สสส. ประกาศรางวัลนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ปี 3 “ThaiHealth Inno Awards” FIFO light นวัตกรรมในซอยแคบลดอุบัติเหตุ ทีมวิทยาลัยอาชีวศึกษาบริหารธุรกิจวิทยาสงขลา และนวัตกรรมเพิ่มกิจกรรมทางกาย จากทีมรร.ชลกันยานุกูล หนุนต่อยอดนวัตกรรุ่นใหม่ ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ส่งเสริมคนไทยมีสุขภาพดีหลากมิติ
วันที่ 4 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุม 201 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิวายไอวาย และภาคีเครือข่าย จัดพิธีประกาศผลรางวัลโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ: THAIHEALTH INNO AWARDS ครั้งที่ 3 โดย ในปีนี้มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 319 ทีม ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย 20 ทีม และได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ที่ใส่ใจด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อนำความรู้กลับไปพัฒนาผลงาน โดย
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพโดยฝีมือเยาวชนทั้ง 20 ทีม เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องการแก้ไขปัญหาทุกขภาวะของพื้นที่ใกล้ตัว โดยในปีนี้ สสส. ได้กำหนดแนวคิดการประกวด “ชีวิตดีเริ่มที่เรา” ส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน หรือช่วยลดพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในหัวข้อ ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่, ลดอุบัติเหตุทางถนน, เพิ่มการบริโภคผักผลไม้และอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ, เพิ่มกิจกรรมทางกายหรือลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง, การสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ เช่น การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. ซึ่งในปีนี้พบว่าเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้น นับเป็นเรื่องที่ดีที่ประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพเข้ามาอยู่ในความสนใจของเยาวชนมากขึ้น
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ทิศทางการทำงานของ สสส. ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา มุ่งสู่การเป็น “องค์กรนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” โดยเราได้คิดค้นนวัตกรรมเชิงนโยบาย เพื่อจัดสรร ออกแบบสิ่งแวดล้อมรอบตัวประชาชนให้เอื้อต่อการมีสุขภาวะ 4 มิติ คือ สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางสังคม และสุขภาวะทางปัญญา โครงการ ThaiHealth Inno Awards จึงเป็นเสมือนกระจกที่สะท้อนวิธีการทำงานของ สสส. โดยเยาวชนจะต้องรู้จักสำรวจปัญหาหรือความต้องการของสังคม เพื่อนำไปสู่การออกแบบนวัตกรรมที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้กับสังคม อีกทั้งโครงการนี้ยังเกิดการสานพลังจากหลายภาคส่วน ในการร่วมกันออกแบบกระบวนการพัฒนาทักษะด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้กับเยาวชน ภายหลังสิ้นสุดการประกวดแล้ว สสส. ยังมีกระบวนการติดตามให้คำปรึกษาแก่เยาวชน เพื่อดึงความร่วมมือจากภาคีภาครัฐและเอกชนมาร่วมสนับสนุนต่อยอดและขยายผลงานนวัตกรรมต่อไป
สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ “รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา” ได้แก่ Real Time Exercise Game by Instagram Filter จากทีม 16 ยังแจ๋ว โรงเรียนชลกันยานุกูล รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ อุปกรณ์เตือนภัยขาตั้งสำหรับรถจักรยานยนต์ 1 ได้ถึง 3 (ขาตั้งสติแตก) จากทีม IF โรงเรียนวังโพรงพิทยาคม รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ตุ๊กตาช่วยเตือนจุดเสี่ยง เพื่อความปลอดภัยในการขับรถ ทีม Mito Team โรงเรียนศรีตระกูลวิทยา
นอกจากนี้ “รางวัลชนะเลิศระดับอาชีวศึกษา” ได้แก่ FIFO light นวัตกรรมในซอยแคบ ทีม R-lu-mi-right วิทยาลัยอาชีวศึกษาบริหารธุรกิจวิทยาสงขลา รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ เกมเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการเคลื่อนไหว สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะความดันโลหิตสูง “น้องจุกผจญภัย” ทีมน้องจุก จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ เครื่องผลิตปุ๋ยจากเศษอาหารสําหรับครัวเรือน ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จากทีม SRPC Save the world วิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี และมีรางวัลพิเศษ Rising star ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ที่มีโอกาสพัฒนาต่อในอนาคตได้ 2 รางวัลได้แก่ ระดับมัธยมศึกษา Water scrubber system face mask หน้ากากจากระบบบำบัดอากาศแบบเปียก (D-mask ดีม๊ากกก) ทีมวุยก๊กจะเฟื่องฟูศัตรูจะแพ้พ่าย โรงเรียนชลราษฎรอำรุง ได้แก่ ระดับอาชีวศึกษา ได้แก่ BizcomPN (SEX EDUBOT) ทีม BizcomPN วิทยาลัยการอาชีพปัตตานี
- 154 views