มีคุณหมอบางท่านออกรายงานว่าระลอกสามนี้อัตราป่วย-ตาย (คือจำนวนผู้เสียชีวิตหารด้วยผู้ป่วย) ลดลงเมื่อเทียบกับสองระลอกที่ผ่านมา ความจริงรายงานนั้นวิเคราะห์ผิดและเผยแพร่ต่อผิด ๆ ทำให้ผู้คนประมาทคิดว่าไม่เป็นไรหรอก ถึงป่วยก็ไม่ตายง่าย ๆ ความผิดแบบนี้เกิดซ้ำ ๆ หลายครั้งในระยะแรกที่โรคเริ่มระบาดอย่างรุนแรง เหตุผลง่าย ๆ ทางคณิตศาสตร์ คือ จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องรอเวลาสักพักหนึ่งจึงป่วยหนักแล้วเสียชีวิต เมื่อถึงช่วงเวลาที่ผู้ป่วยกลุ่มแรก ๆ เสียชีวิตก็จะตรงกับช่วงที่เกิดผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การคำนวณอัตราป่วย-ตาย โดยเอาผู้ตายวันนั้นหารด้วยผู้ป่วยในวันเดียวกันก็จะเป็นสัดส่วนที่ต่ำ ในทางตรงกันข้าม ในช่วงท้าย ๆ ของระลอกการระบาด ผู้ป่วยที่ป่วยมานานก็ทะยอยตาย ผู้ป่วยใหม่ก็ไม่ค่อยมี ก็จะทำให้ผลหารมีค่าสูง ตอนปลายระลอกเราจึงเห็นอัตราป่วย-ตายสูงขึ้น วิธีเอาตัวเลขคนตายตั้งหารด้วยผู้ป่วยในช่วงเดียวกันไม่ควรใช้กับโรคระบาดซึ่งมีวงจรขึ้น ๆ ลง ๆ วิธีคำนวณที่ถูก คือ ต้องติดตามผู้ป่วยแต่ละรายไปจนจบการรักษาแล้วเอาจำนวนผู้ตายในผู้ป่วยกลุ่มนี้หารด้วยผู้ป่วยที่ติดตามทั้งหมด ถ้าคำนวณถูกต้องแบบนี้ อัตราป่วยตายในระลอกใหม่จะไม่ต่ำกว่าระลอกเก่าแน่นอน
ผู้ป่วยใหม่ไม่ได้ตายทันที สมมติว่าผู้ป่วยจะป่วยอยู่ 7-10 วันก่อนแล้วจึงตาย ถ้าจำนวนคนป่วยเพิ่มขึ้นเท่าตัวในทุก ๆ สามวันเมื่อ 7-10 วันที่แล้ว จำนวนคนตายในสัปดาห์นี้ก็จะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในทุก ๆ สามวัน ผมจึงพยากรณ์ว่าเราจะหนีไม่พ้นจำนวนคนตายเป็นเลขสองหลักภายในไม่กี่วันข้างหน้า ตีซะว่าเรามีผู้ป่วยใหม่คงที่อยู่ที่ราว 1,500 คนต่อวัน อัตราป่วยตายกลาง ๆ คือ 2% เราก็จะเห็นรายงานคนเสียชีวิตวันละ 30 คน ในราวปลายสัปดาห์หน้า
คำถามที่น่าสนใจ คือ จำนวนคนป่วยและคนตายที่เริ่มจะอยู่ตัวแถว 1400-1500 คนต่อวัน เมื่อไหร่จะหมดลงเป็นปรกติซะที ถ้าคิดแบบง่าย ๆ คือ เราควบคุมโรคได้ดี คนก็จะป่วยน้อยลง คนตายก็จะน้อยลง เราทนทู่ซี้ยันโควิดระดับพันกว่าคนไปสักไม่กี่อาทิตย์หรือไม่กี่เดือนก็น่าจะ“เอาอยู่” ได้
