ทีมจุฬาฯ เปิดความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด ChulaCov19 เริ่มทดลองวัคซีนโควิด mRNAในคน ระยะ 1 ในเดือน พ.ค. นี้ เตรียมเปิดรับสมัครหลังขออนุญาตวิจัยในคนแล้วเสร็จ พร้อมลุยพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 ต้านเชื้อกลายพันธุ์ ลั่นใช้งบ 2 ล้านจ้างบริษัทต่างชาติตรวจประกันคุณภาพ เพื่อให้การประเมินผลอย่างเป็นธรรม ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ
เป็นอีกข่าวดีของวงการสาธารณสุขไทยกับโอกาสที่คนไทยจะได้รับวัคซีนโควิด19 ชนิด mRNA ที่พัฒนาโดยทีมจุฬาฯ และบริษัท ไบโอเน็ท-เอเชีย จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะเริ่มทดลองในอาสาสมัครชุดแรกเร็วสุดปลายเดือนเม.ย.นี้ หรืออย่างช้าในเดือน พ.ค. และเตรียมพัฒนาผลิตในประเทศสำหรับวัคซีนรุ่นที่ 2 ในกรณีเชื้อรุ่นที่ 1 ดื้อวัคซีนอีกด้วย
งานนี้มาทราบรายละเอียดเกี่ยวกับวัคซีนโควิด ChulaCov19 โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีน covid19 ศูนย์วิจัยวัคซีนคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ อธิบายว่า หลังการรายงานผลการทดลองในหนูและลิงสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในระดับสูง ป้องหนูไม่ให้ป่วยได้ 100% ยับยั้งไม่ให้เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดได้ 100% เมื่อได้รับวัคซีน 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ ข่าวดีคือเบื้องต้น วัคซีนของจุฬาฯ สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็นปกติคือ 2-8 องศาเซลเซียสอย่างน้อย 1 เดือน ขณะนี้กำลังรอผลวิจัยที่ 3 เดือน ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาเรื่องการขนส่งกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ
“คาดว่าจะผลิตเสร็จเพื่อนำมาทดลองในอาสาสมัครได้ประมาณปลายเดือน เม.ย. ถึงต้นเดือนพ.ค.นี้ ขณะเดียวกันก็กำลังเตรียมการพัฒนารุ่น 2 เพื่อทดสอบในหนูทดลองเพื่อรองรับเชื้อดื้อวัคซีนในอนาคตเพราะเนื่องจากมี เชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังระบาดในหลายประเทศและบางสายพันธุ์ ซึ่งวัคซีน mRNA มีจุดเด่นคือสามารถออกแบบ วัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อตอบโต้เชื้อดื้อวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว โดยการรับอาสาสมัครฉีดวัคซีนนั้น ต้องรอขั้นตอนการขออนุญาตวิจัยในคนจากคณะกรรมการการวิจัยในมนุษย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน จึงจะเปิดรับสมัคร สามารถติดตามได้ผ่านเว็บไซต์ของจุฬาฯ” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ส่วนการทดลองในอาสาสมัครนั้น จะแบ่งการทดลองในคนออกเป็น ระยะ ที่ 1 กลุ่มตัวอย่างอายุ 18-55 ปี 36 คน และอายุ 65-75 ปี เป็นผู้มีร่างกายแข็งแรง ไม่มีภาวะป่วยที่ยังควบคุมไม่ได้ ไม่เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างได้รับยากดภูมิ ไม่เป็นโรคเลือดออกง่าย การศึกษาจะดูความปลอดภัยของวัคซีน และตามดูว่าภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงแค่ไหน และดูปริมาณโดสสำหรับคนไทย แบ่งเป็น 10, 25 ไมโครกรัม โดยจะเริ่มในกลุ่มอาสาสมัครอายุน้อยก่อน ถ้าปลอดภัยก็จะให้สูตรเดียวกันกับอาสาสมัครอายุเยอะต่อไป
ทั้งนี้การทดลองระยะที่ 1 ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จึงน่าจะเสร็จประมาณต้น ก.ค. ก็จะเริ่มทดลองระยะ 2 ต่อไป ซึ่งจะใช้อาสาสมัคร 300-600 คน โดยร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัย มหิดล โดยการทดลองระยะที่ 1 – 2 นั้นจะใช้วัคซีนที่ผลิตจากบริษัทต่างประเทศ กว่า 10,000 โดส จากนั้นจะทำระยะ 2B กลุ่มตัวอย่าง 5,000 คน ซึ่งกลุ่มนี้จะใช้วัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทไบโอเน็ท-เอเชีย จำกัด ส่วนระยะที่ 3 นั้นต้องขอชี้แจงว่า เนื่องจาก ขณะนี้ เราอยู่ในรายชื่อกรรมการวิจัยวัคซีนขององค์การอนามัยโลกด้วย ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการวิเคราะห์ข้อมูลวัคซีนทั้งหลายในโลกว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะทราบผลอีก 6 เดือน ถ้าทราบผลแล้ว โดยเฉพาะวัคซีน mRNA ตัวอื่นๆ หากพบว่ากระตุ้นภูมิได้ดี วัคซีนของเราก็อาจจะไม่ต้องทำการทดลองในระยะที่ 3 ก็ได้ แต่ต้องทดลองระยะ 2B แน่นอนเพื่อดูความปลอดภัยรอบสุดท้าย
