ผอ. สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมหารือ เอกอัครราชทูตคิวบาประจำประเทศไทย เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด 19
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมา นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พร้อมด้วย ผศ. ดร. ภก. วิสิฐ ตั้งเคียงศิริสิน ผู้จัดการสำนักพัฒนาศักยภาพด้านวัคซีนของประเทศ ได้เข้าร่วมพบหารือกับ His Excellency Héctor Conde Almeida เอกอัครราชทูตคิวบาประจำประเทศไทย ตามคำเชิญของคุณพรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษาประจำกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านวัคซีนของทั้งสองประเทศ ณ ห้องรับรอง 4 กระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างเวลา 14:00 - 15:00 น. โดย ออท. คิวบารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งต่อการพบหารือกับผอ. สถาบัน ในวันนี้ และขอขอบคุณ ทปษ. พรพิมล ที่ช่วยกรุณาจัดให้มีการหารือร่วมกันนี้
ประเทศคิวบามีความสัมพันธ์เป็นอย่างดี กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะด้านการผลิตเวชภัณฑ์ ยารักษาโรคโดยได้ร่วมมือกับบริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ ผลิตยารักษาโรคต่าง ๆ อาทิ ยากระตุ้นเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว ยารักษามะเร็ง เป็นต้น
ปัจจุบันคิวบาได้คิดค้น วิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดอยู่ด้วยกัน 2 ตัว คือ Abdala และ Soberana 02 ทั้ง 2 ชนิดเป็นซับยูนิทโปรตีน กำลังอยู่ระหว่างการทดลองเฟสสาม คาดว่าจะทราบผลในเดือนมิถุนายนนี้ นอกจากนี้ยังมี Soberana plus ซึ่งใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น (booster)
วัคซีน Abdala ผลิตโดย CIGB (Center for Genetic Engineering and Biotechnology) มีระยะฉีด แบบ 0, 14, 28 วัน (ห่างกันประมาณ 2 สัปดาห์) ส่วนวัคซีน Soberana 02 พัฒนาโดย Finlay Vaccine Institute (สถาบันวัคซีนฟินเลย์) โดยร่วมกันกับ BioCubaFarma ซึ่งเป็น Center for Molecular Immunology มีระยะการฉีดแบบ 0, 28, 56 วัน (ห่างกันประมาณ 1 เดือน) โดยเทคโนโลยีวัคซีนโควิด 19 แบบซับยูนิทโปรตีน นี้ เป็นแพลตฟอร์มที่มีความปลอดภัย เกิดอาการข้างเคียงน้อย ใช้ในการผลิตวัคซีนชนิดอื่นมากว่า 30 ปี
ในการนี้สถาบันได้ขอหารือถึงความเป็นไปได้ในการทำความร่วมมือเพื่อแสวงหาโอกาสรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนดังกล่าวจากประเทศคิวบา รวมทั้งการเข้าถึงวัคซีนที่จะสามารถผลิตออกมาหลังการขึ้นทะเบียน ซึ่ง ออท. คิวบา ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เกิดการประสานงานระหว่างกันนับเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในลักษณะของ G2G (Government to Government) ซึ่งจะทำให้ประเทศไทย มีโอกาสในการสร้างความร่วมมือเพื่อรับถ่ายทอดเทคโนโลยีสำหรับการผลิตวัคซีนเพื่อตอบโต้โรคคิดต่ออุบัติใหม่ทั้งในเวลานี้ และระยะต่อไปข้างหน้า
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 32 views