คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแจงข้อเท็จจริงหลังชะลอฉีดวัคซีนแอสตราฯ 12 มี.ค. เหตุรอผลการสอบสวนของเดนมาร์ก หลังพบปัญหาลิ่มเลือดอุดตัน 22 ราย เสียชีวิต 1 ราย ย้ำเป็นวัคซีนคนละล็อตกับของไทย แต่ต้องชะลอเพื่อความปลอดภัยเป็นสำคัญ คาดใช้เวลารอไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ทราบผล เมื่อไม่เกี่ยวข้องก็ฉีดวัคซีนได้ทันที
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 12 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานคณะกรรมการแพทย์เพื่อพิจารณาวัคซีนให้กับบุคคลต่างๆ และบุคคลสำคัญ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงข่าวด่วนเรื่องการเลื่อนฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดไวรัลเวคเตอร์ จากบริษัทแอสตราเซเนกา โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมติดตามการแถลงข่าวอย่างใกล้ชิด
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากกรณีมีรายงานเมื่อวันที่ 11 มี.ค.2564 โดยประเทศเดนมาร์กประกาศชะลอการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาของยุโรป เนื่องจากพบปัญหาลิ่มเลือดอุดตัน ในผู้รับวัคซีนบางราย และพบประเทศอื่นๆในยุโรปมีการใช้วัคซีนล็อตนี้เช่นกัน ทำให้ทีมแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทยประชุมกันอย่างเร่งด่วน และให้ชะลอการฉีดวัคซีนออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่า วัคซีนล็อตที่ส่งให้ยุโรปเป็นคนละล็อตกับของประเทศไทย โดยล็อตของไทยเป็นล็อตเดียวกับเวียดนาม เนื่องจากบริษัทแอสตราเซเนกาจะส่งล็อตการผลิตไปแต่ละกลุ่มประเทศ ทั้งยุโรป เอเชีย ซึ่งไทยคนละล็อตกับยุโรปที่มีรายงานดังกล่าว
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานคณะกรรมการแพทย์ฯ กล่าวว่า ทราบว่าวันที่ 12 มี.ค. ทุกคนเตรียมพร้อมจะฉีดวัคซีนโควิดของแอสตราฯ แต่วันนี้มีความจำเป็นต้องชะลอการฉีดออกไปก่อน เนื่องจากมีรายงานเมื่อคืนวันที่ 11 มี.ค. มีการประกาศของประเทศเดนมาร์ก ออสเตรเลียและยุโรป โดยมีการนำวัคซีนแอสตราฯ ไปฉีดเป็นล้านโดส แต่เจอพบข้างเคียงทำให้เลือดแข็งตัวในหลอดเลือดดำ ดังนั้น เดนมาร์กจึงประกาศให้มีการชะลอฉีด ทำให้คณะแพทย์ต้องนำเรื่องนี้มาพิจารณา เพราะวัคซีนที่นำมาใช้ต้องปลอดภัยที่สุดของประชาชน ดังนั้น เมื่อมเหตุการณ์นี้ เราไม่จำเป็นต้องรีบฉีด แม้วัคซีนแอสตราฯ จะมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ดังนั้น เมื่ออยู่ระหว่างชะลอและขอสืบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดในยุโรป ว่า มาจากวัคซีนหรือไม่ เราก็ควรจะรอก่อน เพื่อความปลอดภัยของประชาชนมากที่สุด
