กรมการแพทย์ขออภัยหากผู้ป่วยโควิดรอเตียงไม่ได้รับความสะดวกรวดเร็ว วอนเข้าใจสายด่วน 1668 ทำงานตลอด ต้องใช้จิตอาสาเฉพาะด้านสาธารณสุข รับสาย ทำงานเต็มที่ พร้อมซักข้อมูลละเอียดยิบ ขณะเดียวกันพบข้อมูลประชาชนตรวจแล็บเอกชนไร้มาตรฐาน พบผลบวกปลอม พร้อมแก้ปัญหากลุ่มสีเหลือง รอการระบายกลุ่มสี เปิดหอผู้ป่วยโควิดส่วนขยาย ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูฯ จ.ปทุมธานี อีก 200 เตียง

 

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2564 ที่กรมการแพทย์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด ว่า กรมการแพทย์มีการเปิดสายด่วนเฉพาะกิจขึ้นมาคือ 1668 ได้ประมาณ 2 สัปดาห์ มี 20 คู่สาย โดยใช้จิตอาสา ซึ่งในการรับสาย พูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อจัดหาเตียง ต้องใช้เวลาในการสอบถามข้อมูล ตรวจสอบแล็บ 1 คนใช้เวลาเฉลี่ย 15 – 30 นาที ก่อนจะส่งต่อไปให้อีกทีมเพื่อเคลียร์ข้อมูล และส่งต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการประเมินอาการและแบ่งอาการออกเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง จากนั้นจะประสานหาเตียงให้ ระหว่างรอจะมีการโทรติดตามอาการ หากเป็นสีเขียวจะโทรวันเว้นวัน สีเหลืองติดตามวันละ 2 ครั้ง สีแดงวันเว้นโทรทุกๆ 4 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ที่มีการระบุว่ามีการโทรเข้าแล้วสายว่างแต่ไม่มีคนรับสายนั้น ก็ต้องขอชี้แจงว่าแท้จริงแล้วเจ้าหน้าที่ติดสายอยู่ จึงอยากให้เข้าใจ แต่ยังมีสายด่วนที่เปิดให้บริการประชาชนอีก คือ สายด่วนสปสช. 1330 มี 100 คู่สาย สายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669

อย่างไรก็ตาม ที่มีการสะท้อนและให้คำแนะนำเข้ามาเพื่อที่เราจะได้ปรับปรุงต่อไป เพราะประโยชน์ก็ตกอยู่กับประชาชนทั้งสิ้น ส่วนที่ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกต้องขออภัยจริงๆ ซึ่งขณะนี้ก็ได้เปิดรับอาสาสมัครเพิ่ม แต่อาสาสมัครไม่ใช้ว่าใครมาทำก็ได้ เราต้องใช้บุคลากรสาธารณสุข ซึ่งวันนี้แต่ละคนก็มีภาระงานมากจากการที่พบผู้ติดเชื้อกระจายอยู่ วันนี้เรามีอาสาสมัครเพิ่มเข้ามาเป็น 230 คนแล้ว ทั้งนี้ เรามีอีกช่วงทางหนึ่งคือระบบไลน์ “สบายดีบอต @sabaideebot” ซึ่งเป็นระบบที่ประชาชนสามารถส่งข้อมูลเข้ามาฝากไว้ แล้วจะมีเจ้าหน้าที่ของเราติดต่อกลับไป

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.ทุกสังกัด กำลังเร่งเคลียร์ผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นแล้วกลับมาอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว โดยให้ออกมาอยู่ในรพ.สนาม หรือ ฮอสพิเทล เพื่อทำให้เตียงใน รพ.ว่างรองรับสำหรับผู้ป่วยลุ่มสีแดงที่มีอาการ ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องเปิด Cohort-Ward ขึ้นมาเพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการในกลุ่มสีเหลืองเข้าไปรักษา เนื่องจากข้อกำหนดขณะนี้ ผู้ป่วยสีแดงและเหลืองต้องได้รับรักษาในรพ.เท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติจริง คือ เราต้องเร่งส่งคนมีอาการสีแดงเข้าไปรพ.ให้เร็ว ทำให้กลุ่มสีเหลืองต้องรอ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง จึงมีการเปิดหอผู้ป่วยโควิดส่วนขยาย ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี(สถาบันธัญญารักษ์ รังสิต) จ.ปทุมธานี อีก 200 เตียง

