บอร์ด สปสช. ประเดิมนัดแรก ปี 64 ถกวาระพิจารณางบประมาณจากเงินกู้ 2.99 พันล้านบาท สนับสนุนบริการเกี่ยวข้องโควิด-19 กำหนดกรอบ ม.ค. - มิ.ย. 2564 ทั้งคัดกรองป้องกัน รักษาพยาบาล พร้อมเตรียมรองรับผู้ว่างงานเข้าบัตรทองเพิ่มกว่า 1.3 แสนคน
ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) – เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 ได้มีการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 1/2564 โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. พร้อมด้วยกรรมการบอร์ด สปสช. ได้เข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ขณะนี้
ทั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ด สปสช. รับทราบยอดงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 2,999.69 ล้านบาท ที่ได้รับตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ (พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563) สำหรับบริการกรณีโควิด-19 และรายการอื่นที่เกี่ยวข้องกรณีโควิด-19 พร้อมมอบ สปสช.จัดทำร่างหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 (ฉบับที่ 3) เพื่อรองรับ และให้นำเสนอต่อบอร์ด สปสช. พิจารณาต่อไป
นายอนุทิน กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. วันนี้มีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 โดยเฉพาะในวาระนี้ที่เป็นการจัดสรรงบประมาณที่ได้รับจาก พ.ร.บ.เงินกู้ฯ เพื่อรับมือสถานกาณ์โควิด-19 โดยสนับสนุนหน่วยบริการให้บริการกรณีโควิด-19 ให้กับประชาชน ขณะเดียวกันเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนถึงการเตรียมความพร้อมของระบบรักษาพยาบาลที่มีกองทุนบัตรทองรองรับ ช่วยลดความวิตกกังวล ซึ่งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมเต็มที่ในการับสถานการณ์
“เราเสียใจที่มีเกิดการแพร่ระบาดอีกครั้ง แต่เรามั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรบกพร่อง แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นมาจากการทำผิดกฎหมายและอยู่นอกการควบคุม โดยเราจะทำความพร้อมที่มีอยู่ รวมถึงงบประมาณจัดสรรในครั้งนี้มาควบคุมและแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 โดยเร็วที่สุด” นายอนุทิน กล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า งบจำนวน 2,999.69 ล้านบาทดังกล่าว เป็นงบเพิ่มเติมงวดแรกเพื่อใช้สนับสนุนการให้บริการโควิด-19 และรายการที่เกี่ยวข้องในช่วง 6 เดือน เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2564 เบื้องต้นจัดสรรเป็นค่าบริการกรณีโควิด-19 จำนวน 2,228.68 ล้านบาท แยกเป็นค่าบริการป้องกันการติดเชื้อฯ 1,972.84 ล้านบาท ตามเป้าหมายบริการ 486,700 คน ค่ารักษาพยาบาล 255.85 ล้านบาท เป้าหมายบริการ 3,022 คน และรายการอื่นที่เกี่ยวข้อง 771.01 ล้านบาท แยกเป็นบริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 317.61 ล้านบาท เป้าหมายบริการ 2,365.90 ล้านคน เงินช่วยเหลือเบื้อต้นผู้ให้บริการกรณีโควิด-19 จำนวน 87.4 ล้านบาท เป้าหมาย 300 คน และค่าบริการตามสิทธิประโยชน์ระบบบัตรทองในกลุ่มคนว่างงาน 366 ล้านบาท เป้าหมายบริการ 137,000 คน
ส่วนค่าบริการกรณีโควิด-19 ในเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2563 ก่อนหน้านี้ ช่วงเริ่มต้นปีงบประมาณ 2564 สปสช. ได้นำงบคงเหลือจ่ายจากบริการกรณีโควิด-19 ปี 2563 จำนวน 471.42 ล้านบาท มาเบิกจ่ายให้กับหน่วยบริการแล้ว
“งบ 2,999.69 ล้านบาทนี้ คาดว่าจะใช้เฉพาะในช่วง 6 เดือนก่อน หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงจะมีการทำเรื่องขอเพิ่มเติมอีกครั้ง ซึ่งจะมีการปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริง อย่างต้นทุนบริการบางอย่างที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ค่าตรวจแลบ RT-PCR ที่ปัจจุบันลดลง เป็นต้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
- 1 view