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า สืบเนื่องจากบริษัทแอสตราฯ ส่งวัคซีนจำนวน 1 ล้านโดส โดยเป็น batch หรือล็อตการผลิต ABV 5300 ซึ่งส่งให้ 17 ประเทศในสหภาพยุโรปและทยอยฉีด โดยล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 11 มี.ค.2564 ที่ผ่านมาพบว่าหลังจากการฉีดวัคซีนโควิดพบมีผู้ป่วย 1 รายเสียชีวิต ขณะเดียวกันก็มีผู้ป่วยหลายรายเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือด ขณะที่ออสเตรียก็พบผู้มีภาวะลิ่มเลือดแข็งตัวอีก 1 ราย แต่เบื้องต้นยังไม่สามารถระบุได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด19 อย่างไรก็ตาม ล่าสุดก็มีประเทศอื่นๆในยุโรปชะลอการฉีดเพื่อรอผลการสืบสวนเรื่องนี้ ได้แก่ ออสเตรีย ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ เอสโตเนีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก และลัตเวีย ขณะที่เดนมาร์กขอเวลาสอบสวนและชะลอไป 2 สัปดาห์
“กรณีวัคซีน batch หรือล็อตการผลิตที่เกิดขึ้นในยุโรปนั้น เป็นล็อตที่เรียกว่า ABV 5300 ซึ่งเป็นล็อต 1 ล้านโดสกระจาย 17 ประเทศในยุโรป คนละล็อตกับที่ประเทศ อย่าไงรก็ตาม มีหน่วยงานที่เรียกว่า EMA หรือ european medicines agency ซึ่งได้ดูอุบัติการณ์ที่มีการรายงานในเดนมาร์ก และออสเตรียต่อ 1 แสนคนและไปเทียบกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ตัวเลขก็ไม่ต่างกัน จึงคิดว่าไม่น่าสัมพันธ์กัน แต่ด้วยกระบวนการต้องไปสืบค้นเพิ่มขึ้น อย่างคนเสียชีวิตก็ต้องมีการศึกษาสาเหตุ เช่น การเกิดอุดตันลิ่มเลือด เป็นเพราะอะไร หลังจากนั้นหน่วยงานอิสระ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับวัคซีนจะไปสืบค้นอีก และเมื่อสืบค้นแล้วก็จะประกาศ หากพบว่าไม่เกี่ยวข้องก็จะประกาศออกมา และประเทศต่างๆ ก็จะเพิ่มความมั่นใจและใช้ได้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม EMA ไม่ได้ประกาศให้หยุดหรือชะลอการฉีดวัคซีน เพราะเชื่อมั่นว่าฉีดได้ เพียงแต่ขึ้นอยู่กับประเทศอื่นๆพิจารณา
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
เมื่อถามว่ากรณีประเทศไทยชะลอกลับมีข้อโต้แย้งว่า เป็นเพราะหวาวดกลัว ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตนขอยกตัวอย่างว่า กรณีถ้ามีคนหนึ่งระบุว่า ไม่เป็นไรฉีดวัคซีนตัวนี้ได้เลย และสมมติว่า อีก 1 สัปดาห์บอกว่าเป็นผลจากฉีดวัคซีน แต่วัคซีนอยู่ในตัวคนนั้นแล้ว คำถามต่อไปว่า สิ่งที่เราแรกมาคืนอะไร เช่น หากไม่ฉีดวันนี้จะเป็นโควิดแน่ ถ้าเป็นแบบนี้ เป็นตนก็ฉีด แต่ตอนนี้ประเทศเราไม่ได้อยู่ในภาวะฉุกเฉินแบบนั้น เรายังมีมาตรการป้องกัน สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ดังนั้น หากรอแค่ 1-2 สัปดาห์ตนก็มองว่า ไม่เห็นจะเป็นอะไร ภายใต้เหตุผลนี้ จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องรีบฉีด
เมื่อถามว่า สรุปแล้วล็อตที่เจอในยุโรปคือคนละล็อตกับไทย ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขอย้ำว่า วัคซีนแอสตราฯ ยุโรป 1 ล้านโดสนั้นมีเลขล็อตการผลิตชัดเจน ซึ่งคนละล็อตกับประเทศไทย ย้ำว่า ของยุโรปไม่ได้เข้ามาในไทย ซึ่งตนมองว่า 1-2 สัปดาห์ก็จะทราบผลแล้ว และหากไม่พบอะไรก็ฉีดวัคซีนแอสตราฯ ได้
ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การฉีดวัคซีนจำนวนมาก ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรืออาการอื่นๆได้ จะต้องพิสูจน์ว่าภาวะนั้นหรืออาการนั้นเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ อย่างที่ทราบในข่าวว่ามีการชะลอการใช้ไปก่อนหลังพบว่ามีการเกิดลิ่มเลือดประเด็นนี้ตนขออธิบายว่า โรคนี้เวลาเราขึ้นเครื่องบิน จะมีคำแนะนำว่า ให้ขยับให้ดื่มน้ำเยอะๆบางคนบอกให้กินแอสไพรินก่อนหรือไม่เพราะถ้านั่งนานๆหรือนอนนานๆโอกาสที่เลือดจะแข็งตัวในหลอดเลือดดำ ก็ย่อมมีโอกาสหลุดไปอุดในปอด เลือดจะกลับเข้าปอดไม่ได้ โดยเฉพาะหากเป็นก้อนใหญ่ๆ อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ซึ่งอุบัติการณ์นี้มักพบมากในคนเชื้อชาติแอฟริกัน และยุโรป มากกว่าเอเชีย โดยคนยุโรปจะพบมากกว่าเอเชีย 3 เท่า เราเชื่อว่า ปัจจัยทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องกับโรคนี้ และโรคนี้พบได้ในยามปกติ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ
“แน่นอนเมื่อฉีดวัคซีนในหมู่มาก ซึ่งกรณีนี้ฉีดไปแล้ว 3 ล้านโดส ปรากฏพบผู้ป่วยมีการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ 22 รายในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งใน 3 ล้านโดสพบ 22 ราย เมื่อเปรียบเทียบอุบัติการณ์อยู่ที่ 7 ใน 1 ล้านราย ซึ่งแน่นอนเรื่องนี้จะต้องมีการสอบสวนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการเกิดขึ้นในภาวะปกติ ในคนธรรมดาที่ถึงแม้ไม่ได้ฉีดวัคซีนก็เกิดขึ้นได้หรือไม่ และมีจำนวนเท่ากันหรือไม่ ถ้าบอกว่าฉีดวัคซีนแล้วเกิดมากกว่าในภาวะปกติก็ต้องไปหาสาเหตุว่า วัคซีนทำให้เกิดอะไรถึงทำให้ลิ่มเลือดแข็งตัวได้ง่าย ก็ต้องมีการสอบสวน” ศ.นพ.ยง กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ใช้ในยุโรปและที่ใช้ในประเทศไทยคนละแบบแน่นอนและไม่ได้ผลิตในโรงงานในเอเชีย และประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเสี่ยงสูง ดังนั้นการชะลอการฉีดวัคซีนออกไปสัก 5 วัน 7 วันหรือ 2 อาทิตย์ก็ไม่ได้เกิดผลกระทบ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยคณะกรรมการทั้งหมดจึงเห็นสมควรให้ชะลอการฉีดวัคซีนออกไปก่อนไม่ใช่การยุติการฉีดวัคซีน
พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า วัคซีนเมื่อมีการฉีดจำนวนมากก็เป็นธรรมดาที่จะมีการรายงานเกี่ยวกับผลการใช้และอาการข้างเคียงเข้ามาไม่ว่าจะเป็นมากหรือน้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการฉีดวัคซีนในปริมาณมากและในเวลาอันรวดเร็ว จะมีโอกาสที่จะไปฉีดในเวลาใกล้เคียงกับโรคบางโรคเดิมที่กำลังก่อตัวก็เป็นได้ เราจึงจำเป็นต้องระมัดระวังไม่ว่ามีเหตุการณ์อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นใกล้เคียงการฉีดวัคซีนก็จะต้องมีการสอบสวนก่อนจัดฟันธงออกมาว่าเป็นผลจากวัคซีนจริงหรือไม่
“จังหวะนี้เป็นจังหวะที่เรากำลังจะมีการใช้วัคซีน และเมื่อมีรายงานนี้มาก็ถือว่า เป็นเรื่องดีชะลอไปนิดหน่อยไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่จากการฟังรายงานที่เกิดขึ้น คณะผู้เชี่ยวชาญมองว่า ไม่น่าเกี่ยวกับวัคซีน อย่างภาวะการแข็งตัวของเลือดนั้น ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เป็นผลข้างเคียงจากวัคซีนที่เราเคยพบมา ไม่ว่าจะวัคซีนใดๆ ทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น” พญ.กุลกัญญา กล่าว
พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
- 87 views