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีมีดรามาว่าต้องให้คนไข้โพสต์ข้อความลงโซเซียลมีเดีย ระบายความในใจถึงปัญหาไม่มีเตียงก่อนถึงจะได้รับการจัดสรรเตียงนั้น จุดนี้ ต้องขอทำความเข้าใจว่า ทุกอย่างมีระบบบริหารจัดการ ซึ่งทุกฝ่ายทำงานกันเต็มที่ และจะได้ประสานรพ.สนามสังกัดกระทรวงกลาโหม รับดูแลในผู้ป่วยส่วนนี้แทน เพื่ออำนวยความสะดวกให้

“ผมขอประณามแล็บที่ไม่มีมาตรฐานแต่โฆษณาลดราคา ค่าตรวจหาเชื้อ 50% และอื่นๆ แต่เมื่อไปตรวจกลับใช้วิธีที่ไม่เป็นมาตรฐานเช่น ตรวจเลือด ซึ่งจะทำให้ผลคลาดเคลื่อน หรือผลบวกปลอม แต่เมื่อผู้ป่วยเข้าไปอยู่ใน รพ. แล้วทั้งที่ตัวเองไม่ได้ติดเชื้อ ก็เสี่ยงที่จะไปรับเชื้อมาได้ เรื่องนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพก็ไล่ปิด และออกเกณฑ์ให้แลบตรวจต้องจับคู่รพ.เพื่อให้ผู้ที่มาตรวจที่แลบเอกชนแล้วต้องมีคนรับผิดชอบดูแลส่งต่อ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ด้าน นพ.สกานต์ บุนนาค ผอ.สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุด 1668 รับสายจากประชาชน 3,600 สาย เมื่อเคลียร์ข้อมูลแล้วพบว่าเป็นผู้ป่วยจริง 1,700 ราย ซึ่งเราได้จัดหาเตียงให้แล้ว 1,300 รายและยังอยู่ในระหว่างการจัดหาอีก 400 ราย อย่างไรก็ตาม ในจำนวนที่รอเตียงจะเป็นผู้ป่วยสีเขียว 2 ใน 3 ส่วนที่ระหว่างการรอเตียงแล้วอาการเปลี่ยนแปลงจากสีเขียวเป็นอาการสีเหลือมีประมาณ 10%

อีกปัญหาหนึ่งคือมีผู้ป่วยบางคนที่ประสานเข้ามาแต่ไม่มีเอกสารยืนยันผลการตรวจรับรองการติดเชื้อ บางคนบอกว่าไปตรวจแล็บเอกชนมา ไม่มีเอกสารให้ มีเพียงเจ้าหน้าที่ที่โทรมาบอกว่าติดเชื้อแล้วเท่านั้น ทำให้เราต้องตรวจสอบอีกมาก ไม่เช่นนั้นอาจจะกลายเป็นการเอาคนที่ไม่ได้ติดเชื้อไปอยู่รวมกับคนติดเชื้อ ดังนั้นประชาชนที่ไปตรวจแล็บ หากแล็บแจ้งว่าติดเชื้อก็ขอให้ขอเอกสารรับรองให้ด้วย ที่เราต้องตรวจสอบเข้มงวดเพราะในจำนวนผู้ที่โทรเข้ามาสายด่วน 1668 พบว่ามีประมาณ 10 ราย ที่ไปตรวจแล็บที่ไม่ได้มาตรฐานแล้วให้ผลบวกปลอม

“การตรวจที่เป็นมาตรฐานเพื่อยืนยันการตรวจหาเชื้อโควิด -19 ต้อง เป็นวิธีการสวอฟ หรือเก็บตัวอย่างเชื้อในลำคอเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช้วิธีการเจาะเลือด แล้วตรวจด้วยแรบปิดเทสต์ หรือชุดทดสอบอย่างง่าย ซึ่งไม่ใช่การตรวจหาโควิด-19 การไปตรวจแบบนี้” นพ.สกานต์ กล่าว