ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ด้วยสถาณการณ์การแพร่ระบาดโรคไวรัสโคโรนา 2019 จึงทำให้หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องได้มีแนวทางการบริหารจัดการในพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการทำงาน การลงพื้นที่ วิธีการรณรงค์ฉีดวัคซีนและให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงมีการจัดการนโยบาย 3 หมอได้ย่างไร

นักข่าว Hfocus ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “ริซกี สาร๊ะ” รองเลขาธิการสภาสาธารณสุขชุมชน และเลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานในพื้นที่ ดังนี้

*กระบวนการดำเนินงานและขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับนโยบายวัคซีน

นักสาธารณสุข อสม. และภาคีเครือข่าย จะลงพื้นที่ ไปรณรงค์การฉีดวัคซีน พร้อมชี้แจงให้ชาวบ้านเข้าใจถึงข้อดีของการฉีดวัคซีน และขั้นตอนการลงทะเบียน ควบคู่กับทีมที่คัดกรองกลุ่มเสี่ยงต่างๆทั้งผู้เสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำในพื้นที่ และทีมที่ค้นหาผู้สัมผัสและทำการ swab เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อ ซึ่งดำเนินการ ทั้งในชุมชน สถานประกอบการ ตลาด ศาสนสถาน ฯลฯ ส่วนขั้นตอนการปฏิบัติมีดังนี้ ขั้นตอนแรกจะมี อสม.ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และภาคีเครือข่าย ประชุมร่วมกันในนาม ศปก.ตำบล และศปก.อำเภอ และทำการรณรงค์ในกลุ่มบุคลากรการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงก่อน จากนั้นจึงขยายไปยังประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะพื้นที่ใดมีผู้ติดเชื้อ มีการปิดหมู่บ้าน ปิดหน่วยงานหรือสถานประกอบการ ก็จะรณรงค์ง่ายกว่า หมู่บ้านที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับตั้งแต่ รพ.สต. สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาล และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในแต่ละทีมภารกิจ EOC ก็จะระดมทีมมาช่วยกันทั้งหมด

*มีวิธีการรณรงค์การฉีดวัคซีนอย่างไร

ในส่วนการรณรงค์การฉีดวัคซีน จะมีทั้งส่วนที่ให้ความร่วมมือ และส่วนที่ยังลังเล อาจจะฟังด้วยกระแสโซเชียลหรือเหตุผลใดก็ตาม แต่โดยส่วนใหญ่ประชาชนที่มีการลงทะเบียนและพร้อมจะฉีดวัคซีนก็มากพอสมควร

*การให้ความรู้ในเรื่องวัคซีนกับประชาชน

ตอนนี้ส่วนใหญ่จะให้ อสม. กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ไปเคาะประตูบ้าน เพื่อชี้แจง เพราะว่าบางส่วนอาจจะได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน เนื่องจากเสพข่าวโซเชียลหรือข่าวลืออย่างเดียว ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ต้องทำงานหนัก พยายามแก้ข่าวลือ รวมถึง Fake news ต่างๆ และชี้แจงในเรื่องของวัคซีนว่า แม้ประสิทธิภาพการป้องกันอาจจะไม่ได้ครบร้อยเปอร์เซนต์ แต่อย่างน้อยก็สามารถป้องกันความรุนแรงจากการเสียชีวิตจากการติดโควิดได้ และในสถานการณ์การเกิดโรคระบาดร้ายแรงเช่นนี้ หากมีมาตรการอะไรที่สามารถป้องกัน บรรเทาความรุนแรงได้ ก็ควรให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ซึ่งประชาชนก็ให้ความร่วมมือมากขึ้นและมีการลงทะเบียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

*ภาระงานเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน

ขณะนี้เรื่องของโควิดกลายเป็นภาระงานหลัก แต่ในพื้นที่ด่านหน้าหรือภาระงานประจำยังมีอยู่และทำอยู่ แต่อาจจะแบ่งเวลาการทำงานมากขึ้น อาจมีการทำนอกเวลาที่ว่างจากการลงพื้นที่ ย้ำว่าเรื่องของการป้องกันโควิด นักสาธารณสุขทุกคนถือเป็นงานหลักที่ต้องให้ความสำคัญ และเป็นหน้าที่ที่ต้องดำเนินการเพื่อให้โรคระบาดสงบลงโดยเร็วที่สุด

*จากนโยบาย 3 หมอ มีแนวทางการดำเนินงานอย่างไร

นโยบาย 3 หมอ ก็ยังเป็นนโยบายเดิม เพียงแค่เปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนรูปแบบ จากใกล้บ้านใกล้ใจ หมอครอบครัว หรือชื่ออื่นๆในอดีต โดยปกติในส่วน รพ.สต. ก็มีชื่อ มีเบอร์โทร และมีข้อมูลอยู่แล้วที่จะให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อยู่แล้ว แต่ว่าจะมีผลกระทบเฉพาะในส่วนที่เป็นโรงพยาบาลที่ไม่สามารถให้เบอร์ส่วนตัวได้ ซึ่งในส่วนของนโยบาย 3 หมอ รพ.สต. ได้ทำมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนภาระงานที่เพิ่มขึ้น คือเรื่องการคีย์ข้อมูล ซึ่งซ้ำซ้อน และเป็น work load โดยไม่จำเป็น แต่แนวทางการทำงานของนโยบาย 3 หมอ ก็ยังเป็นรูปแบบเดิม ในชื่อใหม่ หรือการประเมินใหม่ๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ก็ยังคงต้องทำตามนโยบายเช่นเดิม