เปิดเหตุผลองค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำให้ใช้มาตรการ "พาสปอร์ตวัคซีนโควิด 19" ส่วนกรณีรับผู้พ้นโทษจากมาเลเซียเข้าไทยเข้มมาตรการโควิด19

วันที่ 7 ก.พ. 64 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย ว่า ส่วนกรณีพาสปอร์ตวัคซีนซึ่งตามกฎอนามัยระหว่างประเทศใช้เป็นหลักฐานให้เกิดความมั่นใจว่าผู้เดินทางจะไม่นำเอาเชื้อโรคเข้าสู่ประเทศ เช่น โรคไข้เหลือง ที่พบมากในอเมริกาใต้และแอฟริกา ถ้าจะเข้าประเทศไทยต้องฉีดวัคซีนและมีหนังสือรับรอง คือ สมุดปกเหลือง ตามกติกาสากลขององค์การอนามัยโลก ส่วนโรคโควิด 19 การป้องกันเชื้อจากต่างประเทศคือการกักตัว 14 วัน การจะใช้มาตรการพาสปอร์ตวัคซีนแทนการกักตัวต้องมั่นใจว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ 100% มีข้อมูลว่าฉีดแล้วอยู่ได้นานแค่ไหน แต่ปัจจุบันวัคซีนโควิด 19 ยังวิจัยไม่เสร็จ เป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน

“องค์การอนามัยโลกแนะนำว่ายังไม่ควรกำหนดให้ใช้เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด 19 หรือพาสปอร์ตวัคซีนมาเป็นเงื่อนไขในการอนุญาตเข้าประเทศ เนื่องจากยังขาดข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด 19 ว่าฉีดแล้วจะไม่แพร่โรค ฉีดแล้วจะอยู่นานแค่ไหน หรือต้องฉีดซ้ำอีกกี่เข็ม เป็นต้น แต่ในอนาคตถ้ามีประสิทธิภาพเพียงพอ อาจมีความเป็นไปได้ที่จะนำพาสปอร์ตวัคซีนมาเป็นข้อกำหนด แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า  ส่วนสถานการณ์โรคโควิด 19 ระลอกใหม่ ภาพรวมจังหวัดต่างๆ สามารถควบคุมการระบาดได้ดี ยังมีรายงานการติดเชื้อที่สมุทรสาคร ตาก และ กทม. โดย จ.สมุทรสาครยังพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง แต่มีแนวโน้มลดลงหลังดำเนินการควบคุมตามแผน ขณะนี้ได้ใช้มาตรการ Bubble and Sealed ให้แรงงานทำงานอยู่ในโรงงานและภายในที่พัก ไม่ให้ปะปนแพร่กระจายเชื้อไปชุมชน หากเจ็บป่วยนำออกไปรักษา และยังคัดกรองในโรงงานขนาดเล็กหรือในชุมชนบางแห่งเพื่อค้นหาผู้ป่วย ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมและดำเนินการตามแผนอย่างต่อเนื่อง

ส่วน จ.ตาก ยังพบการติดเชื้อในชุมชน แสดงว่ายังมีการพบปะระหว่างคนไทยและเมียนมาทั้ง 2 ฝั่ง กรณีผู้ป่วยโรคโควิด 19 ชาวเมียนมาอายุ 75 ปี ที่พักอาศัยใน อ.แม่สอด พบติดเชื้อใน 4 ครอบครัวรวม 11 ราย ทำให้มีการกระจายไปชุมชน จำเป็นต้องยกระดับการควบคุมพื้นที่ให้เข้มข้นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเดินทางข้ามไป-มาของชาวเมียนมาและพบปะกันอยู่ ทำให้การควบคุมยากขึ้นและพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มๆ เป็นระยะ ขณะที่ กทม.ยังพบแรงงานต่างด้าวทำงานบ้านติดเชื้อแบบไม่มีอาการ และแพร่เชื้อไปยังนายจ้าง ต้องกำชับหลีกเลี่ยงการพบปะกับเพื่อนโดยไม่สวมหน้ากาก ลดการเดินทางและงดการรับประทานอาหารร่วมกันเป็นวงใหญ่  เพราะอาจแพร่เชื้อให้คนที่บ้านและที่ทำงาน

สำหรับชายแดนไทย-มาเลเซีย กรณีการประสานรับผู้พ้นโทษจากประเทศมาเลเซียผ่านจุดผ่านแดนถาวรกลับมาประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม - 5 กุมภาพันธ์ 2564 มีการผ่านด่านเบตง จ.ยะลา และด่านวังประจัน จ.สตูล จำนวน 66 ราย ตรวจพบการติดเชื้อ 19 ราย คิดเป็นร้อยละ 28.78 เนื่องจากอยู่รวมกันในที่กักกัน ก่อนเข้ามาในด่านอย่างถูกกฎหมายทำให้มั่นใจว่าจะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อเข้าสู่ประเทศ เช่นเดียวกับการขนส่งสินค้าข้ามแดน ที่ใช้โมเดลเดียวกับ อ.แม่สอด คือ ไม่ให้รถสินค้าเข้ามาในเมือง ขนส่งสินค้าในเซฟตี้โซนบริเวณชายแดน ไม่ให้คนขับลงจากรถมาปะปน และสุ่มตรวจหาเชื้อเชิงรุกเป็นระยะ ทำให้พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 ชาวมาเลเซียอายุ 40 ปี พนักงานขับรถขนส่งสินค้า โดยประสานส่งกลับไปกักกันที่มาเลเซีย ซึ่งต้องทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัด