วัคซีนโควิด-19 ถูกนำออกมาใช้กับมนุษย์ครั้งแรกในช่วงปี 2563 แต่ไม่ได้ใช้พร้อมกันทุกประเทศ ซึ่งในระหว่างที่รอ ก็มีหลาย ๆ คนหันไปใช้ยาเม็ดที่เป็นทางเลือก หรือในบางประเทศแม้จะมีวัคซีนโควิด-19 เตรียมพร้อมแล้ว แต่ก็ยังมีหลายคนที่ไม่ยอมเข้ารับวัคซีน เพราะมั่นใจในประสิทธิภาพ
ด้านประเทศไทย ปี 2564 มีประเด็นเรื่อง “ยาฟ้าทะลายโจรใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19” และได้กลายเป็นหัวข้อที่ทั้งนักวิชาการ แพทย์ ประชาชน ต่างถกเถียงกันมาโดยตลอดว่า ใช้ได้จริงหรือไม่ เนื่องจากมีข้อสรุปที่หลากหลาย และความเห็นแตกต่างกันออกไป ซึ่งข้อสรุปที่แพทย์เห็นชอบไปในทางเดียวกันคือ ให้ใช้ตอนที่ป่วยเป็นโควิด-19 แล้ว แต่ประชาชนกลับไปใช้กินเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แทน
อย่างไรก็ดี ในประเทศไทยกำลังเริ่มมีสัญญาณการจุดกระแสความเชื่อเกี่ยวกับยาไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) นี้แล้ว จึงได้ทำการรวบรวมประเด็นข่าวลวงนี้เพื่อนเตือน และนำข้อมูลที่น่าเชื่อถือของต่างประเทศมาให้พิจารณา เพราะเว็บไซต์ที่รวมงานวิจัยมีงานวิจัยเกี่ยวกับยาประเภทนี้ค่อนข้างมาก แต่ประสิทธิผลยังไม่สามารถสรุปได้มากเท่าที่ควร จึงกังวลว่าจะมีการเผยแพร่ข้อมูลแบบผิด ๆ ออกมา
นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการรายการ “ชัวร์ก่อนแชร์” ช่อง 9 (อสมท.) และ นายพงศ์อิทธิ์ เชิดชูวงศ์ ได้อัปเดตแวดวงข่าวปลอมข้อมูลเท็จในแบบ "คุยสด เรียนรู้ เท่าทัน" ผ่านทางเฟสบุ๊คไลฟ์สด ในช่วงที่ 2 ของรายการ ชวนคุยในหัวข้อ : หักล้างข่าวปลอม การใช้ Ivermectin รักษาโควิด-19 โดย อดิศร สุขสมอรรถ Fact Checker ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
นายอดิศร กล่าวว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกามีช่วงนึงที่เขาให้ใช้ ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquin) เป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคมาลาเรียมาใช้ทดลองรักษาโรคโควิด-19 แต่สุดท้ายก็ได้ยุติการทดลองยาตัวนี้ไป เนื่องจากยาดังกล่าว ไม่มีประโยชน์ในการรักษาโรคโควิด-19 แต่อย่างใด
ต่อมาในปี 2564 มียาตัวหนึ่งที่เป็นกระแสมาแรงมากทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกคือ ยาไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) เป็นยารักษาโรคพยาธิ เช่น พยาธิเส้นด้าย พยาธิตาบอด ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งคนและสัตว์ สำหรับความเชื่อการใช้ยาตัวนี้เพื่อรักษาโรคโควิด-19 นั้นถูกจุดกระแสมาจากงานวิจัยของประเทศออสเตรเลียที่ตีพิมพ์ออกมาทางวารสาร Antiviral Research เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2563
