ที่ประชุมคณะที่ปรึกษารมว.สธ.กรณีโควิด19 เตรียมจัดทำข้อเสนอ “อนุทิน” กรณีจัดหาวัคซีนเพิ่ม คาดต้องเพิ่มอีกราว 15-20 ล้านโดส ไม่จำกัดว่าต้องเป็นวัคซีนชนิดใด ส่วนกรณีข่าวรพ.เอกชนเตรียมขอนำเข้าวัคซีนโควิด ขณะนี้ยังไม่มีรายใดยื่น อย. แต่ไม่ปิดกั้น ขอทำตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์ ด้านเลขาฯ อย.เตรียมชี้แจงทำความเข้าใจเอกชน
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กล่าวภายหลังการประชุมคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ด้านโควิด-19 ที่มีนพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมมีการหารือกัน 2 เรื่อง เรื่องแรกเห็นว่าประเทศไทยต้องมีการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว 63 ล้านโดส ซึ่งจำนวนไม่ได้กำหนดชัด แต่มีการคำนวณจากประชากรไทยกว่า 65 ล้านคน หักกลุ่มวัยรุ่นออก จะเหลือประชาชนที่เข้าข่ายได้รับรับวัคซีนประมาณ 50 ล้านคน บวกคนต่างด้าวอีกประมาณ 5 ล้าน จากนั้นคิดที่ 80% ของ จำนวนคน 55 ล้านคน จึงประมาณการณ์ว่ามีคนควรได้รับวัคซีนประมาณ 40 ล้าน คนละ 2 โดส จึงต้องใช้วัคซีน 80 ล้านโดส ดังนั้นเท่ากับว่าเราควรหาวัคซีนเพิ่มอีกประมาณ 15-20 ล้านโดส โดยไม่ได้จำกัดว่าเป็นวัคซีนชนิดใด แต่ไม่ได้คุยกันเรื่องราคาว่าต้องมีกำหนดเพดานที่เท่าไหร่
“ตอนนี้พื้นที่เสี่ยง และจังหวัดท่องเที่ยวมีความต้องการสูง ที่ปรึกษาจึงเห็นว่าควรหาวัคซีนเพิ่มเข้ามาให้เร็วที่สุด ภายในปีนี้ ที่ปรึกษาบางท่านมีข้อเสนอถึงการให้เอกชนเข้ามาร่วมมือในการจัดหาวัคซีน ก็ต้องไปดูรายละเอียดของทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าจะเป็นแบบใด ซึ่งหากเอาเข้ามาได้จริงๆ ก็ต้องเข้าระบบเรื่องการตรวจสอบ ติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีนของทางกระทรวงสาธารณสุขที่ทำเอาไว้แล้ว เรื่องนี้ก็ต้องเสนอนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี พิจารณา” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือกันถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการออกหนังสือรับรองการฉีดวัคซีน หลังฉีดครบ2 เข็มจะออกหนังสือรับรองที่เป็นรูปเล่ม และแบบอิเล็กทรอนิกส์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร ส่วนรูปแบบที่เป็นสากล ยอมรับกันได้ทั่วโลกนั้นยังต้องรอองค์การอนามัยโลกเป็นผู้พิจารณาออกหลักเกณฑ์ซึ่งเราก็รอดูอยู่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายวันนี้ (4 มี.ค.) จะมีการหารือในรายละเอียดในที่ประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในวันที่ 8 มี.ค.นี้ ทั้งหมดยังเป็นเพียงข้อเสนอ ซึ่งต้องรอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้ง
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ในส่วนของภาคเอกชนนั้น เราไม่ได้ปิดกั้นตั้งแต่แรกอยู่แล้ว หากใครจะสามารถจัดหาวัคซีนเข้ามาได้ แต่ก็ขอให้มาขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าให้ถูกต้องกับทางอย. ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้มีใคร ยังไม่มีรพ.เอกชนแห่งใดมายื่นทะเบียนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 มี.ค.นี้ หลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ อย.ก็จะมีการประชุม ทำความเข้าใจกับทางเอกชนเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับการขึ้นทะเบียนวัคซีนในไทยตอนนี้นอกจากซิโนแวค และแอสตราเซเนกาแล้ว ก็มีจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และบริษัท บารัต ไบโอเทค ของประเทศอินเดียมายื่นเอกสารเพื่อขอขึ้นทะเบียน อยู่ระหว่างการพิจารณา
- 5 views