คณบดีศิริราชชี้ WHO เตือนเข้าสู่วิกฤตโลกรอบใหม่โควิด19 ย้ำต้องฉีดวัคซีนอย่างน้อย 25% ของประชากรถึงจะคุมได้ ชี้อิสราเอลประสบความสำเร็จ ฉีดเร็วแต่น่ากังวลให้ประชากรไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย ขณะที่ประเทศไทยป่วย-เสียชีวิตเพิ่ม หากไม่ช่วยกันทุกฝ่ายจะย่ำแย่ ขาดแคลนทรัพยากร ขยายเตียงอย่างไร มีข้อจำกัดเรื่องบุคลากรเชี่ยวชาญ หวั่นป่วยหนักเพิ่ม ทำทั่วโลกแย่งซื้อยารักษา ประเทศผลิตไม่ส่งออก ย้ำทุกคนต้องมีวินัย จิตสำนึกรับผิดชอบร่วมกัน
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 เมษายน 2564 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลอัปเดตสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ ผ่านทางเฟซบุ๊ก Mahidol และ เฟซบุ๊ก Siriraj ว่า
สถานการณ์วันนี้แตกต่างจากช่วงที่ผ่านมามากพอสมควร สิ่งที่ดีที่สุดหากพวกเราคนไทยได้เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริง และได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ โดยสาระสำคัญ คือ เกิดวิกฤตโลกรอบใหม่ของโควิด19 ซึ่งเป็นคำเตือนขององค์การอนามัยโลก สำหรับคำเตือนนี้ออกมาเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2564 ที่ผ่านมา โดยผอ.องค์การอนามัยโลกระบุว่าได้เฝ้าระติดตามการเปลี่ยนแปลงของโควิด โดยพบว่า 8 สัปดาห์ต่อเนื่องที่อุบัติการณ์เกิดโควิดเพิ่มต่อเนื่อง ขณะเดียวกันอัตราการเสียชีวิตก็เพิ่มต่อเนื่อง 5 สัปดาห์เต็มๆ
“ขณะนี้เรามีผู้เสียชีวิตจากโควิด19ประมาณ 3 ล้านคน จากเดิม 1 เดือนแรกใช้เวลา 9 เดือนถึงมีคนเสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน แต่ 1 ล้านที่สองถัดมากกลับใช้เวลา 3 เดือน คือคนเสียชีวิต 2 ล้านคน และทั่วโลกเจอมากขึ้นในคนอายุน้อยลง เช่นเดียวกับไทยที่เจอโรคบ่อยมากระหว่างอายุ 20-39ปี ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เจอทั่วโลก อาจส่วนหนึ่งมาจากผู้สูงอายุได้รับวัคซีน และป้องกันตัวเองด้วยการอยู่ในบ้าน ขณะที่คนหนุ่มสาวยังออกนอกบ้าน ยังไปทำงานที่บ้าน แต่ครั้งนี้ที่ออกมาเตือนเพราะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น”
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ข้อมูลจากจอรห์ฮอบกินส์ รายงานว่า ตั้งแต่พบโควิดช่วงก.พ. มี.ค.ปีที่ผ่านมา กระทั่งมีการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจุดผกผลันสำคัญคือ ก.ย.2563 พบว่ามีการกลายพันธุ์คือ สายพันธุ์สหราชอาณาจักร ทำให้เกิดการก้าวกระโดดการติดเชื้อ และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่สหราชอาณาจักรตัดสินใจให้วัคซีนอย่างรวดเร็วประมาณ ธ.ค. จากนั้นประเทศต่างๆก็ทยอยฉีดวัคซีน ทั้งนี้ ผลการฉีดวัคซีนต้องใช้เวลาประมาณสัปดาห์แรกของ ม.ค.เป็นต้นไป อัตราการติดเชื้อใหม่เริ่มลดลง รวมทั้งอัตราการเสียชีวิต
“แต่เมื่อช่วงปลายก.พ. และสัปดาห์แรกของมี.ค. เริ่มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดแค่ที่ใดที่หนึ่ง ทุกๆทวีปคล้ายกันหมด และน่าแปลกตรงสัปดาห์แรกของเดือน มี.ค. ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก”
นอกจากนี้ข้อมูลองค์การอนามัยโลกพบว่า ภายใน 1 สัปดาห์อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยใหม่ เพิ่มขึ้นอย่างไร เราจะพบว่า ช่วงแย่สุดๆ ประมาณ 2-3 วันเพิ่ม 1 ล้านคน และทุกๆ 3 วันเพิ่มขึ้น 2 ล้านคน และหลังจากเริ่มมีการฉีดวัคซีนเหมือนทุกอย่างเริ่มดีขึ้น แต่พอสัปดาห์แรกมี.ค.เริ่มกลับขึ้นมา โดยอัตราการเสียชีวิตก็ตีคู่ขนานกัน ข้อมูลนี้เห็นว่า สัปดาห์ที่แล้วที่องค์การอนามัยโลกเอาข้อมูลมาเตือน 1 สัปดาห์มีผู้ป่วย 5 ล้านราย หรือคิดเป็น 8 แสนคนต่อวัน หากทุกประเทศทุกคนไม่ช่วยก็อาจถึงวันละ 1 ล้านราย
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ข้อมูล ณ วันที่ 25 เม.ย.2564 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 1,009,954,638 คน หรือวันละประมาณ 18 ล้านคน องค์การอนามัยโลกเตือนว่า อาวุธที่ดีที่สุดที่ทั่วโลกจะสู้กับไวรัสตัวนี้คือ การฉีดวัคซีน โดยต้องฉีดให้เร็วในคนจำนวนมากก่อนการกลายพันธุ์ เพราะแต่ละครั้งการกลายพันธุ์จะมีผลกระทบ ทั้งนี้ สถานการณ์ทั่วโลกในแต่ละทวีปอัตราการระบาดจะคล้ายคลึงกัน และไม่มีประเทศไหนปลอดภัย หากทั่วโลกยังรุนแรง
สำหรับตัวอย่างของแต่ละประเทศ
- สหรัฐอเมริกา ข้อมูลล่าสุดวันที่ 26 เม.ย. หลังจากมีการฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 225 ล้านโดส ฉีดวันละ 2.8 พันล้านโดส จากประชากร 332.5 ล้านคน โดยฉีดไปแล้วประมาณ 41.8%ของประชากรอเมริกาได้รับวัคซีน 1 โดส และ 28% ได้ครบโดส สิ่งที่เห็นคือ อัตราผู้ติดเชื้อลดลงเห็นชัด เห็นได้จากข้อมูลวันที่ 14 ธ.ค.2563 ซึ่งวันแรกที่มีการฉีดวัคซีน แต่วันนั้นมีคนติดเชื้อประมาณ 2 แสนกว่ารายต่อวัน แต่วันนี้ในสหรัฐมีการติดเชื้อประมาณ 4 หมื่นกว่ารายต่อวัน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตะวันที่ 14 ธ.ค.63 มีคนเสียชีวิตเกือบ 1.8 พันคนต่อวัน แต่วันนี้ มีคนเสียชีวิต 421 คนต่อวัน
- บราซิล เป็นประเทศที่วันนี้ยังวิกฤตโดยฉีดวัคซีนครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2564 ในบุคลากรสาธารณสุขอายุ 54 ปี วันที่ฉีดวันแรก ณ ขณะนั้นมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 3.1 หมื่นคน โดยบราซิลฉีดวัคซีนไปแล้ว 40,675,557 โดสมีคนทั้งหมด 212.5 ล้านคน แต่ละวันฉีดเกือบ 1 ล้านโดส โดยประชากร 13.6%ของประชากรได้รับ 1 โดส และ 5.8% ได้ครบโดส ตัวเลขตรงนี้อย่างที่ย้ำว่า ประเทศที่ฉีดวัคซีนน้อยกว่า 25% แสดงว่าอัตราการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสทำไม่ได้ อย่างอัตราการเสียชีวิตของบราซิลเพิ่มขึ้นมาก โดยขณะนี้บราซิลมีวิกฤตเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า P.1 และสายพันธุ์สหราชอาณาจักรกระจายในบราซิล
“สายพันธุ์บราซิล P.1 เป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้เร็ว และขณะนี้แพร่กระจายไปหลายประเทศ เช่น สหรัฐ สหราชอาณาจักร โดยปลายเดือน มี.ค. ตรวจพบสายพันธุ์ P.1 ที่วิสคอนซินในสหรัฐ ทั้งนี้ พบว่าภายใน 7 สัปดาห์สายพันธุ์ P.1 กลายเป็นสายพันธุ์ที่พบมากถึง 87% ที่ระบาดในบราซิล ซึ่งสายพันธุ์นี้เชื่อว่า รุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
