รองนายกฯ-รมว.สธ.ประชุมวิดีโอทางไกลขอ อสม.ทั่วประเทศสื่อสารความเข้าใจรับวัคซีนโควิด "ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา" คาดหลังปี 64 หรือไตรมาสสุดท้ายของปี จะมีวัคซีนออกมาให้เลือกมากมาย ด้าน รมช.สธ.เผยกำลังพิจารณาให้วัคซีนกลุ่มพิเศษ
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุม “คิกออฟ อสม.พร้อมบอกต่อเรื่องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19” ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ทั่วประเทศ ผ่านระบบวีดิโอทางไกล
นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว 317,600 โดส ที่มาจาก 2 แหล่งในเวลาเดียวกัน เป็นนิมิตรหมายอันดีในการเข้าถึงวัคซีนของประเทศไทย ตนย้ำว่าเป็นวัคซีนเพื่อคนไทยและทุกคนที่อาศัยในประเทศไทย เพื่อการป้องกันโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวัคซีนล็อตแรกรัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพทั้งหมด หากมีใครแอบอ้างว่าจะต้องจ่ายค่าดำเนินฉีดวัคซีนโควิด-19 จะต้องดำเนินการทางคดีให้เด็ดขาด เพราะค่าใช้จ่ายในการฉีด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนรัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายซื้อวัคซีนและค่าบริหารจัดการ
นายอนุทิน กล่าวว่า วัคซีนที่ได้รับจากบริษัทซิโนแวค ประเทศจีน จำนวน 200,000 โดส ที่ได้รับเมื่อวานนี้(24ก.พ.) เป็นไปตามเงื่อนไขที่ประเทศไทยได้ตกลงกับบริษัทผู้ผลิตทุกประการ นอกจากนั้นในวันเดียวกัน ประเทศไทย ก็ได้รับวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซเนก้า อีก 117,600 โดส ที่เกิดจากความพยายามเจรจา โดย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีน และ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. เป็นการจัดหามาเพื่อป้องกันความผิดพลาด กรณีหากอีกบริษัทไม่สามารถจัดส่งมาได้ และเพื่อลบข้อครหาว่าเราไม่มีแผนสำรอง
นายอนุทิน กล่าวว่า วัคซีนจากบริษัทซิโนแวค จะเข้ามาเพิ่มเติมในเดือน มี.ค. 800,000 โดส และ เม.ย. 1,000,000 โดส รวมเป็น 2 ล้านโดส และต่อไปในเดือน พ.ค.-มิ.ย. วัคซีนจากแอสตร้าฯ ที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นล็อตผลิตในประเทศไทย จะทยอยออกมา โดยเดือนแรกๆ จะนำมาฉีดให้ประชาชนประมาณ 5 ล้านโดสต่อเดือน และระยะถัดไปจะขยายเป็น 10 ล้านโดสต่อเดือน จนครบ 61 ล้านโดส ซึ่งเมื่อแยกกลุ่มผู้ที่มีข้อจำกัดในการได้รับวัคซีนออก เช่น หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือกลุ่มผู้ที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ จำนวนวัคซีนที่เราจัดหาไว้ก็จะครอบคลุมในกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่ควรได้รับวัคซีนในประเทศไทยทุกคน
“ขอให้อสม. ไปทำความเข้าใจให้ประชาชน สธ.ยืนยันว่าผู้ที่ควรจะได้รับวัคซีนจะได้รับอย่างครบถ้วน โดยคาดว่าหลังปี 2564 หรือไตรมาสสุดท้ายของปี จะมีวัคซีนออกมาให้เราเลือกมากมาย ดังนั้น ขณะนี้เราไม่จำเป็นต้องรีบซื้อวัคซีน แต่ส่วนที่เราซื้อมาแล้ว ก็ต้องรีบใช้” นายอนุทิน กล่าว
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า ปกติอสม.จะมีเขตรับผิดชอบอยู่แล้ว 15-20 หลังคาเรือน ในส่วนของภารกิจวัคซีนจึงได้มอบหมายอสม.ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องวัคซีน สำรวจกลุ่มเสี่ยงที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการรับวัคซีนตามเขตรับผิดชอบตนเอง แล้วประสานข้อมูลกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) โดยในระยะที่ 1 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติได้กำหนดจังหวัดเป้าหมาย 13 จังหวัด ซึ่งจะมีกลุ่มเป้าหมายทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาว่ากลุ่มเป้าหมายนั้น ใครจะได้รับวัคซีนบ้าง
นพ.ธเรศ กล่าวด้วยว่า หากผู้ที่ได้รับวัคซีนอยู่ในเขตความรับผิดชอบของอสม.ก็จะนำพาบุคคลนั้นไปรับวัคซีนหากสมัครใจจะรับ รวมถึงช่วยลงทะเบียนไลน์ “หมอพร้อม” และติดตามผลข้างเคียงภายหลังการรับวัคซีนตั้งแต่วันที่รับวัคซีน วันที่7,14,30 โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมายที่รับวัคซีนแต่ไม่มีสมาร์ทโฟน โดยโมเดลกลไกของอสม.นี้จะใช้ดำเนินการเรื่องวัคซีนทั้งระยะแรกนี้และระยะต่อไปที่มีการให้วัคซีนกว่า 60 ล้านโดสด้วย เนื่องจากการนำร่องในจ.นนทบุรีพบว่า 10-20 % ของประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนไม่มีสมาร์ทโฟน
“อสม.เป็นบุคลากรด่านหน้าที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนเองด้วย ซึ่งจากการสำรวจพบว่าเป็นกลุ่มที่ต้องการฉีดวัคซีนมากที่สุดถึง 70 % แต่ต้องอยู่ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะพิจารณาด้วยว่า แต่ละจังหวัดจะจัดสรรให้อสม.ได้รับวัคซีนจำนวนเท่าไหร่ กลุ่มไหนบ้าง”นพ.ธเรศกล่าว
ขณะที่ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) กล่าวว่า การพิจารณาการกระจายและจัดสรรวัคซีนโควิด-19 คณะอนุกรรมการฯพิจารณาตามหลักการแพทย์และหลักวิชาการ ซึ่งจังหวัดและกลุ่มคนที่ได้มีการพิจารณาให้ได้รับวัคซีนก่อน จึงเป็นจังหวัดที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อระบาดอยู่ รวมถึง จังหวัดท่องเที่ยวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 4 จังหวัด คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และชลบุรี อย่างไรก็ตาม กำลังพิจารณาเรื่องการให้วัคซีนโควิด-19 กับกลุ่มพิเศษเพิ่มเติม เช่น กลุ่มนักกีฬาโอลิมปิกที่จะต้องเดินทางไปแข่งขันหรือคัดตัวในต่างประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนด้วย
- 7 views