ผลการประชุม ศบค. ชุดเล็กทบทวนยกระดับมาตรการสกัดโควิดต่างๆอีกครั้ง ก่อนเสนอนายกฯพิจารณา อาทิ จัดงานแต่งงานได้ แต่จำกัดคนพร้อมต้องขออนุญาต การจำหน่ายอาหารเครื่องดื่มให้จัดระเบียบเข้าใช้บริการ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสามารถพิจารณาตามเหมาะสม การจำหน่ายสุราในร้านอาหาร ห้ามบริโภคในร้าน เป็นต้น

วันที่ 3 ม.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) กล่าวถึง(ร่าง)ประกาศศบค.ฉบับที่ 16 ที่จะนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เพื่อลงนามในประกาศ ว่า ขณะนี้ยังคงเป็นร่าง หลังจากที่ ศบค.ชุดเล็กได้ร่วมหารือกับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เมื่อช่วงเช้าวานนี้(2 ธันวาคม) ซึ่งได้ทบทวนมาตรการต่างๆ กันตลอด 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาและนำมาพูดคุยในที่ประชุมช่วงเช้าวันนี้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในมาตรการที่จะออกมา นำเรียนว่ามาตรการเหล่านี้จะดูจากเหตุการณ์และข้อมูลที่มี สิ่งที่เราเข้าใจคือ จังหวัดต่างๆ แตกต่างกันไป จึงมีการปรับแก้ไขบ้าง เพื่อนำเสนอให้ ผอ.ศบค.พิจารณา

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงใน 8 ข้อ และขอเกริ่นนำร่างประกาศ ดังนี้ 1.ห้ามใช้อาคารสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคหรือการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ยังเน้นย้ำว่าใช้ควบคุมพื้นที่สีแดง ที่คาดว่าจะประกาศออกมาใน 28 จังหวัด ซึ่งจะเป็นพื้นที่พบผู้ป่วยจริงและรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง เป็นป้องกันไม่ให้คนจากพื้นที่พบผู้ป่วยจำนวนมากแล้วเดินทางไปในพื้นที่อื่นใกล้เคียงที่มีผู้ติดเชื้อน้อยกว่า เช่น หากให้ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นสีขาวคนจาก จ.เพชรบุรี ก็จะวิ่งมาที่ประจวบคีรีขันธ์เพื่อมาซื้อข้าวของ หรือมาเข้าสถานบันเทิงอีกในจังหวัด ในภาคประชาชนเข้าใจได้ยากแต่ในภาคปฏิบัติต้องทำให้ง่าย ดังนั้น การประกาศสีแดงต้องครอบคลุมจังหวดที่เป็นบัฟเฟอร์(Buffer) คือจังหวัดใกล้เคียงด้วย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า 2.ห้ามจัดกิจกรรมที่เป็นความเสี่ยงต่อการควบคุมโรค เช่น การประชุม สัมมนา จัดเลี้ยง แจกจ่ายอาหารหรือสิ่งของ เว้นแต่เป็นการดำเนินงานโดยพนักงานเจ้าหน้าที่หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีหลายคนถามว่า การจัดงานแต่งที่คนไม่เยอะ มีการแจกการ์ดไปแล้ว ตรงนี้เราเปิดช่องเอาไว้คือสามารถขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ในจังหวัด แต่ต้องมีมาตรการสาธารณสุขรองรับ โดยจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัด/กรุงเทพมหานคร โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ โดยดำเนินการที่เข้มข้นกว่ามาตรการหลักได้แต่อ่อนกว่าไม่ได้