- ประเทศอินเดีย เป็นประเทศที่ประชากรจำนวนมาก โดยฉีดวัคซีนครั้งแรกเมื่อ ม.ค.2564 ถือว่าช้าทีเดียว โดยวันที่ติดครั้งแรก มีผู้ติดเชื้อ 1.5 หมื่นคน แต่ ณ วันที่ 26 เม.ย. เพิ่มเป็นเกือบ 3.2 แสนต่อวัน มีการฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 140,802,794 โดส โดยมีประชากรที่รับวัคซีนไปแล้ว 8.7% มีที่ฉีดครบเพียง 1.6% ซึ่งจะพบว่าอัตราการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตคู่ขนาดกัน ขณะนี้พบเสียชีวิตเกือบ 2.8 พันคนต่อวัน
- ฝรั่งเศส ฉีดวัคซีนไปแล้ว 19 ล้านโดส ฉีดวันละประมาณ 3 แสนโดส โดยประชากรฝรั่งเศสฉีดวัคซีนไปแล้ว 21.3% ได้รับ 1 โดส และ 8.3% ฉีดครบโดส จากประชากรทั้งหมด 65.2 ล้านคน
- อิตาลี เป็นอีกประเทศที่ควบคุมไม่ดีนัก ฉีดวัคซีนแล้วประมาณ 17 ล้านโดส ฉีดในประชาชน 20.1% ของประชากรทั้งหมด 60.5 ล้านคน ได้รับ 1 โดส และ 8.4% ได้ครบโดส ซึ่งขณะนี้พยายามเร่งฉีดวัคซีน คล้ายๆฝรั่งเศสฉีดวันละ 3 แสนโดส
- เยอรมนี ฉีดวัคซีนครั้งแรก 17 ธ.ค.2563 ฉีดไปแล้ว 24 ล้านโดส ฉีดวันละ 4.9 แสนโดสจากประชากร 83.8 ล้านคน ฉีดไป 22.8% ของประชากรที่ได้รับ 1 โดส และ 7% ได้ครบโดส
“ส่วนประเทศอิสราเอล เป็นประเทศที่ได้รับการชื่นชมมากในการควบคุมโควิด โดยฉีดครั้งแรกในชายอายุ 71 ปี ซึ่งเมื่อติดเชื้อเพิ่มเขาตัดสินใจฉีดทั้งประเทศ โดยวันที่ 19 ธ.ค.2563 ขณะนั้นมีผู้ติดเชื้อ 2,734 ราย และเริ่มระดมฉีดวัคซีน จนวันนี้เหลือติดเชื้อ 83 รายต่อวัน ส่วนอัตราเสียชีวิตวันที่เริ่มฉีดวัคซีนครั้งแรก คือ 19 ธ.ค. พบ 17 คน ปัจจุบันข้อมูล ณ วันที่ 26 เม.ย.2564 เสียชีวิต 1 คน โดยอิสราเอลมีประชากรทั้งหมด 8.8 ล้านคนฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 10 โดส ฉีดวันละ 1 หมื่นโดส คิดเป็น 59.4%ของประชากรได้รับ 1 โดส และ 55.3% ได้ครบโดส ถือเป็นประเทศที่มีการฉีดวัคซีนมากที่สุด และเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่พิสูจน์ให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนหากฉีดได้มาก ได้เร็วจะช่วยได้ แต่องค์การอนามัยโลกเตือนกรณีที่อิสราให้ประชากรไม่สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งอันนี้น่ากลัว” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
-ส่วนสหราชอาณาจักร พบสายพันธุ์ UK หรือสายพันธุ์ B 1.1.7 ตั้งแต่ มี.ค. เม.ย. 2563 แต่หลังจาก ก.ย.เริ่มพบแพร่ระบาด และ ประมาณ 20% ของคนสหราชอาณาจักรเป็นสายพันธุ์นี้ กระทั่ง 3 เดือนหลัง ประมาณ พ.ย. กลายเป็น 2 ใน 3 ของคนในประเทศติดจากสายพันธุ์นี้ รัฐบาลจึงต้องประกาศฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็วคือ วันที่ 8 ธ.ค.2563 เป็นประเทศแรกที่ฉีดโดยนำวัคซีนไฟเซอร์เข้ามา ณ วันนั้น มีผู้ป่วยใหม่ประมาณ 1.2 รายต่อวัน จนถึงวันนี้( 26 เม.ย.64) มีผู้ป่วยวันละ 2 พันราย โดยฉีดวัคซีนไปแล้ว 45 ล้านโดส ฉีดวันละเกือบ 5 แสนคน ในประชากร 67.9 ล้านคน คิดเป็น 50.2%ของประชากรได้รับ 1 โดส และ 18.1% ครบโดส คนในประเทศให้ความร่วมมือดีมาก
