“ริซกี สาร๊ะ” เรียบเรียงข้อมูลความสำคัญของ “หมออนามัย” นักสาธารณสุข ในสถานการณ์การระบาดชองโรคโควิด -19

ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นด่านหน้าในการช่วยเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรคโควิด-19 หนึ่งในนั้นที่รู้จักกันดี ในชื่อ หมออนามัย ซึ่งหมายถึงนักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข) ซึ่งสวมใส่เสื้อฟ้าขาว ออกปฏิบัติงานด่านหน้าในชุมชน ที่คอยควบคุมป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ และงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน

หมออนามัย ไม่ใช่ อสม(เสื้อเทา). และไม่ใช่ทั้งแพทย์(เสื้อกาวน์) หรือพยาบาล(เสื้อขาว)

มาทำความรู้จัก “นักสาธารณสุข นักรบเสื้อฟ้าต้านภัยโควิด-19”

หมออนามัย คือใคร

จาก “สุขศาลา” “สถานีอนามัย” จนมาถึง “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล”

จาก “หมออนามัย” ที่ชาวบ้านเรียก หรือในตำแหน่งทางราชการ เรียกว่า “เจ้าพนักงานสาธารณสุข” “นักวิชาการสาธารณสุข” ฯลฯ

ปัจจุบันบุคลากรสาธารณสุขเหล่านี้ พัฒนาตนเองจนมีใบประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนแล้ว หรือปัจจุบันที่เราเรียกตนเองในภาพรวมๆว่า “นักสาธารณสุข”

ภาพที่ชาวบ้าน เห็นจนชินตา คือภาพหมออนามัยที่ขับรถจักรยานยนต์ รถยนต์ข้ามแม่น้ำ ขึ้นเขา ลงห้วย หรือส่งคนไข้จากเกาะขึ้นฝั่ง เป็นภาพจริง ที่ไม่ได้ใช้ตัวแสดงแทน เป็นชีวิตจริงที่ไม่ค่อยได้ผ่านจอทีวี มากนัก ยิ่งหน้าฝน ช่วงอุทกภัยต้องใช้โซ่พันล้อ ลุยโคลนออกพื้นที่ แม้อาจจะมีความเสี่ยงในด้าน สภาพภูมิประเทศ โคลนตม หุบเหวแม่น้ำ หรือโรคระบาดต่างๆที่ต้องเผชิญ แต่เพื่อสุขภาพเเละความสุขของชาวบ้าน และ ความลำบาก เสี่ยงอันตรายเหล่านี้จึงไม่ใช่ปัญหา

เพราะบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขทุกคน ต่าง “ยึดถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง...” ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระราชบิดาด้านการสาธารณสุขและการแพทย์ไทย

นพ.สุรเกียรติ อาชานุภาพ เคยกล่าวถึงหมออนามัยไว้ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 ไว้ว่า

"ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายสถานีอนามัยทั่วประเทศได้สร้างประโยชน์หรือคุณูปการอย่างใหญ่หลวงในการควบคุมและป้องกันโรคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอนามัยแม่และเด็ก ถ้าไม่มีหมออนามัยเด็กก็จะยังเป็นโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ไม่ว่า ไอกรน คอตีบ บาดทะยัก โปลิโอ รวมทั้งหัดที่กำลังสูญพันธุ์ เนื่องจากคงไม่สามารถครอบคลุมการฉีดวัคซีนได้ครบ ในเรื่องการวางแผนครอบครัวที่ประเทศไทยมีชื่อเสียงโด่งดัง ประสบผลสำเร็จก็เกิดจากน้ำมือของหมออนามัย นี่ยังไม่ได้พูดถึงอนามัยสิ่งแวดล้อม การสุขาภิบาล และการสร้างส้วม สร้างถังเก็บน้ำในสมัยก่อน. นอกจากนี้ หมออนามัยยังได้ช่วยเหลือชาวบ้านมากมาย รวมทั้งด้านการปฐมพยาบาลและการรักษาโรคเบื้องต้น. ปัจจุบันนี้มีโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น หลายครั้งที่คนไข้หมดสติเนื่องจากน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งหากนำส่งโรงพยาบาลโดยไม่ช่วยเหลือเบื้องต้นก่อน ผู้ป่วยคงตายแน่ หมออนามัยก็มีบทบาทช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยการฉีดกลูโคส ทำให้ผู้ป่วยฟื้นขึ้นมา รอดชีวิต อันนี้ผมเคยไปสัมผัสมาในหลายพื้นที่. แม้ในปัจจุบันปัญหาใหม่ เช่น เบาหวาน ความดันสูง หมออนามัยก็มีบทบาทในการปรับพฤติกรรมและควบคุมป้องกันโรค จึงกล่าวได้ว่าสถานีอนามัยเป็นระบบบริการปฐมภูมิที่ได้มีวิวัฒนาการตลอดมาในประวัติศาสตร์สาธารณสุขไทยในช่วงเวลาห้าสิบปีที่ผ่านมา ก่อนจะมีวาทกรรมหรือศัพท์แสงใหม่ๆ เช่น คำว่า "PCU" ........