ซึ่งระบุว่า พบหลักฐานว่า ไอเวอร์เมคตินสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโควิด-19 ภายในหลอดทดลองได้ ทำให้ในหลายประเทศนำยาตัวนี้ไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 แม้ว่าจะมีราคาสูงก็ตาม แต่ภายหลังได้มีงานวิจัยหลายชิ้นออกมายืนยันว่า ทฤษฎีการยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโควิด-19 ในหลอดทดลองของไอเวอร์เมคติน ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่สามารถสรุปได้ว่าสามารถช่วยรักษาโรคโควิด-19 ในมนุษย์ได้
จนกระทั่งเดือนมกราคม ปี 2564 งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Lancet ได้ข้อสรุปว่า แม้ไอเวอร์เมคตินจะยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในห้องปฏิบัติการได้ แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องกำหนดปริมาณยาที่จะต้องใช้กับมนุษย์ ดังนั้นจึงไม่มีหลักฐานที่ยืนยันชัดเจนว่า ยาตัวนี้สามารถรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการประกาศคำเตือนออกมา ก็ยังมีคนหลงเขื่อและยังคงนำมาใช้อยู่ โดยอ้างอิงข้อมูลที่ CDC ประเมินจากสถานการณ์ช่วงเดือนสิงหาคม 64 ในประเทศสหรัฐอเมริกาเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาหนัก ๆ โดยช่วงก่อนหน้านั้น 1 สัปดาห์การจ่ายยาไอเวอร์เมคตินอยู่ที่ 3,600 ชุด ซึ่งเป็นการนำไปใช้รักษาในผู้ป่วยโรคพยาธิ
แต่ในสัปดาห์ต่อมายาตัวดังกล่าวมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 88,000 ชุด ซึ่งเป็นการนำไปใช้รักษากับผู้ป่วยโควิด-19 นั่นเอง ถึงแม้ว่ายาตัวนี้จะมีราคาถูกในสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยเม็ดละ 1-1.5 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 30-50 บาท
ด้านนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกนและบอสตันได้ประเมินว่า ปีที่ผ่านมา (2564) บริษัทประกันและโครงการประกันสังคมของสหรัฐฯ อย่าง เมดิแคร์ (Medicare) ต้องเสียเงินไปกับการเบิกจ่ายยาตัวที่รักษาไม่ได้ตัวนี้ คิดเป็นเงิน 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4,000 พันล้านบาท หากคิดเป็นรายสัปดาห์ก็ตกที่ 80 ล้านบาท เรียกได้ว่าจ่ายกันไปฟรี ๆ เลยทีเดียว เหตุจากการหลงเชื่อข่าวลวงนั่นเอง
ยกตัวอย่างประเด็นข่าวลวงที่แชร์กันอย่างแพร่หลายเกี่ยวกับยา ไอเวอร์เมคติน ในต่างประเทศ
ประเทศบราซิล
มีการแชร์กันว่า นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ซาโตชิ โอมุระ คว้ารางวัลโนเบล 2021 จากการค้นพบว่า ไอเวอร์เมคติน ใช้รักษาโรคโควิด-19ได้ ส่วนต้นตอแหล่งข่าวก็เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ซึ่งตำรงตำแหน่งอนุญาโตตุลาการของบราซิล หลังจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ซาโตชิ โอมุระ มีตัวตนจริงและได้คว้ารางวัลโนเบลจริง แต่ไม่ใช้ของปี 2021
เขาคว้ารางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ประจำปี 2015 ร่วมกับ วิลเลียม เซซิล แคมป์เบลล์ นักวิทยาศาสตร์ชาวไอริช สัญชาติอเมริกัน จากการค้นพบสารประกอบ อาเวอร์เมติค (Avermectin) มีประสิทธิภาพเป็นยารักษาโรคเท้าช้างและโรคพยาธิตาบอด ซึ่งเป็นต้นแบบในการพัฒนาเป็นยาไอเวอร์เมคตินในเวลาต่อมานั่นเอง
