สถาบันวัคซีนฯ เผยผลรายงาน 2 หน่วยงานด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพสหราชอาณาจักรและยุโรป กรณีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิดของแอสตราฯ พบมีความเป็นไปได้สัมพันธ์วัคซีน แต่อัตราการเกิดน้อยมาก 2-4 ล้านการฉีด ที่สำคัญแปรผันกับเชื้อชาติ ชี้คนไทย-เอเชียพบน้อยกว่ายุโรป
เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าวกรณีวัคซีนโควิด19 ว่า วัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์นั้น ได้ผลอย่างดีในแต่ละรอบการผลิต ครั้งละ 2,000 ลิตร ทำได้ดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งวัคซีนไปตรวจสอบคุณภาพยังห้องปฏิบัติการของแอสตราเซเนกาในสก็อตแลนด์และสหรัฐอเมริกา คาดว่าผลจะทยอยส่งกลับมาราวกลางเดือน เม.ย.นี้ จะสามารถส่งมอบวัคซีนให้ประเทศไทยล็อตแรกได้ตามแผนในต้นมิ.ย.นี้ 5-10 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนการกระจายวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข
นพ.นคร กล่าวด้วยว่า กรณีมีรายงานจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหราชอาณาจักร (MHRA) และหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของยุโรป (EMA) เกี่ยวกับกรณีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซนเนกา โดย 2 หน่วยงานสรุปว่า เป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก ในอัตรา 2-4 ต่อล้านการฉีด ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า จะสัมพันธ์กับการได้รับวัคซีน โดยมีข้อสังเกตว่า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีนเข็มแรก อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2หน่วยงานจะมีการเก็บข้อมูลต่อว่า ในส่วนที่ว่ามีความเป็นไปได้นั้น จริงๆมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนแล้วหรือไม่ เพราะโดยหลักการตัดสินความเกี่ยวข้องจะมีทั้งเป็นไปไม่ได้ ,เป็นไปได้และยืนยันว่าเกี่ยวข้องแน่ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของ การตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้ ซึ่งอัตราการเกิดต่ำมากอยู่ที่ 2-4 ต่อล้านการฉีด แต่ยังไม่ยืนยันชัดเจน นอกจากนี้ อัตราการเกิดลิ่มเลือกยังแปรผันกับเชื้อชาติและวิถีชีวิตของประชาชนด้วย โดยประเทศไทยและประเทศในทวีปเอเชีย มีอัตราการเกิดลิ่มเลือดอุดตันต่ำกว่าประเทศในยุโรป
นพ.นคร กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะติดตามขอข้อมูลด้านความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงขอข้อมูลการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาในประเทศอื่นๆมาประกอบด้วย ซึ่งข้อมูลจะเพิ่มเติมมากขึ้นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า เพื่อนำข้อมูลมาประกอบ ให้ผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทย ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมในการใช้แต่ละกลุ่มต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้มีคำแนะนำให้หยุดฉีด และ อังกฤษและประเทศในยุโรปมีการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาไปแล้วถึง 40 ล้านโดส
"ทุกวัคซีนที่ปรากฏอยู่มีโอกาสเกิดผลข้างเคียง ไม่มากก็น้อย เพราะฉะนั้นการรับวัคซีนจึงต้องการการสังเกตอาการหลังการฉีด แต่ประโยชน์โดยรวมยังมีมากกว่าผลข้างเคียงโดยรวมทั้งสิ้น ขอให้ประชาชนมั่นใจในวัคซีนที่รัฐจัดสรรและนำมาบริการประชาชน ว่าจะมีการติดตาม ความปลอดภัยอย่างใกล้ชิดปลอดภัย "นพ.นครกล่าว และขอย้ำว่า ประโยชน์จากการรับวัคซีนยังมากกว่าผลข้างเคียง
ผู้สื่อข่าวถามกรณีมีผู้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้พบเชื้อกลายพันธุ์จากอังกฤษที่ระบาดในกลุ่มก้อนสถานบันเทิง แต่ทำไมรัฐจึงไม่จัดหาวัคซีนสำหรับเชื้อกลายพันธุ์ แต่รอแค่วัคซีนตัวเดียว นพ.นคร กล่าวว่า เรื่องนี้จะพูดโดยมองข้อมูลเพียงขณะนี้อย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเราไปเจรจาวันนี้ กว่าจะได้รับวัคซีนก็ประมาณเดือน ต.ค. หรือไตรมาส 4 ซึ่งธรรมชาติของวัคซีนมีการกลายพันธุ์ตลอด ดังนั้น เมื่อได้วัคซีนมาเดือนต.ค.เชื้ออาจจะมีการกลายพันธุ์อีก ก็จะเกิดคำถามแบบเดียวกันนี้มาอีกหรือไม่
“อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือตอนนี้มีหน่วยงานต่างๆ ของไทย ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 สำหรับเชื้อกลายพันธุ์อยู่แล้ว รวมถึงบริษัทต่างๆ ทั้งไฟเซอร์ โมเดิร์นนา รวมถึงแอสตราฯ ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนสำหรับเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งเราเองมีโควตาวัคซีนของแอสตราอยู่แล้ว 65 ล้านโดส เป็นแบบที่ผลิตไปด้วย ใช้ไปด้วย นั่นหมายความว่าหากแอสตราฯ พัฒนาวัคซีนรุ่น 2 สำหรับเชื้อกลายพันธุ์ได้แล้ว เราก็สามารถนำเอาโควตา 65 ล้านโดสนี้มาปรับการผลิตเป็นวัคซีนรุ่นสำหรับเชื้อกลายพันธุ์ได้เลย นี่คือข้อดีของการที่เรามีโรงงานผลิตเองในไทย” นพ.นคร กล่าว
- 58 views