ศ.นพ.เกียรติ ยังกล่าวถึงการพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 เพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ ว่า จุดเด่นของวัคซีนชนิด mRNA นั้นสามารถปรับปรุงให้เข้ากับเชื้อโรคได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำวัคซีนสูตรคอกเทล คือป้องกัน 3 สายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม สายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ในอังกฤษ และสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ในแอฟริกาใต้ หรืออาจจะเป็นสูตรผสม 2 สายพันธุ์ก็ได้ เป็นต้น ทั้งนี้จะเริ่มดำเนินการในสัตว์ทอดลอง ภายใน 2 เดือน โดยทำควบคู่ไปกับการทดลองวัคซีนรุ่นแรกในคนระยะที่ 1-2 เลย
“เมื่อทุกอย่างสำเร็จ โรงงานผลิตวัคซีนของไบโอเนท-เอเชีย จะสามารถผลิตวัคซีนได้อย่างครบวงจร วิกฤตรอบใหม่นี้จะทำให้เราสามารถปิดช่องว่างวงจรการผลิตวัคซีนในประเทศไทยได้ ถ้าในการทดลองวัคซีนรุ่นที่1 ยังไม่ทัน ก็หวังว่าการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 จะปิดช่องว่างได้” ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่าและว่า กำลังการผลิตของไบโอเนท-เอเชีย ปลายปี 2564 อยู่ที่ 1-5 ล้านโดส และปีต่อไปจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 20 ล้านโดส
ส่วนงบประมาณที่ใช้สำหรับการพัฒนาวัคซีน รวมถึงงบฯ จ้างบริษัทประกันคุณภาพจากต่างประเทศ ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า สำหรับงบประมาณนั้นเราได้จากรัฐบาลผ่านสถาบันวัคซีนแห่งชาติจำนวน 355 ล้านบาท เฉพาะรอบนี้ ยังไม่รวมการผลิตจริงในประเทศ โดยใช้เพื่อ 1. การซื้อสิทธิบัตรบางอย่างซึ่งเป็นเรื่องที่เราทำเองไม่ทัน 2.การรับถ่ายทอดเทคโนโลยี 3.การที่จะเริ่มทดสอบในอาสาสมัครระยะที่ 1-2 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และ 4. เพื่อการจ้างบริษัทประกันคุณภาพวัคซีนจากประเทศไอร์แลนด์ ประมาณ 2 ล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทคนนอกเลย ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับวัคซีนก็จะทำให้เกิดการประเมินผลอย่างเป็นธรรมทั้งการประเมินคุณภาพโรงงานผลิต และคุณภาพของวัคซีนด้วย
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวแสดงความยินดีกับความก้าวหน้า ที่คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ที่ร่วมกันพัฒนาวัคซีนครั้งนี้ โดยระบุว่า โครงการนี้ทำให้ตนเองมีความหวังอย่างมาก เชียร์ และให้กำลังใจต้องการให้โครงการนี้เกิดผลสำเร็จเร็วที่สุด และพร้อมให้การสนับสนุนทุกด้าน รวมถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลก็สอบถามความคืบหน้าทุกสัปดาห์ อีกทั้งกำชับเรื่องการสนับสนุนให้โครงการประสบผลสำเร็จ จะทำให้ประเทศไทยสามารถยืนได้บนขาของตัวเอง ระหว่างรอวัคซีนของคนไทย ก็พยายามหาวัคซีนเข้ามาใช้ด้วย โดยได้มา 63 ล้านโดส เพียงพอให้คนไทยจำนวนมากพอที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
"วันนี้เราสามารถปิดช่องว่างจากการที่มีวัคซีนในประเทศได้ แต่ก็อยากจะปิดท้าย ด้วยการผลิตวัคซีนโควิด 19 ที่ศึกษาวิจัยในประเทศไทยนั่นก็คือวัคซีนจากจุฬาฯ ถ้ายังผลิตไม่ได้ ก็จะไม่มีความมั่นคง การเจรจาซื้อจากต่างประเทศต้องใช้กำลังภายในมาก ผมอึดอัดเต็มทน อยากให้ประเทศไทยมีสิ่งที่สามารถให้เราพึ่งพาตนเองได้ นั่นคือวัคซีนจากจุฬาฯ ที่จะสำเร็จในเวลาอันใกล้ และอีกหลายๆ โครงการของไทย หากคืบหน้าเป็นไปอย่างที่ต้องการ ก็ต้องมีการคิดหาวิธีสนับสนุนต่อไป บนพื้นฐานของกฎหมาย ซึ่งเรายินดีทำให้" นายอนุทิน กล่าวทิ้งท้าย
- 383 views