“ สำหรับข้อมูล ณ วันที่ 21 เม.ย.2564 วัคซีนโควิดที่มีการใช้ในแต่ละประเทศ 8 ตัว ซึ่งใช้ในภาวะฉุกเฉิน จะพบว่า วัคซีนแอสตราเซเนกา มีการใช้มากที่สุดถึง 91 ประเทศ และมีการศึกษาว่าได้ผลหรือไม่ได้ผลถึง 24 การศึกษา ส่วนวัคซีนไฟเซอร์มีการใช้ไปแล้ว 83 ประเทศทั่วโลก มีการศึกษาระยะสาม 18 การศึกษา ส่วนวัคซีนรัสเซีย คือ สปุกนิตV มีการใช้ไป 62 ประเทศ ส่วนวัคซีนโมเดอร์นาใช้ไป 46 ประเทศ ส่วนวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันใช้ 40 ประเทศ วัคซีนซิโนฟาร์มของรัฐบาลจีน ใช้ไป 35 ประเทศ วัคซีนซิโนแวคใช้ไปแล้ว 22 ประเทศ และวัคซีนอินเดียคือ บารัต ใช้ไปแล้ว 6 ประเทศ” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
สำหรับสถานการณ์ประเทศไทย
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงสถานการณ์ประเทศไทย ว่า ขณะนี้มีการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดที่สำคัญคือ B1.1.7 เป็นสายพันธุ์ของสหราชอาณาจักร เมี่อเทียบกับสายพันธุ์เดิมพบว่าแพร่กระจายเร็วขึ้น เดิมพบว่าไม่เพิ่มความรุนแรง แต่รายงานล่าสุดสหราชอาณาจักรแสดงให้เห็นว่าอาจทำให้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งสายพันธุ์นี้เข้ามาไทยแล้ว ส่วนสายพันธุ์แอฟริกา B 1.351 พบว่าแพร่กระจายเร็ว แต่ข้อมูลล่าสุดไม่เพิ่มความรุนแรง และยังพบว่าวัคซีนที่ใช้อยู่ทั้งแอสตราฯ และไฟเซอร์ครอบคลุมสายพันธุ์นี้ในสัดส่วนค่อนข้างดี ส่วนสายพันธุ์บราซิล P.1 พบครั้งแรกม.ค.2564 และพบได้ในญี่ปุ่น ซึ่งแพร่กระจายเร็ว และมีหลักฐานว่าเกิดการติดเชื้อซ้ำได้ ไม่ได้หมายความว่าสายพันธุ์อื่นไม่ติดเชื้อซ้ำ แต่อันนี้มีหลักฐาน นอกจากนี้ในสหรัฐมีสายพันธุ์ B.1427 และ B. 1.429 พบที่สหรัฐ อาจสัมพันธุ์กับการแพร่ระบาดเร็ว ส่วนอินเดีย B.1.617 พบในอินเดียยังต้องศึกษา เพราะรายละเอียดยังน้อย
“ณ วันนี้โลกกลับมาสู่วิกฤตโควิด19 เรียบร้อยแล้ว เราจะสบายๆไม่ได้ แนวโน้มจะสูงขึ้น สิ่งที่ต้องระวังในไทยคือ มีการกลายพันธุ์โควิด19 ซึ่งเข้ามาในไทยแล้วคือ สายพันธุ์อังกฤษ และรอบนี้เราพบผู้ป่วยหนักชัดเจน อย่างศิริราชคนไข้ที่เข้ามา 1 ใน 4 มีภาวะปอดอักเสบ และจำนวนคนไข้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นชัดเจนและเกิดแบบนี้ทั่วประเทศ กคนไข้ปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 1 ใน 4 ใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น อัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้น เราจะเห็นตัวเลข 2 หลัก คาดการณ์ได้เลยว่า เมื่อมีจำนวนผู้ป่วยหนักแบบนี้จะเจอผู้เสียชีวิตตัวเลข 2 หลัก ซึ่งสัมพันธ์กับผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เชื้อกลายพันธุ์ และรอบนี้จะเห็นคนไข้ที่เสียชีวิตมีอายุน้อยลง อายุเฉลี่ย 20-30 ปีก็เสียชีวิต ดังนั้น อย่าคิดว่า อายุไม่มากไม่เสียชีวิต จึงไปสนุกสนานไม่ป้องกัน ขอย้ำว่า คนป่วยอาการหนักเสียชีวิตใช้เวลาเพียง 7-10 วันเท่านั้น”