ส่วนคนที่คว้ารางวัลโนเบลปี 2021 ตัวจริงเป็นนักวิทยาศาสตร์ 2 คน ชาวอเมริกันจากการค้นพบตัวรับอุณหภูมิและการสัมผัส ซึ่งอาจจะนำไปสู่วิธีการรักษาใหม่ ๆ ในอาการเจ็บปวด
ทั้งนี้ องค์การสาธารณสุขทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น องค์การอนามัยโลก (WHO) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC ) หรือแม้แต่บริษัทเมอร์ค (Merck) ผู้ผลิตยา ไอเวอร์เมคตินเองก็ไม่แนะนำให้ใช้รักษาโรคโควิด-19
แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีกระแสเชื่อข่าวลวงนี้กันอยู่ ซึ่งคราวนี้เป็นประเด็นข่าวอ้างว่า มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดรับรองการรักษาโควิด-19 ด้วยยาไอเวอร์เมคติน ซึ่งมีกดไลค์กดแชร์ไปกว่า 16,000 ครั้ง ทาง Agencia Lupa หน่วยตรวจสอบข้อเท็จของบราซิลได้ออกมาให้ข้อมูลว่า มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ได้นำยาตัวนี้มาทดสอบในโครงการที่เรียกว่า พรินซิเคิล (Principle) มีจุดประสงค์เพื่อค้นหายาที่สามารถบรรเทาอาการป่วยของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มที่รักษาตัวอยู่กับบ้านได้
ซึ่งยาดังกล่าวเป็น 1 ใน 7 ที่เข้าร่วมการทดสอบในครั้งนี้ พรินซิเคิล ให้เหตุผลถึงสาเหตุที่ยาไอเวอร์เมคติน ถูกเลือกนำมาการทดลองนั้น เพราะในข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ตัวยาสามารถลดการแบ่งตัวของไวรัสโควิด 19 ในหลอดทดลองได้ และผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงที่ใช้ยาดังกล่าวแต่เนิน ๆ จะมีปริมาณไวรัสในร่างกายไม่มากและอาการป่วยจะหายเร็วกว่า แต่ในการทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่ ผลกลับออกมาว่า ยาไอเวอร์เมคติน ไม่พบหลักฐานที่เพียงพอว่าสามารถช่วยให้ผู้ป่วยโควิดหายเร็วขึ้นหรือใช้เวลารักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยลง
ด้านศาสตราจารย์ คริส บัตเลอร์ หนึ่งในทีมวิจัยของพรินซิเคิล ยอมรับว่า เหตุผลที่เอายาตัวดังกล่าวที่ค่อนข้างมีการถกเถียงกันมากมาร่วมทดลอง เพราะอยากรู้ให้ชัดเจนไปเลยว่า จริง ๆ แล้วการใช้ยาดังกล่าวกับผู้ป่วยโควิด-19 ให้ประโยชน์หรือให้โทษมากกว่ากันแน่
การวิจัยของพรินซิเคิล มีส่วนอย่างมากในการกำหนดตัวยาที่จะใช้ทำการรักษากับผู้ป่วยโควิด-19 เพราะเมื่อช่วงเดือนมกราคม 64 ผลวิจัยดังกล่าวช่วยยืนยันว่า การใช้ยาปฏิชีวนะชนิด อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) และ ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) ไม่มีผลในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เพราะยา 2 ชนิดนี้ใช้ในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย
ต่อมาผลวิจัยพบว่ายา บูเดโซไนด์ (Budesonide) คือยาสูดพ่นสำหรับรักษาอาการโรคหืดหอบ ช่วยลดเวลาในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19เร็วขึ้น 3 วัน ภายหลังยาตัวนี้กลายเป็นยาที่สหราชอาณาจักร, แคนาดา และอินเดีย แนะนำให้ใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 รักษาตัวในกรณีที่อาการไม่รุนแรงในเวลาต่อมา