แต่เรื่องนี้ไม่ตรงไปตรงมา เพราะจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในระยะนี้ทำท่าว่าอาจจะเกินความสามารถของระบบโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมทั้งโรงพยาบาลสนามและ hospitel ที่จะสร้างใหม่และรับได้ทัน ตรงนี้คือจุดวิกฤต เพราะเมื่อรับไม่ไหวหรือคุณภาพเลวลง ผู้ติดเชื้อบางส่วนก็จะไม่ค่อยเต็มใจถูกกักตัว อย่างดีก็เก็บตัวเองไว้ที่บ้าน ที่แย่กว่านั้นเมื่อไม่มีอาการหนักก็จะปล่อยเลยตามเลยใช้ชีวิตตามปรกติ บางคนก็ไม่มาตรวจเอาซะเลย ตัวเลขที่เราเห็นในรายงานจึงต่ำกว่าความเป็นจริง โรคก็จะแพร่ขยายออก “Hospitel” ซึ่งเปิดใหม่ ๆ ต้องการการอบรมฝึกหัดและตรวจสอบซึ่งต้องใช้เวลา จำนวนพยาบาลที่จะประจำ hospitel น่าจะไม่พอเมื่อเทียบกับความต้องการของประชาชนในเมืองหลวง ความเข้มงวดในการกักตัวก็มีแนวโน้มที่จะหย่อนยาน เราจะสร้างโรงพยาบาลสนามได้ในอัตราความเร็วเท่ากับการระบาดของโรค คือ เพิ่ม 1,500 เตียงต่อวันต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ ได้จริงละหรือ ในระลอกสามนี้ผู้ป่วยมีฐานะดีอายุมากกว่าผู้ป่วยที่เป็นคนงานในระลอกสองที่สมุทรสาคร โรคร่วมก็จะมากกว่า ต้องย้ายจาก hospitel และ โรงพยาบาลสนามเข้าโรงพยาบาลจริงสมมติว่า 5% ก็จะเท่ากับ 75 คนต่อวัน แต่ละคนต้องอยู่ในโรงพยาบาลจริงอีก 7-14 วัน ถ้าไม่ตายเสียก่อน โรงพยาบาลจะมีหอผู้ป่วยและไอซียูและบุคลากรรับมือไหวหรือ ระบบโรงพยาบาลก็จะล้มเหลวเหมือนที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในยุโรป ประเทศไทยโดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร อาจจะขยับเข้าใกล้จุดนั้นเข้าไปทุกที ติ๊กต็อก ติ๊กต็อก
ผมเดาว่า รัฐบาลกำลังซื้อเวลารอดูอีกสองสัปดาห์ เพราะปิดเมืองแต่ละครั้งมีความเสียหายทางเศรษฐกิจและโดนด่ามาก แต่คราวนี้ ถ้าผมเดาถูก รัฐบาลอั้นได้อย่างมากแค่สัปดาห์เดียว โมเมนตัมของเชื้อจะออกฤทธิ์และครอบครองไอซียูและโรงพยาบาลทั้งหมดจนระบบเป็นอัมพาต หมอพยาบาลจะร้องระงม เราจะเห็นและรู้สึกถึงสภาพของยุโรปในเมืองไทยจริง ๆ
ตอนนี้มีทางออกอะไรเหลือบ้าง ?
