สธ. - สสส. จับมือ Facebook สู้ Fake News เปิดตัวแชทบอท “แชทชัวร์” AI คู่หูใหม่คนไทย ตอบทุกคำถามโควิด-19 ช่วยคนไทยรู้จริง ผ่าน Messenger บนเพจ Facebook สสส.
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บริษัท Facebook ประเทศไทย บริษัท เฮ็ดบอท จํากัด สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าวเปิดตัว “แชทบอท แชทชัวร์” เพื่อเป็นช่องทางให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชน แบบถาม-ตอบผ่านระบบ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence:AI) เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจสังคมไทย และเตรียมพร้อมการเข้ารับวัคซีนของประชาชน
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองประธานกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัจจุบัน หนึ่งในปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในสังคมคือ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวลวง หรือ Fake News ซึ่งมีการนำเสนอในหลากหลายรูปแบบและสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้นเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ Facebook ในฐานะสื่อออนไลน์ ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลกขณะนี้ ให้ความสนใจเข้ามาร่วมกับ สธ. สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาเครื่องมือในการต่อสู้กับข่าวลวง และเปิดช่องทางสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ผ่านระบบแชทบอท “แชทชัวร์” บน Messenger ของ สสส. รวมถึงจะเข้ามาช่วยจัดการ คัดกรองข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องไปสู่ประชาชนผ่านช่องทางที่หลากหลายจากแหล่งที่เชื่อถือได้ อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. พัฒนาชุดข้อมูลสุขภาพ “คู่มือวัคซีนสู่โควิด ฉบับประชาชน” เพื่อสร้างความเข้าใจในการเตรียมตัวรับวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชน ควบคู่กับการร่วมพัฒนาแพลทฟอร์มการสื่อสารในรูปแบบแชทบอท เพื่อเป็นช่วงทางที่สะดวกในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย และเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน สำหรับระบบ “แชทบอท แชทชัวร์” เป็นชุดข้อมูล ถาม-ตอบ รูปแบบภาษาไทยครอบคลุมเนื้อหาหลัก 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.โรคโควิด-19 2.วัคซีนโควิด-19 3.การดูแลสุขภาพ และ 4.การดูแลจิตใจ รวม 200 เรื่อง และในระยะต่อไปจะมีการพัฒนา และเผยแพร่ชุดข้อมูลถาม-ตอบ อีกว่า 200-400 เรื่อง ทั้งนี้ สามารถใช้งาน “แชทชัวร์” ซึ่งเป็นแชทบอท บน Messenger ผ่านเพจ Facebook : Social Marketing ThaiHealth by สสส. เพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโควิด-19 ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
นายไมเคิล บัค หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ Facebook ประเทศไทย กล่าวว่า “Facebook ได้เชื่อมต่อผู้คนกว่า 2 พันล้านคนใน 189 ประเทศ ให้เข้าถึงข้อมูลจากหน่วยงานทางการของรัฐ ผ่านศูนย์ข้อมูลโควิด-19 บน Facebook สำหรับประเทศไทยมีการเชื่อมต่อกับเพจของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพจไทยรู้สู้โควิด สสส. หรือองค์การอนามัยโลก เป็นต้น ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งาน Messenger ทั่วโลกกว่า 1.3 พันล้านคนต่อเดือน สำหรับในประเทศไทย มีผู้ใช้งาน Facebook เป็นประจำทุกเดือนมากกว่า 60 ล้านคนโดย Messenger แชทบอท “แชทชัวร์” ที่เราร่วมกันเปิดตัวนี้ซึ่งทำงานด้วยระบบ AI จะสามารถช่วยให้เพจ Social Marketing ThaiHealth by สสส. ตอบคำถามที่ถูกถามเข้ามาบ่อยให้กับผู้คนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วและช่วยแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ในการตอบคำถาม การขยายความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ผ่านการทำงานของสสส. และพันธมิตรด้านเทคโนโลยี HBot ช่วยให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพที่มีความถูกต้องได้อย่างรวดเร็ว นับเป็นความพยายามต่อเนื่องในการช่วยเสริมพันธกิจเดินหน้าเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ให้กับผู้ใช้งานชาวไทยและเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมฟื้นฟูวิกฤตสุขภาพทั้งในเชิงสังคมและเศรษฐกิจในประเทศไทย”
นางสาวชญานิษฐ์ ศรีนาคอ่อน ผู้บริหารบริษัท เฮ็ดบอท จํากัด กล่าวว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมพัฒนาระบบ CHATBOT แชทชัวร์ ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้ร่วมงานกับ Facebook ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มระดับโลก ในฐานะผู้ให้บริการโซลูชันในการพัฒนาโครงการนี้เชื่อว่าคนไทยทุกคนควรเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว เพื่อที่พวกเขาจะสามารถตัดสินใจเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยได้อย่างถูกต้อง และนี่คือเหตุผลที่แชทบอท “แชทชัวร์” บน Messenger มีความสำคัญสำหรับพวกเราที่ Hbot และเราหวังว่าเครื่องมือนี้จะสามารถเป็นประโยชน์ในการส่งต่อข้อมูลที่มีคุณค่าให้กับสังคมในระยะยาวได้
สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแชทบอท “แชทชัวร์” บน Messenger ได้ที่ https://www.facebook.com/socialmarketingth/ หรือ คลิกที่ m.me/socialmarketingth เพื่อเข้าสู่ แชทชัวร์ ได้แล้ววันนี้
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 133 views