ไฮแทปเปิดผลสำรวจบุคลากรทางการแพทย์ฯกรณีไม่มีทางเลือก พบ 55% ยินดีรับวัคซีนโควิด อีก 35% ไม่แน่ใจ และ 10% ไม่ยินดี โดย อสม. ยินดีมากที่สุด และพยาบาลยินดีน้อยที่สุด ขณะที่หากมีทางเลือกรับวัคซีนโควิดจะมีผลต่อการตัดสินใจยินดีรับวัคซีนโควิดถึง 55% โดยที่ต้องการมากที่สุด คือ แอสตราฯ รองลงมา ซิโนแวค และไฟเซอร์ โมเดอนา ฯลฯ
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือไฮแทป (Hitap) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เปิดผลสำรวจความเห็นของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ต่อการรับวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยระหว่างวันที่ 29 ม.ค.ถึง 16 ก.พ.2564 โดยมีกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสำรวจจำนวน 55,068 ราย เพศหญิงร้อยละ 82 และเพศชายร้อยละ 18 อายุเฉลี่ย 41.91 ปี โดยอาชีพที่มีคนตอบเกิน 1 พันคน อันดับที่ 1 คือ พยาบาล 18,394 ราย ร้อยละ 33.40 อันดับที่ 2 คือ อสม. จำนวน 9,021 ราย ร้อยละ 16.38 อันดับที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จำนวน 4,956 ราย ร้อยละ 9 อันดับที่ 4 เจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือผู้ป่วยจำนวน 4,468 ราย ร้อยละ 8.11 อันดับที่ 5 แพทย์จำนวน 4,012 ราย ร้อยละ 7.29 อันดับที่ 6 เภสัชกร จำนวน 1,722 ราย ร้อยละ 3.13 และอันดับที่ 7 คือ ทันตแพทย์จำนวน 1,061 ราย ร้อยละ 1.93
โดยผลสำรวจถามถึงการตัดสินใจรับวัคซีนโควิด19 ในกรณีที่ไม่มีทางเลือก พบว่า ร้อยละ 55 ยินดีรับวัคซีนโควิด ร้อยละ 35 ไม่แน่ใจในการรับหรือไม่รับวัคซีนโควิด และร้อยละ 10 ไม่ยินดีรับวัคซีนโควิด โดยพบว่า อสม.ยินดีรับวัคซีนโควิดมากที่สุดถึงร้อยละ 71 และพยาบาลยินดีรับวัคซีนโควิดน้อยที่สุดร้อยละ 47 ทั้งนี้ เมื่อแบ่งตามภูมิภาคปฏิบัติงาน พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ปฏิบัติงานในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยินดีรับวัคซีนโควิดมากที่สุดถึงร้อยละ 62 รองลงมาคือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ และน้อยที่สุดคือ กรุงเทพมหานครยินดีรับวัคซีนร้อยละ 46 ขณะที่เมื่อจำแนกตามเขตพื้นที่ควบคุมโรคสูงสุด คือสมุทรสาคร และพื้นที่ควบคุม คือ กรุงเทพฯ ปทุมธานีและสมุทรปราการ โดยพื้นที่กลุ่มนี้ยินดีรับวัคซีนมากกว่าพื้นที่อื่นๆ
ทั้งนี้ การตัดสินใจรับวัคซีนเมื่อแบ่งตามเพศพบว่า เพศชายมีสัดส่วนยินดีรับวัคซีนโควิดมากกว่าเพศหญิง โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 45-49 ปี ยินดีรับวัคซีนโควิดมากที่สุด ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่มีกลุ่มอายุน้อยกว่า 25 ปี ยินดีจะเข้ารับวัคซีนน้อยที่สุด ส่วนกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจำนวนหนึ่งที่ยืนยันว่าจะไม่รับวัคซีนโควิดอย่างแน่นอน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2-5 ในแต่ละกลุ่มอาชีพ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือผู้ป่วยร้อยละ 4.4 พยาบาลร้อยละ 4.3 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขร้อยละ 3.8 เป็นต้น
