กระทรวงสาธารณสุขเผยผู้ป่วยโควิด 19 เผยผลการให้บริการวัคซีนโควิดรวม 10 วัน ฉีดแล้ว 33,621 ราย พบเกิดปฏิกิริยาหลังฉีด เช่น ปวดบวมบริเวณที่ฉีด วิงเวียนศีรษะ ฯลฯ ชี้อาการไม่รุนแรง พบรายงาน 2,984 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.8 ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับผลการศึกษาวิจัยทั่วโลกที่พบถึง 1 ใน 3
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงข่าวการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย ว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 9 มีนาคม 2564 รวม 10 วัน มีผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว 33,621 ราย สำหรับการฉีดวัคซีนร่างกายอาจเกิดปฏิกิริยาขึ้นได้ตามปกติ เช่น ปวดบวมบริเวณที่ฉีด วิงเวียนศีรษะ มีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยเนื้อตัว เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการไม่รุนแรงสามารถหายได้เอง โดยมีการรายงานปฏิกิริยาเหล่านี้ผ่านระบบไลน์หมอพร้อม ขณะนี้มีรายงาน 2,984 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.8 ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับผลการศึกษาวิจัยทั่วโลกที่พบถึง 1 ใน 3
“ทั้งนี้ เมื่อฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วองค์การอนามัยโลกย้ำว่า ยังต้องใส่หน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง เนื่องจากต้องใช้เวลาถึงจะเพิ่มภูมิคุ้มกันจนมีความครอบคลุมสูง และประสิทธิภาพของวัคซีนคือป้องกันการเสียชีวิต การป่วยหนัก ส่วนการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการแพร่เชื้อ ยังต้องรอผลการศึกษาในระยะยาว ดังนั้น หลังฉีดวัคซีนแล้วยังต้องยกการ์ดสูง” นพ.เฉวตสรร กล่าว
ส่วนสถานการณ์วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 39 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 21 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 13 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ทำให้การติดเชื้อระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 - 10 มีนาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสม 22,303 ราย รักษาหายแล้ว 21,769 ราย คิดเป็นร้อยละ 97.61 เหลือผู้ป่วยรักษาเพียง 509 ราย
นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยดีขึ้น ผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่หลักสิบต่อเนื่องกว่าสัปดาห์ มีการค้นหาเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เช่น อ.แม่สอด จ.ตาก แม้ภาพรวมคงตัว แต่ยังตรวจคัดกรองแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนรายใหม่ โดยวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 7 มีนาคม 2564 ตรวจ 3,039 ราย พบเชื้อ 6 ราย วันที่ 8-9 มีนาคม 2564 ตรวจ 724 ราย ไม่พบการติดเชื้อ ส่วน จ.ปทุมธานี พบการติดเชื้อกลุ่มก้อนแรกในตลาด จากนั้นพบอีกกลุ่มที่โรงชำแหละเนื้อสุกร พบผู้ติดเชื้อรายสุดท้ายวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยพื้นที่พยายามลดความแออัดในตลาด มีบัตรรับรองปลอดโควิดให้ผู้ค้า
“สำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้ารับการกักตัวยอดสะสมจนถึงปัจจุบัน มีจำนวน 256,705 ราย พบผู้ติดเชื้อ 2,262 ราย จาก 85 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 0.88 โดยประเทศต้นทางที่มีการติดเชื้อสูง ทำให้ผู้เดินทางเข้ามามีโอกาสตรวจเจอเชื้อสูงด้วย แต่การพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่กักตัวที่ควบคุมดูแลตามมาตรฐาน ไม่มีการไปสัมผัสคนอื่น เมื่อเจอติดเชื้อส่งเข้ารักษาตามแนวทาง จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลแต่อย่างใด” นพ.เฉวตสรรกล่าว
- 5 views