ผู้ช่วย โฆษก ศบค. เผยกรณีดีเจมะตูมติดโควิด ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก! เสี่ยงสูง 113 ราย พบเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำเดินทางหลายสถานที่ กังวลให้หข้อมูลไม่สอดคล้อง ทำให้การควบคุมโรคสับสน ล่าสุดกรมควบคุมโรคทำหนังสือขอให้ดำเนินการตามกฎหมาย 4 กรณี
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึงกรณีดีเจมะตูม ว่า กรณีนี้มีการรายงานไปเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 64ที่ผ่านมา จากการสอบสวนพบว่า มีผู้ติดเชื้อ ตัวเลขอย่างเป็นทางการ 24 ราย หากนับวันนี้ก็จะเพิ่มอีก 2 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 113 ราย เสี่ยงต่ำอีก 53 ราย ซึ่งอาจทยอยรายงานตัวเลขภายในสัปดาห์นี้ด้วย
(ข่าวเกี่ยวข้อง : กทม.แจงกรณีไทม์ไลน์ผู้ป่วยโควิด19 ปกปิดข้อมูล ยืนยันเจ้าหน้าที่ยึดตามใบสอบสวนโรคของรพ.)
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ พบว่า ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและต่ำ เดินทางไปหลายสถานที่ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร แต่สิ่งที่เป็นความกังวล คือ การให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน ทั้งที่ไปสถานที่ใกล้เคียงกัน แต่ให้ข้อมูลที่สับสน ไม่สอดคล้อง บางรายปกปิดข้อมูล ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดออกไป การป้องกันจะล่าช้าไม่ทันการณ์ รวมถึง กทม. เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามคำสั่ง ศบค. ลงวันที่ 4 ม.ค. 64
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จึงทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักอนามัยมัยกรุงเทพมหานคร(กทม.) โดยเห็นว่า เข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ(พรบ.)โรคติดต่อ พ.ศ.2558 รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ดังนี้
1.ความผิดฐานขัดขวาง ไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามมาตรา 55 แห่ง พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
2.ความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ตามมาตรา 37 กฎหมายอาญา ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
3.สถานที่ใช้จัดงานเลี้ยงอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงแพร่โรค ไม่มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด
4.บุคคลที่ร่วมงานเลี้ยงก็อาจเข้าข่าย ฝ่าฝืนการห้ามทำกิจกรรม มั่วสุมในสถานที่แออัด ในข้อกำหนดมาตรา 9 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำและปรับ
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ต้องติดตามว่าจะมีการรายงานความผิดตามกฎหมายอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามตอนนี้เกิดปรากฏการณ์สังคมลงโทษผู้ติดเชื้อ จึงอยากให้สังคมติดตามข่าว ไม่เอาอารมณ์ตัดสิน ให้กรณีนำไปสู่การป้องกันในครั้งต่อไป ต้องยอมรับว่า มีเหตุการณ์ลักษณะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา การลงโทษผู้ติดเชื้อ ไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ขอให้กฎหมายเป็นผู้ดูแล แต่ประชาชนก็สามารถเรียนรู้เพื่อหามาตรการป้องกันในต่อไป
“เหตุการณ์ใกล้เคียงกันเกิดขึ้นที่ห้างไอคอน สยาม เมื่อวันที่ 16 ม.ค. รายงานพบผู้ติดเชื้อ โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงรร่วมกันในที่เดียว 12 ราย ขณะนี้ติดเชื้อแล้ว 7 ราย ตอนนี้ไอคอนสยามที่เดียว มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีก 200 ราย จำเป็นต้องเฝ้าระวังต่อ และต้องค้นหาเชิงรุกอย่างมาก” พญ.อภิสมัย กล่าว
(ข่าวเกี่ยวข้อง : “อนุทิน” ลั่นเป็นคนมอบ คร. ทำหนังสือถึง กทม. พิจารณากรณีไทม์ไลน์โควิด หากละเมิด กม. ต้องเอาผิด! )
- 55 views