และข้อมูลล่าสุดของเดือนธันวาคม 64 ที่ผ่านมาทางพรินซิเคิลของมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ได้ยุติการทดลองยาไอเวอร์เมคตินไปแล้ว เพราะปัญหาเรื่องซับพลาย วัตถุดิบไม่พอ ด้านบริษัทเมอร์คก็ไม่ได้ออกมาให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติม
แต่ว่าทางพรินซิเคิลเผยว่า ตลอดการทดลองเท่าที่ผ่านมาประโยชน์ในการรักษาโควิดด้วยยาดังกล่าวมีน้อย และมีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตจะเน้นไปทดสอบยาทางเลือดตัวอื่นแทน ยาดังกล่าวจะหยุดการทดลองไปก่อนชั่วคราวหรืออาจไม่ได้นำกลับมาทดลองอีกก็ได้
ประเทศสหรัฐอเมริกา
เป็นประเด็นค่อนข้างร้อนแรงที่ถูกพูดถึงในสหรัฐฯ อย่างแพร่หลาย ถึงการใช้ยาไอเวอร์เมคติน รักษาผู้อพยพที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคนที่ออกมาแชร์ข่าวที่มีข้อมูลบิดเบือนนี้เป็นหมอชื่อ ดร.ซีมอน โกลด์ (Dr. Simone Gold) แพทย์หญิงชาวอเมริกันผู้มีแนวคิดสนับสนุนให้มีการใช้ยาไอเวอร์เมคตินรักษาผู้ป่วยโควิด-19
อ้างว่า CDC แนะนำให้ใช้ยาตัวนี้กับผู้อพยพที่เดินทางเข้ามาในสหรัฐฯ แทน เพื่อป้องกันและรักษาโควิด-19 หลังจากที่ข่าวนี้เผยแพร่ออกมา ทำให้ประชาชาวสหรัฐฯ เกิดความไม่พอใจและโจมตีอย่างหนัก เพราะคิดว่าทางการสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้อพยพมากกว่าชาวอเมริกันในประเทศ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เนื้อหาที่ CDC ได้ประกาศคือ อนุมัติให้ใช้ยาตัวนี้ในผู้อพยพที่เดินทางมาจากเอเชีย, ตะวันออกกลาง, ละตินอเมริกา และแอฟริกา เพื่อป้องกันและรักษาโรคพยาธิเส้นด้าย ไม่ใช่เพื่อรักษาและป้องกันโควิด-19 ตามที่มีการแชร์ออกไป
ฉะนั้นข่าวนี้จึงข่าวเนื้อหาบิดเบือนที่เกิดจากความตื่นตระหนก ตกใจพร้อมกันไปเอง ประกอบกับกระแสมาแรงของยาดังกล่าว จึงส่งผลให้มีการนำไปใช้กันมากจนทำให้เกิดผลเสีย เพราะช่วงปลายเดือนสิงหาคม 64 ทาง CDC ออกประกาศเตือนการใช้ยาไอเวอร์เมคตินแบบผิดส่งผลเสียต่อร่างกาย หลังจากที่ได้รับข้อมูลจากสมาคมศูนย์ควบคุมสารพิษแห่งอเมริกา (AAPCC) ที่พบว่ามีรายงานการใช้ยาเกินขนาดและอาการไม่พึ่งประสงค์จากการใช้ยาไอเวอร์เมคตินเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลานั้น
ส่วน ดร.ซีมอน โกลด์ ผู้ก่อตั้งและโฆษกของกลุ่มที่เรียกว่า America’s Frontline Doctors เป็นกลุ่มแพทย์ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมไปทางขวาจัด ทั้งเคยมีประวัติเผยแพร่ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เคยออกมารณรงค์ให้มีการใช้ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) ในการรักษาโรคโควิด-19
นอกจากนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ดอนัลด์ ทรัมป์และครอบครัวของเขาด้วย ทั้งยังมีแนวคิดต่อต้านมาตรการของโควิด-19 ต่าง ๆ เช่น การล็อกดาวน์ การใช้วัคซีน เป็นต้น จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมตัวเลขจากการฉีดวัคซีนของสหรัฐฯ ถึงกับต้องใช้เวลามากกว่าครึ่งปีกว่าจะถึง 50-60% ของจำนวนประชากร นอกจากการกล่าวอ้างว่ายาไอเวอร์เมคตินมีประโยชน์ทดแทนวัคซีนโควิดแล้ว ยังมีการอ้างว่า ยาตัวนี้ทดแทนยาต้านไวรัสได้ด้วย
