ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยติดเตียง เสี่ยง ตกหล่นฉีดวัคซีนโควิด-19 ผลสำรวจพบ 62.5% ถูกลดงาน พักงาน เลิกจ้าง นักวิชาการ แนะ อ่านคู่มือสู้โควิด (ฉบับประชาชน) ของ สสส. ข้อมูลดี มีประโยชน์ ย้ำ ไม่ต้องกลัววัคซีน ดัน สร้างอาสาสมัคร ติดตั้งมือถือชุมชน ช่วยเหลือคนทุกกลุ่มเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ
ดร.ณปภัช สัจนวกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โควิด-19 สะท้อนการเข้าถึงบริการทางสังคมและสุขภาพของผู้สูงอายุชัดเจน จากการสำรวจผลกระทบทางสังคมต่อผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จัดทำขึ้นระหว่างเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ปี 2563 ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปพบว่า การล็อคดาวน์ในช่วงปีที่ผ่านมาทำให้ผู้สูงอายุที่ต้องทำงานเลี้ยงตัวเองมีรายได้น้อยลงกว่า 40% และมีผู้สูงอายุที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลักเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้านกว่า 40.7% นอกจากนี้การสำรวจผู้สูงอายุในกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทางอาชีพจากวิกฤตโควิด-19 ทั้งถูกลดงาน พักงาน และเลิกจ้าง โดย 62.5% รายได้ลดลงในช่วงล็อคดาวน์ และ 32.9% มีรายได้ลดลงแม้จะอยู่ในช่วงเปิดเมือง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งมีปัญหาทางสุขภาพจิต กว่า 78.5% และหลายคนยังไม่มีวิธีรับมือจัดการกับความเครียด
ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ ในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ผู้สูงอายุวิตกกังวลค่อนข้างสูง เพราะมีผู้ติดเชื้อรุนแรงมากกว่า 2 ระลอกที่ผ่านมา แต่ปัญหาที่ต้องหาแนวทางแก้ไขเร่งด่วนคือ ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุเข้าถึงการลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อรุนแรง และสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ ที่ผ่านมาพบผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งฟังข้อมูลจากคนรอบข้างจนกลัวว่าฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเป็นอันตรายถึงชีวิต ขณะที่อีกกลุ่มเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย เสี่ยงมีสถานะตกหล่นไม่ได้รับการฉีดวัคซีน จึงมีข้อเสนอ 3 แนวทาง คือ 1.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำคู่มือทางสังคมเรื่องความสำคัญของวัคซีนโควิด-19 โดยทำคู่มือเหล่านี้ให้ผู้สูงอายุเข้าถึงง่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งคู่มือวัคซีนสู้โควิด (ฉบับประชาชน) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เนื้อหาค่อนข้างดีและตอบโจทย์ใน หากถูกนำไปสื่อสารให้ความรู้กับผู้สูงอายุ 2.สร้างอาสาสมัครชุมชนทำหน้าที่ช่วยลงทะเบียนฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุเหมือนในต่างประเทศ 3.วางระบบโทรศัพท์มือถือชุมชน เปิดบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้ประโยชน์เรื่องการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้ เพื่อให้คนที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพได้มีสิทธิการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ที่เท่าเทียมจากการบริการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“สุดท้าย เราอาจมองไม่ออกว่าอีกกี่เดือนจะผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 แต่ปัญหาที่ปรากฏชัดเจนที่สุดคือ อาชีพ รายได้ของผู้สูงอายุได้รับผลกระทบอย่างมาก เห็นได้จากการสำรวจของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2563 ที่ระบุว่า ผู้สูงอายุ 40% ยังต้องทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัว ซึ่งโควิด-19 ทำให้หลายคนตกงาน มีรายได้น้อยลง เกิดความเครียดจนกระทบกับสุขภาพ บางคนต้องเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินอาชีพ แต่ความอดอยากก็ยังมี ดังนั้นต้องให้ความรู้เพื่ออาชีพให้เข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่อย่างเป็นรูปธรรม” ศ.ศศิพัฒน์ กล่าว
ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง” คือ กลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเดินทางมาฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมส่งวัคซีนไปที่บ้านให้กับผู้ป่วยติดเตียง สิ่งที่กังวลคือ การสังเกตอาการ เรามีการวางแผนแล้วว่า คนที่ไปฉีดวัคซีนที่บ้านต้องมีคนเฝ้าดูอาการ 30 นาที แต่อาจต้องเพิ่มเวลามากขึ้น รวมถึงบุคลากรที่เดินทางลงไปฉีดต้องประเมินสถานการณ์ว่า หากผู้ป่วยติดเตียงมีอาการแพ้รุนแรงจะสามารถกู้ฟื้นคืนชีพ และต้องมีความพร้อม กับสถานการฉุกเฉินให้ได้
“ในกลุ่มผู้สูงอายุป่วยติดเตียงควรอย่างยิ่งที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19 เพราะปัจจุบันมีคนติดเชื้อกันเยอะโดยเฉพาะในครอบครัว แม้จะไม่ได้ออกไปข้างนอก แต่หากคนในบ้านยังออกไปทำงาน พบปะผู้คนมากมายถือว่าชีวิตอยู่ในความเสี่ยง มีอันตราย เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกคนอย่างกลัวการฉีดวัคซีน แต่ให้กลัวการติดเชื้อโควิด-19 รุนแรง เพราะไม่ได้ฉีดวัคซีน” ผศ.พญ.สิรินทร กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 181 views