อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยข้อมูลกระจายวัคซีนโควิดซิโนแวค ล่าสุด 2 วัน (27-28 ก.พ.) ส่งแล้ว 110,000 โดส สมุทรสาครมากที่สุด เหตุพบจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด ส่วน กทม.กระจายไปยัง รพ. 16 แห่งกว่า 3 หมื่นโดส เตือนใครแอบอ้างฉีดวัคซีนให้เร็วแต่มีค่าใช้จ่าย แจ้งจนท.ตำรวจดำเนินคดีทันที เพราะวัคซีนโควิดฉีดให้คนไทยไม่คิดมูลค่า
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) แถลงสถานการณ์โควิด19 ว่า สถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อ 114,365,592 ราย โดยผู้ป่วยรายใหม่อยู่ที่ 387,697 ราย ซึ่งถือว่าคงที่ ส่วนผู้เสียชีวิตสะสม 2,536,703 คน ขณะที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม 25,951 ราย มีรายใหม่วันนี้ 70 ราย อย่างไรก็ตาม ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ส่วนประเทศเมียนมา แม้ผู้ป่วยจะไม่มากขึ้น แต่ก็ยังต้องติดตามใกล้ชิด
สำหรับประเทศไทยวันนี้ติดเชื้อ 70 ราย ติดเชื้อในประเทศ 62 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 8 ราย ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบการระบาดรอบใหม่ 15 ธ.ค.63-28 ก.พ.64 มีผู้ติดเชื้อสะสมระลอกนี้ 21,714 ราย แต่เมื่อสังเกตอัตราการเสียชีวิตระลอกหลังค่อนข้างน้อย ดูเหมือนแนวโน้มจะดีขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับมาตรการผ่อนคลายของ ศบค. อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า แม้มีการฉีดวัคซีนโควิดแล้ว มาตรการต่างๆ ก็ยังต้องดำเนินการต่อไป
“วันนี้เป็นครั้งแรกที่มีการฉีดวัคซีนโควิด19 ของซิโนแวค จากประเทศจีน โดยท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการสธ. เป็นผู้ฉีดคนแรก แต่ด้วยที่ว่ามีเงื่อนไขอายุ ฉีดได้อายุ 18-59 ปี ดังนั้น ท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แม้มีความจำเป็นต้องฉีด เพราะต้องลงพื้นที่เสี่ยง แต่ตามเงื่อนไขยังจำกัดอายุ จึงยังไม่สามารถให้วัคซีนได้ ดังนั้น ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิดเป็นคนแรก เป็นประวัติศาสตร์ คือ ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล ” นพ.โอภาส กล่าว และว่า สำหรับยอดรวมการฉีดวัคซีนโควิด ข้อมูล ณ เวลา 12.00 น. ที่สถาบันบำราศนราดูร ฉีดไปแล้ว 95 โดส 95 คน และรพ.สมุทรสาคร 159 โดส 159 คน ไม่มีรายใดมีผลข้างเคียง ทุกคนสบายดี
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับวัคซีนซิโนแวคจำนวน 2 แสนโดสกระจาย 13 จังหวัด โดยเมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมากระจายไปแล้ว 30,760 โดส ไปที่ 3 จังหวัด คือ จ.นนทบุรี 6,000 โดส สมุทรสาคร 20,040 โดส และชลบุรี 4,720 โดส โดยชลบุรีจะเริ่มทดสอบระบบฉีดวันพรุ่งนี้(1 มี.ค.) สำหรับวันนี้ (28 ก.พ.) จัดส่งอีก 11 จังหวัด มีการส่งไปที่สมุทรสาครไปอีก 15,040 โดส ซึ่งจ.สมุทรสาครพบการติดเชื้อมากที่สุด จึงต้องได้รับวัคซีนมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีปทุมธานี 1 แห่ง อีก 8,000 โดส สมุทรปราการส่งรพ.2 แห่ง จำนวน 6,000 โดส กรุงเทพมหานครกระจายไปแล้ว 16 รพ.ทั้งหมด 33,600 โดส จ.ตาก (แม่สอด) 1 แห่งจำนวน 5,000 โดส นครปฐม 1 แห่ง 3,560 โดส ราชบุรี 1 แห่ง 2,520 โดส สมุทรสงคราม 1 แห่ง 2,000 โดส เชียงใหม่ 3,520 โดส รวมแล้ววันนี้จัดส่ง 79,240 โดส
