แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ เผยข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีน ขอประชาชนศึกษาข้อมูลรอบด้านวัคซีนแต่ละยี่ห้อ สิ่งสำคัญคือ ป้องกันความรุนแรง ป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบทุกยี่ห้อ 100% เผยข้อมูลศึกษาในสกอตแลนด์ วัคซีนแอสตราฯ ป้องกันได้ไม่แพ้ไฟเซอร์
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 6 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ กล่าวถึงประสิทธิภาพวัคซีน และประโยชน์จากการฉีด ว่า สิ่งสำคัญของการฉีดวัคซีนโควิด ต้องมีการชั่งน้ำหนักว่า ประโยชน์กับโทษอันไหนมากกว่ากัน ซึ่งแน่นอนว่า วัคซีนมีประโยชน์มากกว่าโทษแน่นอน อย่างข้อมูลที่ผ่านมาจะมีข้อมูลหนึ่งออกมา เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ อย่างไฟเซอร์ 95% อย่างโมเดอร์น่า 94% สปุตนิกไฟท์ 92% นาโนแวค 89% แอสตรา 67% และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 66% ซึ่งข้อมูลนี้ไม่มีซิโนแวค เพราะออกทีหลัง แต่หลายคนมักยึดติดตัวเลขเหล่านี้ ซึ่งจริงๆแล้วตัวเลขพวกนี้มาจากที่ต่างๆไม่เหมือนกัน
“ตัวเลขพวกนี้จะแตกต่างกันไปตามแต่ละสถานที่ แต่ละปัจจัย เพราะการวิจัย จะวิจัยในประเทศเดียวกันไม่ได้ ต้องกระจายกัน และการวิจัยเวลาเดียวกันก็ไม่ได้ เพราะเวลานั้นมีการระบาดหรือไม่ก็มีผล หรือแม้แต่จะวิจัยในเผ่าพันธุ์เดียวกันก็ไม่ได้อีก หรือจะวิจัยในการแพร่กระจายแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน เพราะบางแห่งมีการกลายพันธุ์ ดังนั้น การจะไปดูเฉพาะตัวเลขอย่างเดียวไม่ได้ สิ่งที่ทางการแพทย์อยากเห็นคือ วัคซีนเกือบทุกอันป้องกันการเสียชีวิตเกือบ 100% ป้องกันการนอนรพ. ป้องกันอาการรุนแรงได้ ซึ่งอาการน้อยๆ ไม่รุนแรงก็ถือว่าไม่กังวล” นพ.ทวี กล่าว
สำหรับวัคซีนซิโนแวค ป้องกันอาการรุนแรงได้ 100% ป้องกันอาการปานกลาง เช่น ป่วยไข้ต้องนอนรพ.แต่ไม่ถึงอาการรุนแรงพบว่าป้องกันได้ถึง 83.7% และในกลุ่มที่ไม่มีอาการ ป้องกันการติดเชื้อได้อีก 50.7% อย่างไรก็ตาม กรณีที่บราซิล มีการฉีดวัคซีนซิโนแวค ฉีดไป 2 สัปดาห์ผู้ป่วยลดลง ดังนั้น เราอยากเห็นเวลาใช้จริงว่า ผลเป็นอย่างไร เนื่องจากช่วงวิจัยอาจใช้อาสาสมัคร 3-4 หมื่นคน แต่ความเป็นจริงใช้มากกว่านั้น
ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่จะเข้ามาในล็อตใหญ่เดือน มิ.ย.2564 สำหรับวัคซีนชนิดนี้ใช้อายุ 18 ปีขึ้นไป โดยอย่างน้อยเข็มเดียวน่าจะป้องกันได้อย่างน้อย 3 เดือน (ต้องมีเข็ม) อย่างตนฉีดไปเมื่อ 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตนมีภูมิคุ้มกันป้องกันโรคได้ และแน่นอนป้องกันได้ไม่ต่ำกว่าครึ่งจากข้อมูลการศึกษาวิจัย ส่วนประสิทธิภาพที่ฉีด 2 เข็ม มีประสิทธิภาพ 62-81.5% ซึ่งศึกษาหลายที่และศึกษาในช่วงที่มีโรคระบาด อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นา ศึกษาในช่วงที่ไม่ค่อยระบาดมาก