ประการแรก ข้อดี คือ รัฐบาลได้เร่งฉีดวัคซีนให้หมอและพยาบาลทั่วประเทศแล้ว ฉีดได้วันละราวหนึ่งแสนห้าหมื่นคนซึ่งไม่เลวทีเดียว ขอให้รัฐบาลเทวัคซีนตรงหน้าตักทั้งหมดให้โรงพยาบาลในช่วงนี้ มีเท่าไหร่ฉีดให้หมด อย่างน้อยให้กองทัพชุดนี้มีโครงเสื้อเกราะไว้ก่อน แต่คุณหมอคุณพยาบาลที่ได้วัคซีนไปอย่าได้ชะล่าใจ ตอนนี้ฉีดไปเพียงเข็มเดียวและเวลาผ่านไปเพียงนิดเดียว คงป้องกันโควิดได้บ้างแต่ไม่เท่าไหร่ ถึงแม้จะมีรายงานว่าการฉีดวัคซีนหลังรับเชื้อก็ยังช่วยลดความรุนแรงได้ ก็อย่ารับเชื้อเลยดีกว่า ถนอมเนื้อถนอมตัว รอเข็มสอง ได้ครบสองเข็มแล้วหลายอาทิตย์นู้น เกราะอ่อนจึงจะค่อยกลายเป็นเกราะแข็ง ลดแรงปะทะของกระสุนไวรัส
คุณหมอคุณพยาบาลครับ ไม่ต้องกลัวเรื่องผลข้างเคียงหรอกครับ มันมีแน่ ๆ วันนี้ผมไปจุดฉีดวัคซีนมา ก็เห็นทั้งหมอและพยาบาลจำนวนหนึ่ง รอเข้าคิวอยู่ บางคนยังไม่ทันได้ฉีดก็หายใจหอบ (hyperventilate) แล้ว บุคลากรหนุ่ม ๆ บางคนก็ความดันโลหิตพุ่งขึ้นไปถึง 190 มม.ปรอท บางคนฉีดแล้วก็เป็นลม แต่ในที่สุดก็3
เรียบร้อยดีทุกคน ทั้งหกรายที่ระยองและอีกรายที่ลำปางในที่สุดก็ไม่เป็นไร ไม่ว่าหมอผู้เชี่ยวชาญสาขาไหนจะให้ความเห็นแตกต่างกันอย่างไร บุคลากรเหล่านั้นก็กลับมาทำงานได้ตามปรกติ เรื่องแบบนี้มีเอกสารขององค์การอนามัยโลกที่รายงานจากทั่วโลก เค้าบอกว่าป้องกันได้โดยการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีการทดลองแบบ randomized control trial (RCT) สรุปว่าการออกกำลังกายเบา ๆ จะช่วยลดอุบัติการณ์ได้ คุณหมอส่วนหนึ่งบอกว่าที่ระยองเป็นอุปาทานหมู่ แต่ผมว่าอุปาทานบางครั้งก็ควบคุมได้ยาก หมอเองหลายคนก็ไม่สามารถควบคุมอุปาทานของตัวเองได้ เอาเถอะครับ มันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อุปาทานแบบนี้ก็ไม่ค่อยมีอันตรายมากอะไรนัก
กลับมาเรื่องรัฐบาลกับประชาชนที่ยังไม่มีวัคซีน ผมว่ารัฐบาลต้องคิดให้หนักแน่น ตัดสินใจให้ทันเวลา ถึงเวลาต้องส่งสัญญาณให้ประชาชนเตรียมตัวอย่างน้อยก็ต้องเผื่อไว้ อย่ามัวแต่ฝันหวานรอวัคซีนสารพัดยี่ห้อที่กำลังออกไปแสวงหา ในสภาพความโกลาหลแบบนี้กว่าจะได้วัคซีนมาก็อาจจะสายไป
มาตรการต่าง ๆ ในเดือนเมษายน 2564 เบากว่ามาตรการที่ใช้ในสองระลอกแรก ในขณะที่เชื้อสายพันธุ์ใหม่แพร่ได้รุนแรงกว่า มาตรการในปัจจุบันจึงไม่เพียงพอในการหยุดโมเมนต้มของโควิดระลอกสาม ทางแก้เฉพาะหน้าที่รัฐบาลน่าจะหลีกเลี่ยงได้ยาก คือ คงต้องเพิ่มมาตรการพิเศษมากกว่านี้ ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปก็ไม่มีใครอยากใช้มาตรการที่ใช้อยู่หรอกครับ แต่มันก็หลีกไม่ได้
ถ้าทำอะไรไม่ได้ก็เตรียมตัวเตรียมใจไว้นะครับ ตั้งสติให้รู้ตัวว่าจะมีอุปาทานอะไรเกิดขึ้นกับเราบ้างในเร็ว ๆ นี้
ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ 22 เมษายน 2564
- 46 views