“ เพราะฉะนั้น เมื่อรวมทั้งหมดที่จัดส่งวัคซีนทั้ง 2 วัน(27-28 ก.พ.)รวมจำนวน 110,000 โดสหรือขวด และจะทดสอบระบบเพื่อความปลอดภัย หลังจากนั้นเดือนมี.ค.จะมีวัคซีนมาอีก 8 แสนโดสก็จะเร่งกระจายให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวแนะนะสำหรับผู้รับการฉีดวัคซีนโควิด19 ว่า สำหรับขั้นตอนการรับวัคซีนนั้น อันดับแรกจะตรวจคัดกรองก่อน จากนั้นจะตรวจร่างกาย เพื่อประเมินความเสี่ยง โดยคนห้ามฉีดวัคซีนมี 4 ข้อ คือ มีประวัติแพ้วัคซีน หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัวแต่ควบคุมอาการของโรคไม่ดี เช่น คุมเบาหวานไม่ดี และป่วยเป็นโรคเฉียบพลัน เช่น วันจะฉีดป่วยเป็นไข้หวัด มีไข้ขึ้นก็จะงดไปก่อน จากนั้นก็จะแจ้งข้อมูลต่างๆ ให้รับทราบ และให้แสดงความจำนงยินยอมด้วยการลงชื่อยินยอมฉีดวัคซีน และเมื่อฉีดวัคซีน ก็จะมีการสังเกตอาการ เพื่อดูว่าจะแพ้รุนแรงหรือไม่ ซึ่งปกติจะสังเกตอาการ 15 นาที แต่ระบบเราเพื่อความปลอดภัยจะให้อยู่ในสถานที่ฉีดวัคซีนนั้นๆเป็นเวลา 30 นาที และก่อนกลับก็จะมีการสังเกตอาการที่บ้าน และนัดให้มาฉีดเข็มที่สอง แต่หากกรณีฉีดครบแล้ว 2 เข็มก็จะมีใบรับรอง เพื่ออนาคตอาจต้องใช้ผลการฉีดวัคซีนเพื่อประกอบกิจการอื่นๆต่อไป
“สำหรับจังหวัดที่ได้วัคซีนไปแล้วนั้น คนในจังหวัดต้องทำอย่างไรนั้น ต้องเรียนว่าในจังหวัดจะมีคณะกรรมการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่ดำเนินการว่าใครเป็นกลุ่มไหนฉีดก่อน แต่ต้องย้ำว่า ประชาชนคนไทยทุกคนที่ต้องการฉีดวัคซีน จะได้รับวัคซีนโดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ซึ่งเราเตรียมไว้แล้ว 63 ล้านโดสให้เสร็จสิ้นในปี 2564 และหากมีวัคซีนที่หาได้เพิ่มก็จะนำมาฉีดให้ประชาชน” นพ.โอภาส กล่าว ทั้งนี้ สำหรับจังหวัดต่างๆที่มีวัคซีนแล้ว คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะพิจารณาและจะนัดกลุ่มเป้าหมายที่ต้องฉีดวัคซีนก่อน หากท่านสงสัยสามารถสอบถามแต่ละจังหวัด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือโรงพยาบาลใกล้เคียง และกรณีหากมีใครแอบอ้างว่า ใครอยากฉีดก่อนจะช่วยให้ฉีดได้แต่ต้องเสียเงิน ต้องเรียนว่า การฉีดวัคซีนครั้งนี้ไม่คิดมูลค่า ดังนั้น หากมีใครมาพูดว่าต้องเสียเงิน ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการทันที
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศูนย์เด็ก (โรคติดเชื้อ) รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ กล่าวว่า วันนี้ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 236 ล้านโดส ซึ่งการที่ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนวันนี้ไม่ถือว่าเร็ว หรือช้าเกินไป แต่การที่เราฉีดในวันนี้มีข้อดีคือเราได้เห็นผลดีผลเสียจากประเทศที่มีการฉีดไปแล้ว ซึ่งวัคซีนที่ฉีดในไทย 2 ชนิด คือซิโนแวค และแอสตร้าเซเนก้า นั้นถือว่ามีความปลอดภัยมาก ไม่ปรากฏผลข้างเคียงรุนแรง มีอะไรมีเพียงการเจ็บบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อย ครั่นเนื้อครั่นตัว บางคนอาจจะมีอาการเป็นไข้ คลื่นไส้อาเจียนด้วยนิดหน่อย อย่างไรก็ตาม นอกจากการติดตามอาการของผู้รับวัคซีนผ่านระบบที่วางไว้แล้วนั้น ขณะนี้ทางเราได้มีการเกาะติดสถานการณ์ในรพ.อย่างใกล้ชิด ว่ามีโรค หรือภาวะใดๆ ที่เกิดขึ้นนั้นจะมีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ อย่างไร เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ประมวลผลต่อไป
ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ อาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนส่วนใหญ่จะเกิดใน 48 ชั่วโมง โดยเฉพาะใน 24 ชั่วโมงแรก ที่เจอมากๆ คือปวดบริเวณฉีด ส่วนปฏิกิริยารุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หายใจติดขัด หน้ามืด เป็นลม ซึ่งอาจจะเป็นอาการแพ้รุนแรงนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ แต่น้อยมากๆ 1 ในหลายล้านโดส ซึ่งเรามีมาตรการเฝ้าระวังอยู่ ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ผ่านมา เช่น วัคซีนชนิด mRNA จะพบการแพ้รุนแรงสูง แต่ของซิโนแวค และแอสตร้าเซเนก้านั้นพบน้อยกว่า 5 เท่า และไม่มีใครเสียชีวิต ที่สำคัญคือเรากำหนดให้การฉีดวัคซีนทำในสถานพยาบาล มีบุคลากรการแพทย์ที่สามารถให้การรักษาได้ทันทีหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เพราะฉะนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีมั่นใจสามารถปรึกษาแพทย์ได้
- 11 views