กรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมหารือทางออกปมลิขสิทธิ์ยา “ฟาวิพิราเวียร์” รักษาโควิด19 หลังบ.ยาในญี่ปุ่น ยื่นขอจดสิทธิบัตรยาในประเทศไทย จี้ ส่งเอกสารยันเทคโนโลยีการผลิตหากไม่มีความใหม่ต้องปัดตก! ด้าน องค์การเภสัชฯ ลุยศึกษาชีวสมมูล พร้อมสำรองวัตถุดิบ เดินหน้าผลิต ส.ค. นี้ ลั่นปมลิขสิทธิ์ยา ต้องมีทางออก
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วย นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เพื่อหารือเรื่องลิขสิทธิ์ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด- 19 เนื่องจากขณะนี้ทางองค์การเภสัชกรรมอยู่ระหว่างการศึกษาและผลิต ขณะเดียวกันก็พบว่าก่อนหน้านี้บริษัทยาในประเทศญี่ปุ่นได้มีการมายื่นขอจดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยเช่นกัน
นายวุฒิไกร กล่าวว่า จริงๆ ยาฟาวิพิราเวียร์ เขายื่นขอจดสิทธิบัตร ซึ่งตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา ทางกรมฯ มีหนังสือไปยังผู้ขอสิทธิบัตรว่าสิ่งที่ยื่นเข้ามานั้นไม่มีขั้นตอนการผลิตที่สูงขึ้น การพิจารณาของนายทะเบียนจะมีทางออกอยู่ 2 ทาง คือ 1.พิจารณารับจดทะเบียน 2. ให้เขาส่งข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งขณะนี้เรามีหนังสือออกไปแล้ว รอให้ผู้ขอสิทธิบัตรชี้แจงเข้ามาหากไม่ชี้แจงก็ถือว่าละทิ้งคำขอ หรือหากชี้แจงมาก็ต้องมาพิจารณาใหม่ ถ้าเหตุผลเพียงพอก็รับจด ถ้าชี้แจงมาแล้วยังเหมือนเดิม ไม่มีการผลิตที่สูงขึ้น ก็ปฏิเสธคำขอ เดทไลน์ที่ต้องส่งเอกสารเข้ามาคือส.ค. 2564 ทั้งนี้อยู่ที่ดุลพินิจของนายทะเบียน
“ทางรองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ได้เชิญ เลขาธิการ อย. กระทรวงพาณิชย์ ผอ.องค์การเภสัชฯ กรมทรัพย์สินทางปัญญามาหารือเพราะอยากให้เป็นวาระแห่งชาติ และให้ทำงานเป็นทีม ฉะนั้นเราให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตและประชาชนไทยเป็นสำคัญ ดังนั้นที่ทำก็เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและเป็นไปตามกฎหมาย” นายวุฒิไกร กล่าว
ด้าน นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ตอนนี้รอความชัดเจนเรื่องที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาที่มาชี้แจงให้ทราบว่าอยู่ระหว่างการเรียกบริษัทเจ้าที่ยื่นขอจดลิขสิทธิ์นั้นมีเทคโนโลยีชั้นสูงหรือไม่ หากไม่มี ก็ต้องปฏิเสธไป แต่ระหว่างนี้องค์การเภสัชฯ ก็เดินหน้าผลิตต่อไป โดยอยู่ในช่วงการศึกษาชีวสมมูลในมนุษย์ เพื่อดูเรื่องการดูดซึม การขับออกเป็นอย่างไร เป็นต้น คิดว่าจะเป็นไปได้ด้วยดี ดังนั้น ล็อตแรกผลิตมา 3.6 แสนเม็ด ใน 3 ล็อตการผลิต ขณะเดียวกันก็สต็อกวัตถุดิบจากอินเดียและจีนเพื่อทยอยผลิตต่อไป ทั้งนี้เมื่อเดินหน้าการผลิตในระดับอุตสาหกรรมจะใช้โรงงานผลิตยารังสิต จำนวนประมาณ 1 ล้านเม็ด
“ภาวการณ์ระบาดและการเข้าถึงยาของประชาชนเป็นสิ่งที่สังคมต้องการ เป็นเรื่องที่เราทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ กว่าเราจะได้ทะเบียนจากอย.ก็น่าจะอยู่ราวๆ เดือน ส.ค.เช่นเดียวกัน ระหว่างนี้เราก็ผลิตมาเพื่อวิจัย ผลิตเพื่อขึ้นทะเบียน และซื้อวัตถุดิบมารอ หากผ่านก็ผลิตได้เลย ส่วนกรณีที่มีข้อกังวลว่าถ้าบริษัทนอกสามารถยื่นจดลิขสิทธิ์ได้จะมีทางออกให้กับล็อตที่ผลิตแล้วอย่างไรนั้น ก็ต้องเจรจากันต่อว่าจะเป็นอย่างไร มันมีทางออกอยู่” นพ.วิฑูรย์ กล่าว
ผอ.องค์การเภสัชกรรม กล่าวต่อว่า ระหว่างนี้ ทางองค์การเภสัชฯ ได้จัดหายาเม็ดสำเร็จเข้ามาใช้อยู่ โดยในเดือนพ.ค.นี้ สั่งเพิ่มอีก 3 ล้านเม็ด ซึ่งจะทยอยเข้ามาเพิ่ม และหาทางเลือกจากหลายๆ แหล่ง เพราะถึงแม้ว่าจะเพิ่งนำเข้ามา 2 ล้านเม็ด แต่อัตราการใช้ยาขณะนี้ค่อนข้างสูง เลยสั่งเพิ่มอีก 3 ล้านเม็ด และจะพิจารณาสั่งเพิ่มอีกในเดือนต่อๆ ไป จนถึงเดือน ส.ค. ที่เราจะสามารถผลิตได้เอง อย่างไรก็ตาม แม้แต่ในช่วงแรกที่องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตได้เองแล้วนั้น แต่อาจจะต้องมีการนำเข้ายามาเพื่อประคองสถานการณ์ไปด้วยจนกว่าเราจะนิ่ง ทั้งนี้เพราะไม่ต้องการให้ประเทศอยู่ในความเสี่ยง เชื่อว่ามีทางออกที่ดีสำหรับประเทศไทย
- 73 views