อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ เผยฤทธิ์ฟ้าทะลายโจรไม่สามารถป้องกันโควิด19 แต่ใช้เสริมภูมิคุ้มกัน แนะวิธีรับประทานในกลุ่มผู้ป่วยอาการน้อย เพิ่มเสริมภูมิฯ ล่าสุดรพ.สนามธรรมศาสตร์นำไปใช้ เมื่อมีความก้าวหน้าจะเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ ขณะที่ทางเลือกอื่นๆ ทั้ง “กัญชา-กระชาย” ไม่มีงานวิจัยชัดป้องกันหรือฆ่าโควิด19
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงกรณีประเด็นฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิด19 หรือรักษาผู้ป่วยโควิดได้หรือไม่ ว่า สำหรับกรณีว่าฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิดได้หรือไม่ จริงๆเรื่องนี้มีการศึกษาในระดับนานาชาติ ทั้งจีน อินเดีย พบว่า ฟ้าทะลายโจรมีสารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์(Andrographolide) ซึ่งในหลอดทดลองมีฤทธิ์ต้านไวรัสได้อย่างน่าสนใจ โดยปีที่ผ่านมาทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการทดลองว่า เมื่อมาอยู่ในเซลล์ร่างกายจะป้องกันโคโรนาไวรัสได้หรือไม่ ปรากฏว่า ไม่สามารถป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด และต้องมีมาตรการป้องกันโรคเช่นเดิม
พญ.อัมพร กล่าวอีกว่า เมื่อป้องกันไม่ได้จะทำอย่างไรในแง่ของการศึกษาฟ้าทะลายโจรนั้น พบว่า สารแอนโดรกราโฟไลด์ในฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ฆ่าไวรัสในหลอดทดลอง และยังฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางตัว อีกทั้ง ฟ้าทะลายโจรยังเป็นยาลดไข้ที่ดี โดยได้ใช้เป็ยาในบัญชียาหลักในการลดไข้ตั้งแต่ปี 2559 นอกจากนี้ ยังค้นพบว่า ในโควิด19 มีภาวการณ์อักเสบ จึงพบว่าฟ้าทะลายโจรลดการอักเสบ และส่งเสริมภูมิคุ้มกันได้ ดังนั้น กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้รับความร่วมมือจากหลายรพ.ในการศึกษาวิจัย 9 รพ. มีผู้ป่วยจำนวน 304 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยอาการน้อยให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจรในขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน ซึ่งพบว่าผู้ป่วยอาการดีขึ้น โดยไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง อาจมีเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือถ่ายเหลว แต่ไม่มาก จึงคิดว่าน่าจะเป็นทางเลือกในการใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ขณะเดียวกันได้ขยายการใช้ยานี้ในรพ.สนาม โดยรพ.ธรรมศาสตร์ได้นำไปใช้ เมื่อมีความก้าวหน้าจะเผยแพร่ต่อไป
“แม้จะมีประโยชน์ แต่ฟ้าทะลายโจรก็มีข้อห้ามในการใช้เช่นกัน เพราะยาไม่ใช่ขนม จำเป็นต้องใช้อย่างถูกต้อง เช่น ผู้ป่วยรายใดมีประวัติเคยแพ้ฟ้าทะลายโจร หากรับประทานครั้งแรกมีผื่นคันขึ้นต้องหยุดใช้ หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตรก็ไม่ควรใช้ รวมทั้งผู้ป่วยโรคตับ โรคไตก็ต้องหลีกเลี่ยง และท่านที่มีโรคประจำตัว และรับประทานยาประจำ โดยเฉพาะยาลดการแข็งตัว อย่างยาวาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ซึ่งเป็นยาที่จ่ายให้กับผู้ป่วยอัมพฤตอัมพาต หรือเส้นเลือดหัวใจตีบต้องระวัง และผู้ป่วยที่รับประทานยาลดความดันโลหิตก็ไม่แนะนำให้ใช้ร่วมกัน” อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าว
พญ.อัมพร กกล่าวถึงการใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ว่า เป็นข้อแนะนำได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องรับประทานฟ้าทะลายโจรประมาณ 20 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน หยุด 2 วัน ต่อเนื่องไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งข้อแนะนำนี้เกิดจากการศึกษาที่ประเทศชิลี โดยมีการติดตามผลผู้รับประทานฟ้าทะลายโจรเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันพบว่า เกิดติดเชื้อไข้หวัดน้อยลงอย่างชัดเจน ซึ่งก็ต้องมีการศึกษาต่อไป อย่างไรก็ตาม ด้วยระดับยาที่ใช้ระดับนี้หากไม่มีข้อห้ามก็จะเป็นประโยชน์ได้
นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียมีการแชร์ข้อมูลว่า กล้วยดิบบดแห้งป้องกันโควิดได้หรือไม่ ต้องเรียนว่าไม่มีหลักฐานใดๆ ว่ากล้วยดิบป้องกันได้ จึงไม่จริง หรือแม้แต่น้ำมะนาวกลั้วคอป้องกันโควิด ก็ไม่ได้เช่นกัน ส่วนสมุนไพรอื่นๆ อย่างกระชาย แม้มีการศึกษาและได้ผลลัพธ์คล้ายคลึงฟ้าทะลายโจร แต่ก็ยังไม่สามารถออกแบบกระชายให้สะดวกต่อการรับประทานในระดับยาที่สูงพอในการต้านไวรัสได้ เพราะค้นพบว่า กระชายครึ่งกิโลกรัมถึงจะทำให้การรับประทานต่อครั้งไปต้านไวรัส แต่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ จึงต้องมีการศึกษา เช่นเดียวกับกัญชาก็อาจเป็นทางเลือกในอนาคต แต่ปัจจุบันยังไม่ได้
หากท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ฟ้าทะลายโจร สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนฟ้าทะลายโจร โทร. 065 504 5678 หรือ ช่องทาง www.facebook.com/dtam.moph และ Line @DTAM
- 1379 views