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนภูเขาสูงหรือชายแดนห่างไกลชุมชนเมืองนั้น หมออนามัยคือที่พึ่งสำคัญของพวกเขา หมออนามัยส่วนใหญ่ปฏิบัติงานในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย ยากลำบาก ตรากตรำ ไม่น่าพิสมัย บางในพื้นที่ยังเป็น ป่า เขา ดง ดอย เกาะ ฯลฯ แต่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการให้บริการดูแลสุขภาพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้านการสาธารณสุขในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง ทำทุกผลงานตามตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุขให้บรรลุตลอดมา

จากหมออนามัย ที่ไม่มีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน สู่ นักสาธารณสุข ที่มีใบประกอบวิชาชีพ

ในการทำงานในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย ตามชายแดน เกาะ ดงดอย หมออนามัยบางคนต้องเดินทางไปทำคลอดให้ชาวบ้านที่อยู่ห่างไกล ต้องฉีดวัคซีน วางแผนครอบครัว ป้องกัน ควบคุมโรคต่างๆ รวมถึงงานสุขาภิบาล อาชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม

หมออนามัยทำงานดูแลสุขภาพประชาชนแบบนี้มาเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2456 (ยุคสุขศาลา) จนกระทั่งในปี พศ. 2556 บุคลากรเหล่านี้ มี “พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน....”

ซึ่งผลักดันโดยนายไพศาล บางชวด และพี่น้องหมออนามัยทั่วประเทศร่วมขับเคลื่อน ผลักดัน จนสำเร็จ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อช่วยให้หมออนามัย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ไม่ใช่แพทย์หรือพยาบาลในสถานีอนามัยมีกฎหมายรองรับการทำงาน มีเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งจรรยาบรรณวิชาชีพเทียบเท่ากับวิชาชีพอื่นๆและการมีพรบ.วิชาชีพคือการให้การรับรองการปฏิบัติงานที่ถูกระเบียบ ถูกกฎหมาย และประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

สถานการณ์ด้านสาธารณสุขภายใต้บริบทความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลก

ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ผนวกกับปัญหาสุขภาพใหม่ๆ ที่สังคมไทยและสังคมโลกต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคมสูงวัย ปัญหาโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ ปัญหาภัยพิบัติ ความรุนแรงและการก่อการร้าย รวมทั้งผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ที่มีต่อสุขภาพ ล้วนแต่เป็นความท้าทายที่ต้องเผชิญ ของการทำงานสาธารณสุขในปัจจุบัน และต้องอาศัยสหวิชาชีพ และหลายภาคส่วนมาบูรณาการและทำงานร่วมกัน

หมออนามัย หรือ นักสาธารณสุข ก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น ในช่วงที่มีสถานการณ์ระบาดโควิด-19 หมออนามัย ในฐานะบุคลากรสาธารณสุขหน้าด่าน และอสม. (ซึ่งมีหมออนามัยเป็นพี่เลี้ยง) ก็ต้องลงพื้นที่ก่อนใครเพื่อน

นักรบเสื้อฟ้าต้านภัยโควิด-19

ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก รวมถึงมีการระบาดในประเทศไทยด้วย ทำให้เกิดวิกฤติการณ์ต่างๆในสังคมไทย ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหมออนามัย และนักสาธารณสุข ที่เรียกตนเองว่า “นักรบเสื้อฟ้าต้านภัยโควิด-19” ต่างต้องทำงานหนักมากขึ้นจากเดิม ทั้งการดูแลรักษา การตรวจหาเชื้อ(SWAB) งานทางระบาดวิทยา(การคัดกรอง,การเฝ้าระวัง,การป้องกันและควบคุมโรค,การสอบสวนโรค) งานอนามัยชุมชน( การตรวจเยี่ยม/ตรวจสอบกลุ่มเสี่ยง การเยี่ยมติดตามตรวจเคสที่ถูกกักกัน14 วัน) งานส่งเสริมสุขภาพและการให้สุขศึกษา (การดูแลสุขภาพตนเอง การกินร้อน ช้อนส่วนตัว ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย การทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อในแหล่งสัมผัสโรคหรือสัมผัสกลุ่มเสี่ยง การรณรงค์สร้างจิตสำนึกต่างๆ การส่งต่อผู้ป่วย) การเยียวยาและการฟื้นฟูสภาพ รวมทั้งการสื่อสารข้อมูลสถานการณ์โรคที่ถูกต้องแก่ประชาชน ฯลฯ

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในวันที่ 14 เมษายน 2563 เนื่องในวันหมออนามัยแห่งชาติ ไว้ว่า ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนหรือหมออนามัย เป็นบุคคลสาธารณสุขที่สำคัญใกล้ชิดประชาชนที่สุด ทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และหน่วยงานในชุมชน เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการควบคุม การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 โดยทำงานควบคู่กับ อสม.ทุกขั้นตอน ให้องค์ความรู้แก่ อสม. และเคาะประตูบ้าน ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด ตามมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มข้นทำให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการป้องกันโรคของประชาชนได้เป็นอย่างดี จนได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศทั่วโลก

......เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ปฏิบัติงานที่ รพ.สต. คือ หมอใกล้บ้าน หรือ หมออนามัย ดูแลรักษาอาการเจ็บป่วย และ ให้คำแนะนำด้านสาธารณสุข เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และควบคุมโรคระบาดในเขตตำบล ได้ จนถึงการประสานงานส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาในโรงพยาบาล ที่มีความพร้อมมากกว่า ได้......

