ไขข้องสงสัยแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ข้อดีติดตามตัวตน สามารถตรวจสอบไทม์ไลน์ได้ ติดตามผู้ติดเชื้อว่าสัมผัสกับใคร พบใครบ้าง และเตือนให้มารายงานตัว ทำให้ทราบไทม์ไลน์ได้แม่นยำมากขึ้นระดับนาที
เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีข้อกังวลในการประเมินความเสี่ยงการติดโควิด-19 ของแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เพราะบางคนประเมินอาการว่าป่วย แต่ความประเมินกลับเสี่ยงน้อย ว่า แอปฯ หมอชนะ เป็นเทคโนโลยีเหมือนในหลายประเทศทั่วโลก ที่นำมาใช้ควบคุมการระบาดของโรคระดับใหญ่ อย่างโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 โดยช่วงต้นของการระบาดประเทศไทยมี “ ไทยชนะ” ที่ใช้สแกนก่อนเข้าพื้นที่ต่างๆ ข้อดี คือ เมื่อเกิดผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยเข้าไปในพื้นที่ ก็สามารถระบุตัวตนได้ว่าเป็นใคร และมีการแจ้งเตือนให้ผู้ที่อยู่รอบข้างมาตรวจหาเชื้อได้
นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนในกรณีการประเมินความเสี่ยงนั้น ต้องเรียนว่าหมอชนะ มีการใช้มาตั้งแต่ช่วงต้นของการระบาดเมื่อปีที่แล้ว โดยขณะนั้น จะเน้นเรื่องให้ประชาชนประเมินความเสี่ยงของตนเอง แต่เวอร์ชั่นล่าสุดไม่ได้เน้นตรงจุดนั้น เนื่องจากทำให้ระบบซับซ้อนเกินไปและประโยชน์ค่อนข้างน้อย จึงทำให้ความสำคัญของหมอชนะไปเน้นเรื่องของการติดตาม เมื่อพบผู้ติดเชื้อก็สามารถหาไทม์ไลน์และค้นหาผู้สัมผัสให้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังสามารถบอกได้ว่าเราเดินทางไปจุดใดบ้างและสัมผัสกับใครบ้าง
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า แอปฯ “หมอชนะ” มีความแตกต่างจากแอปฯ “ไทยชนะ” คือ 1.สามารถบอกได้ว่าเราเดินทางไปจุดใดบ้าง เมื่อเกิดโรคระบาดหรือมีผู้ติดเชื้อขึ้นมาจะตรวจสอบได้ว่าผู้ติดเชื้อคนนั้นไปสัมผัสกับใคร ไปพบใครบ้างและจะมีข้อความไปเตือนให้มารายงานตัว ทำให้ทราบไทม์ไลน์ได้แม่นยำมากขึ้นระดับนาที จากเดิมที่แพทย์ใช้การสัมภาษณ์ผู้ป่วย แม้จะไม่ปิดบังข้อมูลแต่อาจจำไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหา 2.หากมีการปกปิดข้อมูลก็จะใช้เวลาสอบไทม์ไลน์นานมาก ดังนั้นหากมีแอปพลิเคชันนี้ที่ระบุข้อมูลได้แม่นยำ ระบบก็จะประมวลผลเองว่ามีการสัมผัสกับใครในช่วงไหน ทำให้ระบบควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และชีวิตประจำวันของเราก็จะไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอขั้นตอนรายละเอียดหมอชนะ ให้ประชาชนรับทราบในครั้งต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการประเมินความเสี่ยงของตนเองนั้น สัปดาห์หน้าทางระบบจะมีการปรับแก้โดยนำฟีเจอร์ดังกล่าวออก เพื่อให้การทำงานของระบบสะดวกขึ้น
- 501 views