ประเด็นข่าวลวงต่อมาที่ได้มีการหักล้างแล้ว คือ ยาต้านไวรัสโควิด-19 ของไฟเซอร์และเมอร์ค คล้ายกับยาไอเวอร์เมคติน โดยอ้างว่า สาเหตุที่ห้ามไม่ให้ยาไอเวอร์เมคตินที่มีราคาถูก ก็เพื่อจะเป็นการหันไปใช้ยาที่ผลิตโดยบริษัทยายักษ์ใหญ่ทั้ง 2 เจ้า หวังผลกำไรนั่นเอง ซึ่งเหตุผลดังกล่าวที่ยกมานั้นดูมีความน่าเชื่อถือมากพอที่จะทำให้คนหลงเชื่อ พร้อมระบุว่า คุณสมบัติของยาไอเวอร์เมคตินใช้วิธีการยับยั้งเอนไซม์โปรติเอส (Protease Inhibitors) แบบเดียวกันกับของไฟเซอร์และเมอร์ค
และเมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่อง การทำงานของยาต้านไวรัสจากไฟเซอร์ ซึ่งในขณะนั้นยาดังกล่าวยังไม่มีชื่อเรียก ต่อมีชื่อว่า Paclovid (Pfizer's Anti-Covid Pill) ซึ่งมีกระบวนการทำงานที่เรียกว่า การยับยั้งเอนไซม์โปรติเอส คือ ทำให้ที่ยับยั้งหรือจำกัดเอนไซม์ตัวหลักที่ไวรัส SARS-CoV-2 ใช้ในการแบ่งตัว
ส่วนโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir ) ของเมอร์ค นั้นใช้วิธีการที่แต่งกันกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งเรียกว่า Lethal Mutagenesis เป็นการแทรกแซงการแบ่งตัวของไวรัส ทำให้การแบ่งตัวเกิดการผิดพลาดจนไวรัสไม่สามารถมีชีวิตรอดหรือแพร่พันธุ์ต่อไปได้ หรือไปเร่งการแบ่งตัวของไวรัสให้มันเยอะขึ้นจนควบคุมไม่ได้จนทำให้ไวรัสมันตายไปเอง
ด้านการทำงานของไอเวอร์เมคติน ชื่อยาอย่างเป็นทางการคือ Stromectol ใช้ในการรักษาโรคที่เกิดจากพยาติติตัวกลม และพยาติตาบอดในมนุษย์ ตัวยาจะทำการกำจัดพยาธิด้วยการแทรกแซงการทำงานเซลล์ตัวรับของพยาติ
หลายคนอาจคิดว่า ดูมีความคล้ายกันอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้วการทำงานของยาทั้ง 3 ชนิดนี้ไม่เหมือนกันเลย และสิ่งที่ไม่เหมือนกันอีกก็คือ โครงสร้างโมเลกุล และน้ำหนักโมเลกุล
ข้อมูลจาก PubChem ฐานข้อมูลด้านโมเลกุลเคมีของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIH) ระบุว่า โครงสร้างทางเคมีของยาไอเวอร์เมคติน ประกอบไปด้วยอะตอมของธาตุเพียง 3 ชนิดคือ คาร์บอน, ไฮโดรเจน และออกซิเจน
ส่วนโครงสร้างทางเคมีของยาต้านไวรัสโควิด-19 ของไฟเซอร์คือ คาร์บอน, ไฮโดรเจน,ออกซิเจน, คลอรีน, ไนโตรเจน และซัลเฟอร์ ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ ของ เมอร์ค ก็มีส่วนประกอบของไนโตรเจนเช่นกัน
ส่วนน้ำหนักโมเลกุลของยาไอเวอร์เมคติน มีมากกว่าของยาต้านไวรัสของไฟเซอร์และเมอร์คถึง 2 เท่า
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อมูลตามโครงสร้างแล้ว การกล่าวอ้างว่ายาไอเวอร์เมคตินเป็นแบบเดียวกันกับยาต้านไวรัสโควิด-19 ไฟเซอร์กับยาโมลนูพิราเวียร์ นั้นจึงฟังไม่ขึ้น ในส่วนที่อ้างถึงทำงานว่ามีคุณสมบัติใช้วิธีการยับยั้งเอนไซม์โปรติเอสแบบเดียวกันก็เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้องเช่นกัน