ขณะที่บราซิลได้ศึกษาบุคลากรทางการแพทย์ กำลังมีการติดเชื้ออย่างมาก และเชื้อที่ติดมีส่วนหนึ่งเป็นเชื้อกลายพันธุ์ จึงมีการศึกษาวัคซีนแอสตราฯ มีผลต่อเชื้อกลายพันธุ์หรือไม่ พบว่าค่อนข้างดี โดยเฉพาะสายพันธุ์อังกฤษ B117 ได้ผลประมาณเกือบ 70% ส่วนสายพันธุ์ดั้งเดิมป้องกันได้ประมาณ 80% แต่สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B1351 อันนี้วัคซีนแอสตราฯ ไม่ค่อยดี แต่สายพันธุ์อังกฤษ บราซิลค่อนข้างดี ส่วนข้อมูลของไฟเซอร์และโมเดอร์นากำลังศึกษาการป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์ และวัคซีนแอสตราฯ พบว่าผลข้างเคียงเข็มที่ 1 มากกว่าเข็มที่ 2 ซึ่งวัคซีนทุกอย่างมีผลข้างเคียงหมด เพียงแต่ประโยชน์มากกว่า
นพ.ทวี กล่าวอีกว่า มีการศึกษาในสกอตแลนด์ถึงวัคซีนแอสตราฯ และไฟเซอร์ว่าอันไหนดีกว่ากัน ซึ่งไม่ด้อยกว่ากัน และแอสตราฯไม่ได้ขี้เหร่กว่าไฟเซอร์ ซึ่งมีผลศึกษาวิจัยหลังจากเข็มที่ 1 และเริ่มป้องกันโรคตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 เป็นต้นไป แม้ระหว่างการใช้เกิดปัญหาขึ้น ว่ามีผลข้างเคียงกรณีเกิดลิ่มเลือดขึ้นได้นั้น ทางองค์การอนามัยโลกเปิดเผยข้อมูลว่า การเกิดลิ่มเลือดในกลุ่มวัคซีนแอสตราฯ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จะพบประมาณ 4 ใน 1 ล้านเข็ม คือ 1 ต่อ 2.5 แสนเข็ม ในขณะที่พบเสียชีวิต 1 ใน 4 ราย หรือ 1 ในล้านเข็ม ที่เสียชีวิตจากโรคลิ่มเลือด แต่โรคลิ่มเลือดเกิดขึ้นในคนไข้เป็นโควิด พบว่า คนไข้โควิด 8 คนจะมี 1 คนเป็นโรคลิ่มเลือด เพราะโรคนี้เกี่ยวข้องกับโควิดเช่นกัน ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตโควิด 2 ใน 100 และโรคลิ่มเลือดยังเกิดในคนสูบบุหรี่จัด พบถึงประมาณ 1.7 พันกว่าคนต่อล้านประชากรที่มีการสูบบุหรี่จัด
“โรคลิ่มเลือด ไม่ใช้โรคในเอเชีย ซึ่งตอนนี้เรายังใช้น้อย แต่เมื่อใช้เยอะๆ เราก็เฝ้าระวังอยู่ แต่ผมเชื่อว่าจะค่อนข้างน้อย ด้วยหลายสาเหตุ โดยส่วนหนึ่งคือ สาเหตุจากพันธุกรรมด้วย” นพ.ทวีกล่าว
นพ.ทวี กล่าวสรุปว่า สิ่งที่เราอยากเห็นคือ การป้องกันป่วยได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งตัวเลขพวกนี้จะออกมาหลากหลาย แต่ตัวเลขสำคัญคือ ป้องกันป่วยหนักได้แค่ไหน ซึ่งทุกตัวป้องกันได้ 100% ทั้งหมด และป้องกันการแพร่เชื้อได้แตกต่างกันไป ดังนั้น การศึกษาข้อมูลวัคซีนต้องพิจารณาด้วยข้อมูลรอบด้าน ซึ่งสรุปคือ ประโยชน์มีมากกว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยวัคซีนโควิดยี่ห้ออื่นๆ นอกเหนือจากที่มีทุกวันนี้ ต้องบอกว่ากำลังเรียงคิวเข้ามา ซึ่งก็ต้องเป็นปตามการขออนุญาต
- 7496 views