โฆษก ศบค. เปิดรายละเอียดประกาศพรก.ฉุกเฉินฯ ฉบับ 17 ย้ำข้อปฏิบัติประชาชน 4 กลุ่มพื้นที่ “แดงเข้ม-แดง-ส้ม-เหลือง” ที่สำคัญต้องติดตั้งแอปฯ “ไทยชนะ-หมอชนะ” หากพบติดเชื้อจนยากต่อการสอบสวนโรคถือว่าละเมิดตามประกาศ ส่วนกรณี 5 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มข้นต้องมีเอกสารรับรอง เผยไม่จำเป็นต้องขอระดับจังหวัด “กำนัน – ผู้ใหญ่บ้าน- นายอำเภอ-บริษัทห้างร้าน” ออกเอกสารตามความจำเป็นได้
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 7 ม.ค. 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล COVID-19 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงกรณีการประกาศพ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 17) ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า วัตถุประสงค์หลักของประกาศฉบับที่ 17 สืบเนื่องจากการระบาดโควิดติดต่อจากคนสู่คน และการติดเชื้อระลอกใหม่มามาจากการเคลื่อนย้าย การเดินทาง การรวมกลุ่มกันอย่างแออัด ฯลฯ โดยประกาศนี้จะสอดคล้องกับมาตรการจากเบาไปหาหนักที่ว่าจะเข้มข้นขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การพบเชื้อกลาง ธ.ค. เหลืออีก 1 สัปดาห์จะครบ 1 เดือน ตัวเลขผู้ป่วยยังน่ากังวลใจ
สาระสำคัญคือ 1. การยกระดับบังคับใช้ป้องกันโรค 2. การยกระดับการใช้พื้นที่สูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มข้น และ3.การปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิดอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค
สำหรับข้อ 1. การยกระดับบังคับใช้ป้องกันโรค หลักการคือ การรักษาระยะห่าง การสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย การล้างมือ การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย การติดตั้งระบบแอปพลิเคชันที่กำหนด ตลอดจนยอมรับการกักกันตนตามระยะเวลาและในสถานที่ที่กำหนดหากอยู่ในข่ายที่ต้องรับการกักกัน และต้องมีการติดตั้งแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” และไทยชนะ” ดังนั้น หากต่อไปใครที่พบเชื้อและตรวจสอบได้ว่า ไม่มีการติดตั้งการใช้แอปฯ หมอชนะ ถือว่าทำละเมิดประกาศฉบับที่ 17 นี้
(ข่าวเกี่ยวข้อง : “หมอเลี๊ยบ” ค้าน ศบค. กรณีคาดโทษผู้ติดโควิดแต่ไม่มี'หมอชนะ' จำคุก 2 ปีปรับ 4 หมื่น)
(ข่าวเกี่ยวข้อง : “อนุทิน” เคลียร์ ไม่โหลดแอปฯ “หมอชนะ” ไม่ผิด นำเรียนนายกฯ แก้ไขคำสั่ง)
2.การยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวด คือ ต้องมีการตรวจสอบและควบคุมการใช้เส้นทางคมนาคมในการเดินทางเข้าออกพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง และสมุทรสาคร เนื่องจากพื้นที่กลุ่มนี้ยังมีการระบาดสูงอยู่ โดยคนที่ไม่ติดเชื้ออยู่ในพื้นที่รองลงมา อย่าเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว และพื้นที่เสี่ยงก็ไม่ควรเดินทาง โดยให้จังหวัดจัดการเรื่องนี้ในการลดการใช้เส้นทางคมนาคม นอกจากนี้ ต้องตั้งจุดตรวจหรือจุดสกัด เพื่อคัดกรองการเดินทางเข้าออกพื้นที่อย่างเข้มงวด และให้ผุ้ที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดติดตั้งและใช้ระบบแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” และบุคคลที่ประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดต้องแสดงเหตุผลความจำเป็น โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่นๆ ควบคู่กับเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ เว้นแต่เป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ศบค.มท.กำหนด
3.การปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิดอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค คือ ให้ดำเนินการปราบปรามและลงโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบขนย้ายแรงงานต่างประเทศ รวมทั้งการปล่อยปละละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นต้นตอของการระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อนจนส่งผลกระทบรุนแรง โดยมีวิธีการคือ กำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบเพื่อนำตัวผู้กระทบความผิดมาดำเนินการลงโทษตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำชับดูแลการดำเนินการและเสนอมาตรการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก ให้ศปม.หน่วยงานความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ปฏิบัติการกวดขัน สอดส่องและเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งการเปิดให้มีการมั่วสุมลักลอบเล่นการพนัน สนับสนุนการมีส่วนร่วมตรวจสอบของประชาชน หากพบเห็นการกระทำหรือการปล่อยปละละเลย โดยให้โทรแจ้งได้ที่ศูนย์บริหารจัดการโควิด หรือโทร 1111
