มากและเร็วที่สุด ทั้งนี้ องค์การอนามัยรายงานว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครอบคลุมสายพันธุ์กลายพันธุ์แรงสุดขณะนี้คือเดลต้า (อินเดีย) ที่ทั้งแพร่เร็วและหลบภูมิคุ้มกัน คลุมได้ถึง 60% ขณะที่ซิโนแวค คลุมได้ถึง 50% ดังนั้น วัคซีนยังมีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในขณะนี้ ว่า สิ่งที่ตนห่วงมาก คือ กระบวนผ่อนคลายยังไม่น่ากลัวเท่าถ้าเรายังไม่สามารถป้องกันไม่ให้คนที่เดินทางเข้าประเทศผ่านทางเส้นทางธรรมชาติเข้ามา ซึ่งแต่ละคนที่เข้ามาบ่อยครั้งอาจเจอสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ ซึ่งน่าห่วงมาก ส่วนกระบวนการที่ผ่อนคลายเราก็ต้องเฝ้าจับตา และพร้อมให้ข้อเสนอแนะหากเห็นว่าเร็วหรือมากเกินไป ส่วนตัวยังย้ำสุขภาพต้องมาก่อนเศรษฐกิจ
เมื่อถามถึงการเปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์ที่ตามแผนจะเปิดวันที่ 1 ก.ค.นี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นว่ายังเร็วไป แต่คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจก็คงพิจารณาในส่วนตรงนั้น ตอนนี้มีการเตรียมการเพื่อเปิดภูเก็ตเพื่อดึงเศรษฐกิจกลับมา โดยมีการนำวัคซีนเข้าไปฉีดให้เยอะเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันและเปิดให้ต่างประเทศเข้ามา เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ที่ห่วงไม่ได้เฉพาะคนที่ฉีดวัคซีน แต่ความพร้อมของจังหวัดในการรองรับระบบต่างๆ โดยเฉพาะหากมีคนนอกพื้นที่เข้ามาและมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามา ขอย้ำว่าวัคซีนไม่ได้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ทั้งหมด แม้ว่าส่วนใหญ่ยังครอบคลุม แต่หากสายพันธุ์แปลกใหม่เข้ามาแล้วคลุมไม่ได้ กลไกการจำกัดพื้นที่หรือการควบคุมไม่ได้คู่ขนาน ทุกคนมองแค่ฉีดวัคซีนครบก็ปล่อย เป็นสิ่งที่น่ากลัว หากเกิดการระบาดใหม่ในภูเก็ตอีก จะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจในภูเก็ตอีก
นอกจากนี้ โดยปกติการเดินทางเข้ามาประเทศไทยต้องมีการควอรันทีน 14 วัน แต่หากมองว่าต้องการให้เป็นพื้นที่กระตุ้นเศรษฐกิจ เกรงจะมีการปรับให้ไม่ต้องถึง 14 วันให้สั้นกว่านั้น หากเป็นเช่นนั้นถ้าเป็นบางสายพันธุ์ที่ 14 วันก็อาจไม่พอ อย่างจีนก็กำหนด 21 วันด้วยซ้ำ คงเป็นสิ่งหนึ่งที่ถ้าไม่ลองไม่รู้ แต่ถ้าลองแล้วเกิดบทเรียนก็ขอให้เป็นบทเรียน
(ข่าวเกี่ยวข้อง : “บิ๊กตู่” ประกาศเตรียมเปิดประเทศภายใน 120 วัน ให้นทท.ฉีดวัคซีนครบโดสไม่ต้องกักตัว)
- 7 views