สถานการณ์โควิดระลอกใหม่เมษายน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. รอบ 24 ชั่วโมงพบติดเชื้อรายใหม่ 789 ราย สะสมรอบนี้ 2,795 ราย พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 รายเป็นรายที่ 97 ชายอายุ 68 ปี นครปฐม มีโรคเบาหวาน ความดัน มีประวัติติดเชื้อจากผู้ป่วยก่อนหน้านี้ ซิโนแวคเข้าไทยอีก 1 ล้านโดส

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา โฆษกกรมอนามัย รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยและความคืบหน้าการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อจากการระบาดระลอกใหม่เมษายน 2564 ซึ่งจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป ซึ่งในรอบ 24 ชั่วโมง พบผู้ติดเชื้อใหม่ 789 ราย อยู่ในระบบบริการ 522 ราย การคัดกรองเชิงรุก 259 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าสถานกักกันโรคอีก 8 ราย โดยการติดเชื้อระลอกใหม่เม.ย. พบผู้ติดเชื้อสะสม 2,795 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,697 ราย และมีผู้ที่รักษาหายแล้ว 33 ราย และผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 รายซึ่งเป็นผู้ป่วยเก่าตั้งแต่เดือนก.พ. ดังนั้น ยอดผู้เสียชีวิตในการระบาดโรคใหม่เม.ย.64 สะสมที่ 3 ราย

นพ.โอภาส กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายที่ 97 ของประเทศไทย เป็นชายไทย อายุ 68 ปี จ.นครปฐม มีโรคประจำตัวคือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยเมื่อวันที่ 7 ก.พ. มีอาการไข้ ไอเจ็บคอ จึงไปหาหมอที่คลินิก ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ก.พ. ผลตรวจพบเชื้อ โดยสาเหตุมาจากมีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อยืนยันรายก่อนหน้า ต่อมาก็มีการรักษาในรพ. ตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ. การรักษาค่อนข้างดี ตรวจไม่พบเชื้อหลายครั้ง แต่ผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุมีภาวะแทรกซ้อน ทำให้มีการติดเชื้อซ้ำหลายครั้ง โดยผู้ป่วยรายนี้เสียชีวิตในวันที่ 4 เม.ย. จากอาการไตวายและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ

"ในกรณีนี้เรารายงานช้าเนื่องจากหากรักษาหายแล้ว ตรวจไม่พบเชื้อ ยังนับว่าเป็นผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ ตรวจสอบและมีข้อสรุปว่า รายนี้ถึงแม้ว่าการรักษาโควิด-19 หายแล้ว แต่อาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นจากตัวโรค จึงนับว่าเป็นผู้เสียชีวิตจากโควิด-19" นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 9 เม.ย. มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 470,301 ราย และผู้ได้รับเข็มที่ 2 อีก 67,079 ราย หลายท่านอาจสงสัยว่าทำไมถึงฉีดช้า จึงต้องเรียนว่าในช่วงนั้นเรามีวัคซีนอยู่แค่ 1 ล้านโดส และผู้ฉีดวัคซีนจะต้องรับคนละ 2 โดส ซึ่งจะครอบคลุมประชากร 5 แสนคน อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนของแต่ละพื้นที่ทำได้ค่อนข้างดีมาก เช่น ชลบุรี สามารถฉีดวัคซีนได้ถึง 10,000 โดสต่อวัน ภูเก็ต สามารถฉีดได้ถึง 14,000 โดสต่อวัน

"ดังนั้นศักยภาพการฉีดวัคซีนของประเทศไทยไม่มีปัญหา แล้วที่สำคัญคือเราต้องเร่งหาวัคซีนเพิ่มเติมให้ได้ ซึ่งเราได้รับวัคซีนซิโนแวค มาอีก 1 ล้านโดส ซึ่งจะเข้ากระบวนการตรวจสอบต่อไป และมีข่าวดีอีกว่า จะมีวัคซีนเข้ามาเพิ่มเติมให้เราอีก 5 แสนโดสจากซิโนแวค ในปลายเดือน เม.ย. นี้" นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อ 2,627 ราย ซึ่งแนวโน้มของผู้ป่วยจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ แต่หากเทียบกับช่วงที่มีการระบาดมากๆ เมื่อปลายปี 2563 ก็ยังถือว่าไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม เราจะต้องจับตาดูแนวโน้ม แจ้งเตือนและให้คำแนะนำกับประชาชน

นอกจากนี้ นพ.โอภาส กล่าวว่า แผนที่ประเทศไทยพบว่ามีจังหวัดที่เป็นสีแดงค่อนข้างเยอะ เพราะสัปดาห์นี้เราพบผู้ติดเชื้อในช่วง 3 วันที่ผ่านมา รวม 62 จังหวัด ดังนั้นในการระบาดโรคใหม่เม.ย.64 ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก้อนสถานบันเทิง มีการติดเชื้อแบบก้าวกระโดด พบผู้ติดเชื้อเกือบทุกจังหวัดของประเทศไทย

"ในการระบาดรอบใหม่เม.ย.2564 มีจุดกระจายโรค คือ กรุงเทพมหานคร(กทม.) พบผู้ติดเชื้อแล้ว 1,058 ราย จังหวัดอื่นๆ เช่น นราธิวาส 291 ราย ที่ติดเชื้อในสถานกักกันผู้ต้องกัก ซึ่งสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ที่ต้องจับตาคือ เมืองท่องเที่ยวเนื่องจากเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ไม่ว่าจะเป็น สมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อ 228 ราย ชลบุรี 205 ราย เชียงใหม่ 194 ราย สมุทรสาคร 98 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 92 ราย " นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า กรณีการพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนในสถานต้องกักบางเขนและสวนพลู ซึ่งในขณะนั้นมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(ตม.)บางเขน ข้อมูลล่าสุดวันนี้ สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี ผู้ต้องกักที่ต้องอยู่ใน รพ.สนาม รวมทั้งสิ้น 200 ราย ขณะนี้รักษาตัวจนหายดีไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้ว 82 รายซึ่งจะอนุญาตให้ย้ายกลับไปที่ห้องกักเดิม ส่วนอีก 118 ราย ยังคงรักษาอยู่ในรพ.สนาม

นพ.โอภาส กล่าวว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี พระราชทานรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย ให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค 20 คัน และรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ 5 คัน โดยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง(สปคม.) ได้นำไปคัดกรองกลุ่มเสี่ยงในย่านทองหล่อ เขตวัฒนา เก็บตัวอย่างไป 1,700 ราย นอกจากนี้ ยังได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ที่ชายแดน อย่างเช่น อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน จ.นราธิวาส อ.แม่สอด จ.ตาก จ.ภูเก็ต เป็นต้น

นพ.เอกชัย กล่าวว่า ข่าวดีวันนี้เวลา 5.30 น. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.วิฑูรย์ ด่านไพบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ได้ไปรับมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากบริษัทซิโนแวค ประเทศจีน จำนวน 1 ล้านโดส เดินทางด้วยสายการบิน China Airline เที่ยวบิน CA603

"หลังจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เข้าไปตรวจสอบคุณภาพและรับรองรุ่นการผลิต (Lot release) หลังจากนั้นจะจัดส่งให้กรมควบคุมโรค เพื่อกระจายวัคซีนไปยังประชาชนในจังหวัดต่างๆ โดยเร็วที่สุด และสร้างภูมิคุ้มกันหมูในประเทศไทยให้เร็วที่สุด" นพ.เอกชัย กล่าว