โฆษกของบริษัทไฟเซอร์ ชี้แจงว่า วิธีการยับยั้งเอนไซม์โปรติเอสถูกใช้และพบได้ในยาต้านไวรัสหลายชนิด เช่น ยาต้านไวรัสโรคตับอักเสบซีและยาต้านไวรัสเฮชไอวี และยืนยันว่ามีความแตกต่างจากยาไอเวอร์เมคติน ในการทดสอบกับหนูที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัส พบว่า ยาไอเวอร์เมคตินช่วยฟื้นฟูประสาทรับกลิ่นและลดอาการอักเสบได้ดี และไม่พบว่ายาช่วยลดปริมาณไวรัสในหนูทดลอง
บ่อยครั้งที่เราพบว่าการทดลองยาบางตัวประสบความสำเร็จอย่างดีในห้องปฏิบัติการ แต่กลับไม่สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคจริงได้ในเวลาต่อมา เนื่องจากปริมาณความเข้มข้นของยาที่ใช้ในการทดลองไม่สามารถใช้กับมนุษย์ได้
ซึ่งคนที่ชี้แจงประเด็นนี้ก็คือ ดร.เดวิด เบาว์แวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา และกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้ยาไอเวอร์เมคติน รักษาผู้ป่วยในโควิดในระยะเริ่มต้นด้วย อธิบายว่า เอนไซม์โปรติเอสของยาต้านไวรัสไฟเซฮร์ทำงานแตกต่างจากยาไอเวอร์เมคตินอย่างสิ้นเชิง
และความแตกต่างที่สำคัญอีกประการคือ ยาต้านไวรัสไฟเซอร์ ประสบความสำเร็จในการทดลองใช้กับมนุษย์ แต่ปริมาณความเข้มข้นของยาไอเวอร์เมคตินที่สามารถยับยั้งไวรัสในห้องปฏิบัติการ มีปริมาณสูงกว่าและมีความเข้มข้นเกินกว่าที่จะสามารถใช้กับมนุษย์ได้ ซึ่งสูงกว่ายาต้านไวรัสไฟเซอร์ถึง 50-100 เท่า
หากนำยาไอเวอร์เมคตินมาใช้กับมนุษย์จริง ๆ อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจนเป็นอันตรายถึงชีวิตก็ได้
ดังนั้นยาไอเวอร์เมคตินจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นยาต้านไวรัสเหมือนกับยาที่บริษัทไฟเซอร์และเมอร์คทำได้ ซึ่งกำลังพัฒนาอยู่ในปัจจุบันนี้
สำหรับในมุมมองของคนไทย อาจคิดว่า คนที่หลงเชื่อเป็นเหยื่อ แต่เนื่องจากว่าไม่ได้นำยาทั้ง 3 ชนิดมาใช้ยาเป็นวงกว้างภายในประเทศไทย กลับกันในมุมมองของคนสหรัฐฯ เขามองว่า เงินประกันที่รัฐบาลต้องเบิกจ่ายจากการใช้ยาไอเวอร์เมคติน นั้นมาจากภาษีประชาชน และกลุ่มคนที่ไม่ได้ใช้ยาตัวนี้ก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย แทนที่จะได้เอาเงินส่วนนี้ไปทำอย่างอื่น กลับต้องเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์กับการหลงเชื่อข่าวลวงนี้แทน
ทางกรมการแพทย์ของประเทศไทย ก็คอยเฝ้าระวังและตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ และก็ยังไม่สรุปว่า ให้ใช้ได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่าไม่พบหลักฐานว่ายาไอเวอร์เมคตินสามารถรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ และประเด็นที่สำคัญคือ ยาที่สามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้ นั้นยังไม่มีที่แน่ชัดและสามารถนำออกมาใช้อย่างทั่วไป ในตอนนี้เป็นเพียงการรักษาตามอาการ อีกทั้งยังคงมีการวิจัยกันต่อไปเรื่อย ๆ
- 4851 views