3.การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคอาศัยอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถสั่งปิดสถานที่ได้ 4.เงื่อนไขการเปิดดำเนินการเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมต่อไปนี้เปิดภายใต้เงื่อนไข เวลา และการจัดระบบระเบียบที่กำหนด (1) การจำหน่ายอาหารเครื่องดื่มให้จัดระเบียบเข้าใช้บริการ จำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน โดยอาจให้เป็นลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่น โดยใน ศบค.มท. และ ศบค.สธ. ร่วมกันพิจารณาการกำหนดรูปแบบและกำกับให้เหมาะสม โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสามารถพิจารณาตามเหมาะสมว่าให้นำกลับหรือนั่งรับประทานที่ร้านได้ (2)การจำหน่ายสุราในร้านอาหาร ห้ามบริโภคในร้าน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ห้างสรรพสินค้ายังเปิดบริการได้ตามเวลาปกติ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งปิดหรือเปิดสถานที่ตามความเหมาะสม ขณะที่ยังไม่มีการห้ามเดินทางข้ามจังหวัด แต่ต้องตรวจคัดกรองโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะผู้เดินทางจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด ทั้งนี้ให้ดำเนินการตามมาตรการของ ศปก.ศบค. กำหนดและไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินกว่าเหตุ อย่างไรก็ตาม ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่ เว้นแต่ความจำเป็น

“สรุปคือขอความร่วมมือ แต่ไม่งดการเดินทาง หากมีความจำเป็นก็สามารถทำได้ ยังสามารถทำงานได้ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องเข้มงวด อาจมีความไม่สะดวก เช่น ตั้งด่านบ่อยขึ้น เพื่อคัดกรองผู้เดินทางจากพื้นที่สีแดงหรืออย่างไร จะได้ดูว่ามีความจำเป็นจริง ๆ อาจมีด่านเพิ่มขึ้น แต่ต้องไม่ว่า เพราะเราต้องคัดกรองคนที่ไม่จำเป็น อย่าเดินทาง รวมถึงการทำงานจากที่บ้าน(Work From Home) สลับวันและเหลื่อมเวลาทำงานให้ทำอย่างเต็มที่” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ให้พิจารณาผ่อนคลายหรือบังคับใช้มาตรการป้องงกันและยับยั้งเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม โดยมาตรการในฉบับนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรขึ้นอยู่กับการอำนาจของ ผอ.ศบค. และจะออกในวันพรุ่งนี้(4ธันวาคม) หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของท่านนายกฯ

เมื่อถามว่าหากกรุงเทพมหานคร ประกาศเป็นพื้นที่สีแดง ประชาชนที่เป็นร้านอาหารจะต้องรับมาตรการจากทางใด ว่าจะเปิดร้านอาหารให้นั่งรับประทานได้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จะต้องฟังจากทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จะเป็นผู้ประกาศออกมาว่าจะใช้แนวทางได้ จะเป็นเทคอะเวย์(Take away) ทั้งกรุงเทพฯ หรือแค่บางพื้นที่ เป็นอำนาจของท่านผู้ว่าฯ ที่จะประกาศมา

ส่วนเรื่องของการเดินทาง หากเป็นผู้อยู่ในพื้นที่สีแดงและต้องเดินทางไปในพื้นที่สีส้มหรือเหลือง ยังคงทำได้ เช่น สายการบิน รถประจำทาง รถตู้ ขนส่ง แต่ว่าการสอบสวนโรคพบว่ามีการติดต่อของโรคจากยานพาหนะ ขนส่ง ที่ประชุมของ ศบค. มีข้อสรุปจาก ศบค.สธ.ว่ามีผู้ขับรถประจำทางติดเชื้อ ทำให้ผู้เดินทางร่วมติดเชื้อร่วมไปครึ่งคันรถ หากเกิดขึ้นที่สายใดก็เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับคมนาคมจังหวัด พิจารณามาตรการที่เข้มกว่าประกาศของศบค.ได้ เช่น คำสั่งให้หยุดการเดินรถได้ เป็นสิ่งที่ต้องใช้ข้อมูลแต่ละจังหวัดนำมาออกมาตรการรายจังหวัด

“การเดินทาง เราไม่ให้อยากให้เดินทางมาก ให้ลดลงให้ได้ เพราะหลักการติดเชื้อคือไปมาหาสู่กัน การเดินทาง การนั่งในรถก็ไม่เว้นระยะห่าง ทุกอย่างที่ไม่ถูกต้องก็อาจทำให้เสี่ยงติดโรคได้ ดังนั้นเป็นกิจกรรมที่ต้องควบคุมแต่ไม่ตึงตัวเหมือนที่เราประกาศตอนแรกถึงขั้นงดการบิน ต้องมีการประนีประนอมพอเหมาะพอสม” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว