กรมการแพทย์ ร่วมทุกฝ่าย โรงเรียนแพทย์ กทม. รพ.เอกชน จับมือแก้สารพัดปัญหา ทั้ง “เตียง-รถรับส่ง-รอนาน” ย้ำปัญหาไม่มีเตียง เหตุตรวจแล็บเอกชนไม่มีเครือข่าย รพ.รับผู้ป่วย ขณะนี้ สบส.เข้าแก้ไขแล้ว ส่วนเตียงรวมล่าสุดมีว่างกว่า 9 พันเตียง ย้ำยังไม่ใช่แนวทางแยกกักตัวที่บ้าน
15.00 น. วันนี้ 19 เมษายน 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงกรณีการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด 19 ว่า ปัญหาคนไข้ไม่ได้นอนโรงพยาบาล เพราะอะไร ซึ่งมีหลายคำถาม หลายปัญหา เช่น มีหลายท่านตรวจโควิดในแล็บเอกชน และตรวจเสร็จให้ไปรอที่บ้าน เมื่อโทรแจ้งผลบวก แต่แล็บไม่มีรพ. นอนรักษาไม่ได้ ขณะที่รพ.เอกชนบางแห่ง ระบุว่าเตียงไม่มี ไม่ขยายเตียง นอกจากนี้ ยังมีคำถามว่า การค้นหาเชิงรุกไปตรวจเชื้อ และให้กลับบ้าน เมื่อเจอเชื้อก็หาเตียงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า แนวทางการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด ต้องได้รับการดูแลของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หากระหว่างรอ เราจะมีคนโทรเยี่ยม โทรสอบถาม นอกจากนี้ โรงพยาบาล แล็บเอกชน ที่ตรวจพบโควิด ต้องประสานการดำเนินการในเครือข่ายเพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกราย ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) เข้าดำเนินการแก้ไข
(อ่านต่อ : สบส.แก้ปัญหาตรวจโควิดแล็บเอกชน ไม่ประสานหาเตียง ถือว่าผิดกฎหมาย)
ส่วนกรณีการตรวจเชิงรุก (Active cases finding : ACF) ที่มีระดับความรุนแรงสีเขียว คือ ไม่มีอาการอะไรมาก มอบหมายให้ กทม.รับเข้าไว้ในรพ.สนาม ส่วนเคสที่ไปรับบริการไม่ว่าจากแล็บ หรือจากไหนก็ตาม หากความรุนแรงสีเขียวจะรับไว้ในฮอสพิเทล แต่หากความรุนแรงระดับสีเหลือง หรือสีแดง ต้องรับไว้ในรพ. อีกทั้ง ให้รพ.ทุกสังกัดสำรองไอซียู โดยกรมการแพทย์เป็นหน่วยบริหารจัดการร่วมกับทางโรงเรียนแพทย์ เนื่องจากต้องเตรียมพร้อม เพราะคาดการณ์ว่า ผู้ป่วยที่เกิดขึ้นมากและในสัปดาห์นี้อาจมีบางส่วนเป็นผู้ป่วยหนักต้องมีห้องไอซียูรองรับ
“สรุปเตียงพอหรือไม่ ขอนำเรียนว่า ในรอบที่ผ่านมามีผู้ป่วยพันกว่าราย อยู่ในกทม.กว่า 200-300 รายต่อวัน แต่จริงๆยังมีคนไข้ที่ไปแล็บด้วยแต่ไม่ได้รายงานตัวเองอยู่ในระบบ และแอดมิทเข้ามา อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังมีเตียงอยู่ 6-7 พันเตียง แต่ขณะนี้(วันที่ 18 เม.ย.) มีเตียงรวมถึง 9,317 เตียง นี่คือ การเบ่งเตียง หรือพองเตียง ทั้งกรมการแพทย์เองที่ขยายเตียงผ่าน รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน รพ.นพรัตนฯ รพ.ในโรงเรียนแพทย์ รพ.เอกชน ทางกทม.ก็ขยายรพ.สนาม จะเห็นว่า มีเตียงว่าง แต่ก็ยอมรับว่า ประชาชนที่ร้องเรียนมาได้รับผลกระทบจริง เพราะอย่างที่บอกเนื่องจากไปตรวจแล็บ ไม่มีเจ้าของไข้ เป็นต้น” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
(ข่าวเกี่ยวข้อง : แบ่งระดับสีผู้ป่วยโควิด19 “เขียว-เหลือง-แดง” เพื่อบริหารดูแลอย่างเป็นระบบ)
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาว่า เมื่อประสานเตียงได้ แต่กลับไม่มีรถรับผู้ติดเชื้อส่งโรงพยาบาลนั้น ขณะนี้ทางท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการ สธ. สั่งการให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ไปหาทางเพิ่มรถนำส่งที่สามารถแบ่งคนไข้เป็นตอนหน้า และตอนหลังได้ มาช่วยจัดการ ขณะนี้ได้แล้ว 50 คันจาก 3 บริษัทในระยะแรกพื้นที่กทม. จากนั้นจะเพิ่มเป็น 100 คันทั่วประเทศ ซึ่งก็จะมีการนำส่งผู้ป่วยเป็นเวร โดยกรณีนี้จะอยู่ในความดูแลของ 1669 ศูนย์เอราวัณ
“ส่วนกรณีที่ว่าเตียงไม่พอ และกรมการแพทย์ออกแนวทางให้ผู้ป่วยแยกตัวที่บ้านนั้น เรื่องนี้เป็นแนวคิดว่า หากระบาดรอบใหม่ หรือการระบาดรอบ 4 มามากกว่านี้ สมมติเป็นหมื่นรายมากกว่ารอบ 3 จึงเตรียมไว้ล่วงหน้า กรณีผู้ป่วยรอที่บ้านว่า ต้องทำอย่างไร แต่เราก็คาดว่าไม่น่าจะถึงวันละหมื่นราย ซึ่งหากพี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือช่วยเหลือกันก็จะช่วยกันได้ ซึ่งหากมีการแยกตัวที่บ้านจริงๆ หรือที่เรียกว่า Home Isolation ก็จะมีการเตรียมระบบต่างๆ แต่ตอนนี้ยังไม่มีการใช้แนวทางดังกล่าว” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขอย้ำสายด่วน 1669 (ศูนย์เอราวัณ เป็นหลักในการจัดหาเตียงในกทม. ส่วน 1668 สายด่วนกรมการแพทย์(เฉพาะกิจ) รับสาย 08.00-22.00 น. ทุกวัน โทรเยี่ยมผู้ติดเชื้อช่วยประสานเตียง และ 1330 สายด่วน สปสช. (รับสายตลอด 24 ชั่วโมง) ประสานจัดหาเตียง หรือหากติดต่อไม่ได้ เพราะสายเยอะมาก ให้ติดต่อไลน์ “สายดีบอต” อย่างไรก็ตาม สุดท้ายขอฝาก 3 ส สติ สื่อสาร สามัคคี ทีมประเทศไทยจะฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
(ข่าวเกี่ยวข้อง : เปิดปัญหาคนไข้โควิดปฏิเสธ รพ.สนาม ขณะที่หากสถานการณ์รุนแรงมากเตรียมตั้งไอซียูสนาม)
- 91 views