"อนุทิน" ชี้วัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกาเข้าไทยต้น ก.พ.นี้ ด้านปธ.อนุกก.ใหวัคซีนฯ เผยส่วนซิโนแวคเข้าไทยอีก 2 แสนโดส ให้บุคลากรทางการแพทย์กลุ่มสมัครใจ
เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังไปร่วมสังเกตการณ์การแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยระบุถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับประสิทธิภาพ ที่มา และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่า กับเรื่องนี้เราไม่ได้กังวล ท่านนายกรัฐมนตรีเองก็ไม่ได้กังวล และมีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กล่าวหาแล้ว ซึ่งขอยันยันว่าเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเอาการเมืองมาเป็นประเด็น แล้วเอาสุขภาพประชาชนมาเป็นตัวประกัน แบบนี้ไม่ได้ ทำอะไรต้องมีหิริโอตปะ มีความละอายใจและเกรงกลัวต่อบาป ทั้งนี้การที่แจ้งความดำเนินคดีนั้นตนไม่ได้กังวลว่าจะทำให้ความขัดแย้งขยายตัวไป เพราะเป็นการเอาข้อมูลอันเป็นเท็จมาพูด และเอาเบื้องสูงมาพูดในทางสาธารณะ ให้ประชาชนฟัง ซึ่งประชาชนเขาแยกแยะออก
เมื่อถามว่ากังวลว่าประชาชนจะแอนตี้วัคซีนที่นำมาใช้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลไทยไม่เคยเอาอะไรที่ไม่ดี กระทรวงสาธารณสุขไม่มีวันเอาอะไรที่เป็นอันตรายหรือไม่เป็นประโยชน์มาให้กับประชาชน และตนจะเป็นคนฉีดคนแรก โดยมี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาสถานการณ์โควิด-19 เป็นผู้ฉีดให้ สิ่งที่เรานำเข้ามาเราต้องมั่นใจ กว่าจะผ่านมาถึงแขนเราได้นั้นผ่านกระบวนการศึกษาวิจัยมา การเอาเข้ามาฉีดให้ประชาชน แล้วเราจะไม่กล้าฉีดได้อย่างไร และล่าสุดวันนี้ ตัวที่เข้ามาตัวแรกคือแอสตราเซเนกา เพราะซิโนแวคยังรอการขึ้นทะเบียนในประเทศจีน ดั้งนั้นหากจะมีการฉีดเข็มแรกในประเทศไทย แนวโน้มน่าจะเป็น แอสตราเซเนกา ซึ่งก็ดีเพราะเป็นยี่ห้อเดียวกัน สูตรเดียวกันกับที่กำลังผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์
“วันนี้แอสตราเซเนก้าคอนเฟิร์มมาแล้วว่า 50,000 โดสแรกจะเข้ามาต้นเดือน ก.พ. จริงๆ คอนเฟิร์มมาจำนวน 1.5 แสนโดส แต่ที่จะมาต้น ก.พ. ก่อนคือ 50,000 โดส เป็นวัคซีนสำเร็จรูปล็อตที่ผลิตในต่างประเทศ ที่เหลือทยอยมาในเดือนมี.ค. ,เม.ย.” นายอนุทิน กล่าว
เมื่อถามว่าล็อตที่จะนำเข้ามารวมอยู่ใน 26 ล้านโดสที่ผลิตในประเทศไทยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่รวมกัน ขอให้แยกอีก 150,000 โดส เพราะเราขอไป 200,000 แสนโดส เราซื้อเหมือนปกติ เมื่อถามย้ำว่าแล้วอยู่ในจำนวน 35 ล้านโดสหลังที่ได้อนุมัติงบประมาณขอซื้อเพิ่มหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า 200,000 โดส เทียบกับ 26 ล้านโดส มันไม่ใช่สาระสำคัญเท่าไหร่ เมื่อบวกไปอีก 35 ล้านโดส ก็ยังไม่พอ เพราะครอบคลุมแค่ 30 ล้านคน แต่เราต้องการฉีดให้ครอบคลุมประชากรถึง 40-50 ล้านคน ตรงนี้จึงไม่มีนัยยะสำคัญอะไร
เมื่อถามถึงราคา นายอนุทิน กล่าวว่า ราคาเท่าเดิม ตามสัญญาที่ซื้อ 26 ล้านโดส คือ 5 เหรียญสหรัฐ เราก็ยังไม่ได้คุยต่อว่า หากเราจะซื้อเพิ่มอีก แต่ยังไงเราก็มีหน้าที่เจราจาเรื่องราคา แต่อย่างไรก็ตามงบประมาณครอบคลุมอยู่แล้ว ของพวกนี้ไม่ใช่ไปซื้อของถูกที่สุด เพราะแต่ละยี่ห้อก็มีคุณสมบัติต่างกัน ผลิตจากที่ต่างกัน ที่สำคัญคือเน้นความปลอดภัยและทั่วถึงประชาชน และจะมาต้นเดือนกุมภาพันธ์ มายังไงรวมค่าส่งหรือเปล่าเป็นรายละเอียดขอให้สอบถามไปยังสถาบันวัคซีนแห่งชาติ
เมื่อถามว่าเมื่อเป็นวัคซีนที่พร้อมฉีด และส่งเข้ามาในประเทศไทย จะต้องผ่านกระบวนการของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อนหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า อย.จะต้องมีกระบวนการ และคิดว่าขณะนี้อยู่ขั้นสุดท้ายของการพิจารณาขึ้นทะเบียนแล้ว แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าสถานการณ์ฉุกเฉินหรือปกติ ก็ต้องผ่าน อย.
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 กล่าวถึงความคืบหน้าการได้วัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับประเทศไทย ว่า ล่าสุดบริษัทแอสตราเซเนกา ได้ดำเนินการขอขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และคาดว่าเร็วสุดจะจัดส่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล็อตแรกจำนวน 50,000 โดสมายังประเทศไทยในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ.2564 และจะให้กับบุคลากรสาธารณสุขที่เป็นกลุ่มปฏิบัติงานในการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 รวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)
“โดยการจัดส่งวัคซีนนั้นจะมีคณะกรรมการพิจารณาว่าพื้นที่ไหน ซึ่งอาจไม่ใช่ 5 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดอย่างเดียว เพราะพื้นที่มีเปลี่ยนแปลง แต่ก็จะเน้นไปยังกลุ่มที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนจากซิโนแวคจากจีนที่จะเข้ามาอีก 2 แสนโดสในช่วงกุมภาพันธ์เช่นกัน” นพ.โสภณ กล่าว
เมื่อถามว่าหากบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นกลุ่มด่านหน้าโควิดปฏิเสธรับวัคซีนโควิดได้หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ได้ เพราะการให้วัคซีนครั้งนี้ไม่ได้บังคับ เป็นไปโดยความสมัครใจ อย่างไรก็ตาม จะมีการสอบถามก่อนในแต่ละพื้นที่ โดยเมื่อวัคซีนมาก็จะให้ดำเนินการผ่านโรงพยาบาลในจังหวัดนั้นๆ
เมื่อถามต่ออีกว่า จากการสอบถามเบื้องต้นบุคลากรทางการแพทย์มีความต้องการฉีดวัคซีนโควิดจากแอสตราเซเนกา หรือซิโนแวค นพ.โสภณ กล่าวว่า พอกัน แต่หากเป็นแพทย์อาวุโสอาจต้องการฉีดวัคซีนจากซิโนแวคมากกว่า เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีการผลิตแบบเก่าจากเชื้อตาย แต่บางส่วนก็ต้องการฉีดวัคซีนจากแอสราเซเนกา เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีทันสมัยกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ประสิทธิภาพการทดลองการใช้วัคซีนโควิดในต่างประเทศ ทั้ง 2 ตัวก็ไม่แตกต่างกันมาก ส่วนผลข้างเคียงเรามีคณะกรรมการคอยติดตามเรื่องนี้เช่นกัน อย่าง ณ วันฉีดก็จะมีการสอบถามว่า เคยมีประวัติแพ้หรือไม่ มีอาการอย่างไร ก็จะไม่ให้ฉีดอยู่แล้ว ซึ่งเราก็มีการกำหนดกลุ่มที่ยกเว้นการฉีดวัคซีนโควิด อย่างอายุน้อยกว่า 18 ปี หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากการทดลองฉีดในต่างประเทศไม่ได้ทดลองในกลุ่มนี้
- 53 views