“วันนี้เป็นวันแรกในการใช้ประกาศฉบับนี้ จึงต้องปฏิบัติอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด (23+5จังหวัด) โดยขณะนี้ทางกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศโทรสารในราชการกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 6 ม.ค. 2564 แจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด /ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และปลัดกทม. โดยเนื้อหาสาระสำคัญ ประกอบด้วย 1.ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจในเส้นทางคมนาคมที่เป็นเส้นทางหลักในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัด 2. ตั้งจุดตรวจด่านตรวจที่เป็นเส้นทางรอง โดยผู้ว่าฯ มอบหมายให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรท้องถิ่นจัดตั้งจุดตรวจตามเส้นทางรองตามความจำเป็นและเหมาะสม ตรงนี้สำคัญเพราะจากนี้จะไม่ใช่แค่เส้นหลักเท่านั้น ในหมู่บ้านจะมีจุดตรวจเพิ่มขึ้น”นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า 3.ประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง โดยให้นายอำนาจแจ้งข้อมูลแก่หมู่บ้าน ให้ประชาชนงดเดินทางข้ามจังหวัด ยกเว้นมีเหตุผลจำเป็น ต้องแสดงเหตุผลและมีเอกสารหลักฐาน รวมทั้งต้องตรวจคัดกรองโรค ซึ่งจะทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง หรือใช้เวลาการเดินทางมากกว่าปกติ 4.สำหรับ 5 จังหวัดที่เข้มงวดขึ้น ต้องทำเพิ่มอีก 5 ข้อ คือ 1)ตรวจวัดอุณหภูมิ สังเกตอาการของผู้เดินทาง 2) สอบถามความจำเป็นในการเดินทางให้ชัดเจน สอบถามสถานที่ปลายทางให้ชัดเจน 3)ตรวจสอบการติดตั้งแอปฯ หมอชนะหรือไม่ 4) ตรวจสอบเอกสารรับรองความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ในการติดต่อราชการ และ5) บันทึกข้อมูลของผู้เดินทาง
“ส่วนอีก 23 จังหวัดจะลดเรื่องเอกสารรับรองไม่มี ส่วนอีก 49 จังหวัดจะเหลือ 2 ข้อ คือ วัดอุณหภูมิ กับสอบถามเหตุผลความจำเป็นในการเดินทาง ดังนั้น ขอให้ประชาชนสามารถเข้าไปในเว็บไซต์ของกระทรวงหาดไทย จะมีรายละเอียดประกาศมาตรการของแต่ละจังหวัดได้ นี่คือ สิ่งที่จะมีความยุ่งยากกันมากขึ้น แต่ไม่หนักขนาดห้ามเดินทาง แต่ขอความจำเป็นในการเดินทางจริงๆ อย่างการเดินทางเพื่อทำงาน หากงานสามารถปรับเปลี่ยนเป็นทำงานที่บ้าน หรือ Work From home โดยหากผู้ประกอบการสามารถจัดให้มีการทำงานแบบ Work From home ได้ขอให้ช่วยสนับสนุน หรือการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ การประชุมออนไลน์ก็เห็นมากขึ้น ซึ่งที่ประชุม ครม.ก็เป็นตัวอย่าง ลดการเดินทาง ลดการพบปะกันก็จะลดโรคได้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สรุปจังหวัดสีแดงเข้ม สิ่งที่ประชาชนต้องทำ คือ 4 ข้อ คือ 1)ตรวจวัดอุณหภูมิ สังเกตอาการของผู้เดินทาง 2) สอบถามความจำเป็นในการเดินทางให้ชัดเจน สอบถามสถานที่ปลายทางให้ชัดเจน 3)ตรวจสอบการติดตั้งแอปฯ หมอชนะ และ 4) ตรวจสอบเอกสารรับรองความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ในการติดต่อราชการ ส่วนพื้นที่สีแดงทำ 3 ข้อ สีส้ม 3 ข้อ คือ คือ 1)ตรวจวัดอุณหภูมิ สังเกตอาการของผู้เดินทาง 2) สอบถามความจำเป็นในการเดินทางให้ชัดเจน สอบถามสถานที่ปลายทางให้ชัดเจน 3)ตรวจสอบการติดตั้งแอปฯ ไทยชนะหรือ หมอชนะหรือไม่ ส่วน สีเหลือง 2 ข้อ คือ 1)ตรวจวัดอุณหภูมิ สังเกตอาการของผู้เดินทาง 2) สอบถามความจำเป็นในการเดินทางให้ชัดเจน สอบถามสถานที่ปลายทางให้ชัดเจน แต่ทุกข้อขอเติมเช็กไทยชนะทั้งหมด นี่คือสิ่งสำคัญ เพราะหากท่านป่วยแล้วพบว่ามีแอปฯ ไทยชนะ จะไม่มีความผิด แต่หากพบว่า ท่านป่วยและไม่มีแอปฯ ไทยชนะ สร้างความยุ่งยากในการสอบสวนโรค ถือว่าละเมิด บทบาทต่อไปก็จะมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ
“การไปรอเอกสารรับรองข้ามจังหวัดนั้น สามารถขอได้ทางผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ หรือนายจ้างกรณีทำงานเอกชน ไม่จำเป็นต้องไปถึงจังหวัด ไม่ต้องไปรอคิว อย่างกรณีทำงานเอกชนมีเอกชนรับรองจากบริษัท ห้างร้านได้ว่า ต้องขนส่งต้องเดินทางเส้นทางนี้ทุกวัน ส่วนกรณีประชาชนทั่วไป ก็สามารถขอผู้ใหญ่บ้านได้ หากมีเหตุผลเพียงพอ ดังนั้น ขอให้คิดถี่ถ้วนในการเดินทาง กรณีทำงานหากท่านสามารถทำงานที่บ้านได้ขอให้ทำ อย่าง 5 จังหวัด หรือ 28 จังหวัดที่ต้องมีหนังสือเดินทาง โดยทุกคนควรต้องมีหากท่านติดเชื้อ หากไม่มีจะมีบทลงโทษ” โฆษก ศบค. กล่าว
- 31 views