ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โควิดรายใหม่ 2,817 ราย รักษาหาย 3,396 ราย แต่ยังพบอาการหนัก 1,195 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 361 ราย กทม.พบใส่เครื่องช่วยหายใจสูงสุด 193 ราย บุลากรทางการแพทย์ทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง หลายรพ.ใกล้เคียงช่วยรับรักษาผู้ป่วยกรุงเทพฯและปริมณฑล

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 5 มิ.ย.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด19 ว่า วันนี้ติดเชื้อ 2,817 ราย ติดเชื้อในประเทศ 2,446 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 56 ราย อยู่ในเรือนจำ 315 ราย ป่วยสะสมระลอกใหม่( 1เม.ย.- 5มิ.ย.64) อยู่ที่ 145,933 ราย แต่วันนี้รักษาหายถึง 3,396 ราย ซึ่งเพิ่มมากกว่าการป่วย

ขณะที่เสียชีวิต 36 ราย ยอดรวมเสียชีวิตอยู่ที่ 1,119 ราย โดยเสียชีวิตมากที่สุดอยู่ที่ กทม. 16 ราย สมุทรปราการ 4 ราย นนทบุรี 3 ราย ชลบุรี นครสวรรค์ และสมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย ส่วนจังหวัดละ 1 ราย มีเพชรบุรี นครปฐม ตาก สงขลา พระนครศรีอยุธยา พัทลุง ราชบุรี และพบโรคประจำตัว ทั้งความดันโลหิตสูง ไขมัน ฯลฯ ปัจจัยเสี่ยงยังพบอยู่ในคนในครอบครัว การเดินทางในพื้นที่ระบาด อยู่ในสถานที่เสี่ยง ทั้งโรงงาน เรือนจำ เป็นชายมากกว่าหญิง อายุเฉลี่ย 68 ปี นอนในรพ.นานสุด 46 วัน ค่ากลางอยู่ที่ 16 วัน

“วันนี้อยากโฟกัสไปที่การนอนในรพ. โดยนอนรักษาตัวในรพ. 49,490 ราย อยู่ในรพ. 20,857 ราย และ รพ.สนาม 28,633 ราย ซึ่งที่ประชุมโฟกัสอาการหนักที่ 1,195 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 361 ราย ซึ่งตรงนี้เป็นภาระงานทางด้านสาธารณสุขที่ไม่ใช่แค่ต่างจังหวัด ในส่วนกรุงเทพมหานครด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเส้นกราฟคนที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจพบว่า จาก 412 รายเดือนพ.ค. ลงมา 300 กว่าราย แม้จะเป็นแนวโน้มที่ดี แม้จะไม่มาก และไม่กี่วัน เพราะกลุ่มนี้ต้องมีบุคลากรคอยดูแลจำนวนมาก เป็นไอซียูที่ดูแลคนกลุ่มนี้ ซึ่งในต่างจังหวัดเริ่มลดลง แต่ภาระงานในกรุงเทพฯและปริมณฑลก็ยังพบสูง” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักวันที่ 5 มิ.ย. พบถึง 35 จังหวัด โดยตัวเลขผู้ที่มีอาการหนักปอดอักเสบ 1,195 รายในจำนวนนี้มี 30% หรือ 361 รายต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งกทม.นำโด่งต้องใส่ท่อช่วยหายใจสูงถึง 193 ราย รองลงมาสมุทรปราการ 32 ราย นนทบุรี 22 ราย ปทุมธานี 14 ราย ชลบุรี 12 ราย ฯลฯ พูดง่ายๆคือ ติดเชื้อเยอะ จำนวนคนป่วยหนักก็เยอะตามตัวเลขสถิติ จึงต้องนำข้อมูลนี้มากราบเรียนว่า สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค จังหวัดไหนเยอะ ภาระงานก็เยอะ จนต้องมีรพ.ต่างๆมาช่วยกัน

“อย่างกรณีรพ.บุษราคัม ที่ตั้งใจตั้งขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองที่มีอาการหนัก เพราะเมื่อมีอาการหนักหลายคนจากสีเหลืองขยับไปสีแดงจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งมีหลายรพ.มาช่วย ทั้งจุฬาฯ ศิริราช รพ.พลังแผ่นดิน รพ.เอกชน หรือแม้แต่รพ.ศรีธัญญา ของกรมสุขภาพจิต รพ.เด็ก รพ.เด็ก สถาบันประสาทวิทยา และในต่างจังหวัดก็มีรับคนกรุงเทพฯ รับไปรักษาเช่นกัน ทั้งสวรรค์ประชารักษ์ หรือรพ.พระนั่งเกล้า เป็นต้น ต้องขอขอบพระคุณทุกรพ.ที่มาช่วยคนกรุงเทพและปริมณฑล” โฆษก ศบค.กล่าว

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org