นอกจากนี้ ต่อคำถามว่า หากมีทางเลือกในการรับวัคซีนโควิดจะมีผลต่อการตัดสินใจหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 55 ยินดีรับวัคซีนโควิด โดยวัคซีนที่ต้องการคือ อันดับที่ 1 คือ AstraZeneca อันดับที่ 2 คือ Sinovac อันดับที่ 3 คือ Pfizer-BioNTech อันดับที่ 4 คือ Moderna และ Johnson and Jhonson และอันดับที่ 5 คือ Gamaleya
ส่วนอีกร้อยละ 35 ไม่แน่ใจในการรับหรือไม่รับวัคซีนโควิด โดยในกลุ่มนี้มีความคิดแตกต่างออกไป ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ73 มองว่า ถ้ามีคนจำนวนหนึ่งที่ได้รับวัคซีนก่อนหน้านี้แล้ว รองลงมาร้อยละ 12 จะรับถ้าเป็นวัคซีนที่ต้องการ ซึ่งวัคซีนที่มีความต้องการ คือ อันดับที่ 1 คือ AstraZeneca อันดับที่ 2 คือ Sinovac อันดับที่ 3 คือ Pfizer-BioNTech อันดับที่ 4 คือ Moderna และอันดับที่ 5 คือ Gamaleya นอกนั้นมีร้อยละ 9 ไม่รับวัคซีนแน่นอน และอีกร้อยละ 6 รับวัคซีนถ้ามีคนจำนนหนึ่งได้รับและเป็นวัคซีนที่ต้องการ
อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาภาพรวม พบว่า การมีทางเลือกจะส่งผลให้กลุ่มที่ไม่ยินดีรับวัคซีนหรือไม่แน่ใจ เข้ารับวัคซีนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 37 ซึ่งทางเลือกด้วยการมีคนจำนวนหนึ่งได้รับวัคซีนก่อนหน้า จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้มีความยินดีรับวัคซีนเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากที่สุด
ทั้งนี้ จากผลสำรวจดังกล่าวไฮแทป ได้สรุปข้อค้นพบสำคัญ คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มากกว่าครึ่งเล็กน้อย หรือร้อยละ 55 ยินดีรับวัคซีนโควิด19 ในทุกทางเลือก ในขณะที่ประมาณ 1 ใน 3 ยังไม่แน่ใจว่าจะรับวัคซีนหรือไม่ บุลคลากรทางการแพทย์ฯ เพศหญิงและผู้ที่มีอายุน้อย หรืออาชีพพยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์และแพทย์ เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มไม่รับวัคซีนโควิด19 หรือยังไม่แน่ใจ ในสัดส่วนสุงที่สุด การมีทางเลือกรับวัคซีนโควิด-19 ที่ตนเองต้องการและการทราบว่ามีผู้ที่ได้รับวัคซีนก่อนหน้าแล้ว ไม่มีอาการข้างเคียงรุนแรงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่อาจทำให้อัตราการยอมรับวัคซีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 90
อีกทั้ง ยังพบว่า การรับวัคซีนของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ฯ มีผลต่อการให้คำแนะนำให้บุคคลกลุ่มอื่นๆ รับหรือไม่รับวัคซีน จึงควรให้ความสำคัญกับการยอมรับวัคซีนในกลุ่มนี้ เพราะมีผลสำคัญต่อความสำเร็จของนโยบายการให้วัคซีนโควิดประเทศไทย
โดยไฮแทปมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ให้เร่งประชาสัมพันธ์ในเรื่องประสิทธิผลและความปลอดภัย โดยเฉพาะจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิดไปแล้วทั่วโลกของวัคซีนชนิดที่กำลังจะนำมาใช้ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มทางเลือกชนิดของวัคซีนโควิด ที่จะให้และรอบในการให้วัคซีนในกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจรับวัคซีนรอบแรกๆ โดยเฉพาะในบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล และมีระบบติดตามและสื่อสารจำนวนบุคลการทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว และปลอดภัยให้กลุ่มบุคลากรทราบเป็นระยะๆ ซึ่งจะเพิ่มการยอมรับมากขึ้น
- 49 views