“หมอธีระวัฒน์” เผยวิธีการกักตัวที่บ้านอย่างไร ให้ครอบครัวปลอดภัย ไม่ใช่อยู่บ้าน แต่กลับสังสรรค์กันอย่างใกล้ชิด เมื่อเสี่ยงต้องกักตัว ต้องกักอย่างจริงจัง

เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟชบุ๊กธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุถึงการกักตัวที่บ้าน ซึ่งเป็นการโพสต์จากข้อความที่เคยโพสต์ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุว่า เขียนเมื่อ 10/3/63 ไม่คิดว่าสถานการณ์ 9/3/64 จะเลวร้ายกว่าปีที่แล้ว

ก. ไม่ให้ไปทำงาน

ไม่ใช่หมายความว่าให้ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ซึ่งถ้าติดเชื้อก็สามารถแพร่เชื้อได้ก่อนมีอาการด้วยซ้ำ และแม้มีอาการก็อาจน้อยนิด แต่ปล่อยเชื้อได้

ข. ให้อยู่บ้าน

ไม่ใช่หมายความว่า อยู่พักผ่อนสังสรรค์กันในครอบครัวอย่างใกล้ชิดชวนเพื่อนมาจัดปาร์ตี้

ค. แล้วอยู่บ้านอยู่ยังไง?

แยกอยู่คนเดียวห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 2 เมตร ควรใส่หน้ากากอนามัยชนิดจริงๆ ไม่ใช่ทำจากผ้า เพราะถือว่าขณะนี้ตนเองเป็นคนปล่อยเชื้อได้

แยกจานข้าว ช้อนส้อม แก้วน้ำ 

เมื่อเข้าห้องน้ำ ถ้าอยู่บ้านหรูหรา ก็ยึดห้องน้ำหนึ่งห้องไปเลย

แต่ถ้าเราเป็นคนธรรมดาต้องใช้ห้องน้ำรวม รอให้คนอื่นเข้าจนเสร็จก่อนและเข้าคนสุดท้ายและจัดการทำความสะอาด ทุกสิ่งอย่างในห้องน้ำด้วยน้ำกับสบู่ หรือ ที่แน่นอนคือ น้ำยาฆ่าเขื้อ รวมทั้งอ่างน้ำ ก๊อก ชักโครก ลูกบิดประตู

ง. ถ้าอยู่บ้านคนเดียว แล้ว ต้องทำอะไรต่อ?

ถ้าคนอื่นทำงานนอกบ้าน คนที่ถูกกักเอาโทรศัพท์ไว้ข้างข้างตัว เกิดมีอาการอะไรจะได้โทรบอกคนอื่นได้ ไม่ใช่ถูกปล่อยทิ้งอยู่คนเดียว สลบไสล อยู่ไม่มีใครรู้

จ. ถ้าเกิดมีอาการขึ้น ทำไงต่อ?

รถที่จะนำไปส่งโรงพยาบาล ต้องแจ้งคนขับแท็กซี่ หรือถ้าจะใช้รถส่วนตัวต้องทำการล้างห้องโดยสารทั้งห้องอย่างสะอาดเอี่ยม อย่าขึ้นรถประจำทางสาธารณะ

หรือไม่ก็โทรแจ้งโรงพยาบาลให้ส่งรถมารับ

ฉ. เสื้อผ้าเครื่องใช้ ทำไง?

ต้องซักแยกต่างหากออกจากคนอื่น อย่างเด็ดขาด

ช. จะเก็บกับตัวไปนานเท่าไหร่?

เอาตามมาตรฐานคือ 14 วัน แม้ว่าจะมีรายงานว่าระยะฟักตัวยาวถึง 24 หรืออาจถึง 27 วัน เอาเบาะๆแค่นี้ จะทำได้มั้ย