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญเมื่อผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยหนักเพิ่มทำให้ความต้องการใช้หอผู้ป่วยวิกฤต หรือไอซียูเพิ่มมากขึ้น จนอาจเกิดเหตุการณ์เตียงในหอผู้ป่วยวิกฤตไม่เพียงพอกับความต้องการ ขณะนี้เราพยายามขยายเตียงเต็มที่ แต่คนที่จะมาดูแลไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้เวลาอันสั้น เพราะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ ยาที่ต้องใช้ในผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อย่างฟาวิพิราเวียร์ ต้องให้เร็วทันที ซึ่งมีการใช้ยาเพิ่มขึ้นทั่วโลกก็เกิดการแย่งสั่งซื้อ หรือควบคุมการจำหน่ายของประเทศผู้ผลิต ยาบางตัวที่อินเดียผลิตเก็บไว้ใช้ในประเทศตัวเองแล้ว ทรัพยากรไม่เพียงพอกับความต้องการ อย่างเครื่องช่วยหายใจสำหรับรายที่หนักมากๆ อันนี้จะอยู่ในช่วงขาดแคลนได้
“ขณะนี้ไม่ใช่แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาควบคุมโรค แต่ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะบุคลากรสุขภาพทั้งหมด ไม่ใช่แค่แพทย์ พยาบาล ต่างช่วยกัน ประเด็นคือ ยุทธศาสตร์ต้นน้ำ ลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ให้ได้ ไม่เช่นนั้นทรัพยากรจะไม่เพียงพอ จำนวนผู้ป่วยจะลดได้ต้องช่วยกันสำหรับคนไทยทั้งประเทศ การจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ต้องอาศัยจิตสำนึก ความรับผิดชอบ วินัย ขอความกรุณาจากนี้พวกเราต้องช่วยกัน สิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างคือ การลักลอบข้ามแดนหลุดพ้นจากกระบวนการกักกัน เรื่องนี้ก็ต้องระวัง เพราะเชื้ออาจเข้ามาสู่ประเทศไทย และนำสายพันธุ์กลายพันธ์เข้ามาได้ เมื่อพวกเขาลักลอบการสอบสวนโรคยิ่งยาก”
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุด เพราะอย่างน้อย 25% ของประชากรที่ได้รับฉีดวัคซีน ยิ่งฉีดได้เร็วและฉีดได้มากจึงเป็นสิ่งจำเป็น และวัคซีนที่ฉีดทุกวันนี้ไม่ว่ายี่ห้อไหนรวมทั้งของไทยมีความปลอดภัย ส่วนผลอาการไม่พึงประสงค์ แม้เพียง 1 รายก็จะพูดไปเยอะ แต่ประโยชน์มีมากกว่า ยิ่งฉีดเร็วยิ่งปลอดภัย สำหรับความเสี่ยง 4 ประการที่น่ากังวล สงกรานต์ที่ผ่านมาเป็นการตอกย้ำชัดเจน คือ บุคคลเสี่ยง สถานที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง ช่วงเวลาเสี่ยง ดังนั้น บทเรียนที่ผ่านมาก็อยากให้เป็นเครื่องเตือน อย่าไปทำซ้ำอีกเลย ดังนั้น ขอฝากช่วยกันหยุดโควิด ไม่อยู่กันใกล้ชิด ร่วมใช้สิทธิฉีดวัคซีน และขอความกรุณาแรงหยุดการแอบอ้างบุคคลเพื่อผลประโยชน์แอบแฝง ตนไม่เคยมีการเผยแพร่คลิปเสียงใดๆที่ทำให้เข้าใจผิด ตนไม่เคยทำ ขอให้คนที่ทำอย่าทำร้ายคนไทยด้วยกัน
ฟังรายละเอียดเพิ่มเติมได้ผ่านทาง
- Mahidol University: https://www.facebook.com/mahidol
- Mahidol Channel: https://www.facebook.com/mahidolchannel
- Siriraj Channel: https://www.facebook.com/siriraj.channel
- 29 views