นพ. รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงสาธารณสุข กล่าวไว้ว่า หนึ่งในความสำเร็จ ประเทศไทย ชนะโควิด 19 สมรภูมิที่ 1 ให้กำลังใจและชื่นชม “หมออนามัย” ด่านหน้าของสุขภาพที่ดีของพี่น้องประชาชน
บทบาทหน้าที่หลักของหมออนามัย ก็คือ ส่งเสริมสุขภาพ งานเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรค แต่งานที่สำคัญคือ งานสร้างความรู้ให้ประชาชน ผ่านทางช่องทางต่างๆในหมู่บ้าน ซึ่งประชาชนมีความหลากหลาย บางคนตื่นตระหนก ข่าวลือเรื่องโรคระบาดแทบทุกวัน บางคนต้องการแบบนั้นแบบนี้ เราต้องจัดการให้ได้ซึ่งไม่ง่ายเลย ต้องอาศัย หลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และรวมพลังแก้ปัญหา การประสานหน่วยงานต่างๆเพื่อขอความร่วมมือ เช่น วัด โรงเรียน ชุมชน หน่วยงานราชการที่เราดูแล เพื่อขอความร่วมมือในการป้องกันโรค ต้องออกไปดำเนินการควบคุมโรคในสถานที่ต่างๆ เราต้องเป็นที่พึ่งให้ประชาชนให้ได้ เพราะในพื้นที่ตำบลเรา คือ ตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุขด่านหน้า “กระทรวสาธารณสุข” ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขประจำ “ตำบล” หมออนามัย ต้องทำงานร่วมกับ อสม ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชน ทุกวัน ..... ต้องไปผู้ป่วยเฝ้าระวัง เป็นเวลา 14 วัน ครอบครัวเกิดความระแวงกลัวไปติดโรคมาแพร่ที่บ้าน งานเคาะประตูบ้านต้านโควิด งานแจกหน้ากาก เย็บหน้ากาก ไหนจะคัดกรองงานศพ งานบวช งานแต่ง งานต่างๆ มากมาย ผมขอบพระคุณและชื่นชมหมออนามัย “ผู้ปิดทองหลังพระ” 

นพ.สุรเกียรติ อาชานุภาพ ยังกล่าวไว้อีกว่า จาก ประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการ และการทำงานของหมออนามัยดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น พอสรุปบทบาทของหมออนามัย(หรือนักสาธารณสุข) ได้ดังนี้

1. หมออนามัย คือ บุคคลผู้ดูแลสุขภาพประชาชนทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม จิตวิญญาณด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์

โดยการให้บริการด้านส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค รักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพ ตามกลุ่มอายุ ตามกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบ. ในอนาคตหมออนามัยต้องเตรียมพร้อมในการรับภารกิจใหม่ๆ สำหรับปัญหาสุขภาพใหม่ๆ ที่มีความสลับซับซ้อนมากกว่าในอดีต เช่น โรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน มีกันทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ซึ่งเป็นโรคที่ยังไม่สามารถดูแลได้อย่างมีคุณภาพ ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรม และก่อให้เกิดโรคแทรกมากมาย เพียงแต่หมออนามัย ถ้ามีความรู้ มีทักษะ ก็สามารถไปแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างมีคุณภาพ ผมเชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ได้อย่างใหญ่หลวงในการลดภาระให้แก่ประเทศ ที่จะต้องรักษาโรคแทรกซ้อนจากปัญหาของโรคเหล่านี้. โรคมะเร็งก็พบมากขึ้นในชุมชน ถึงแม้เราไม่สามารถวินิจฉัยรักษาโรคมะเร็งได้ แต่เราก็สามารถติดตามให้กำลังใจ ดูแลจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต.

หมออนามัยหลายท่านในปัจจุบันเริ่มมีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งต้องดูแลที่บ้านเท่านั้น จึงจะเป็นการดูแลที่มีคุณภาพและประหยัด ดังนั้น ภารกิจอันใหม่ในอนาคตจึงควรดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ชุมชน. นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่น่าสงสารอีกด้วย คนไทยเป็นโรคจิตเวชกันเยอะมากในชุมชน เช่น โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่สามารถควบคุมด้วยยากิน ยาฉีด ขอให้คนไข้ยอมกินยา ยอมฉีดยา ตามหมอสั่ง ก็จะสามารถมีคุณภาพชีวิตได้เช่นเดียวกับคนปกติ เหมือนโรคเบาหวาน ความดัน. ขณะนี้ปัญหาจิตเวชในชุมชนมีเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาลศูนย์ฯ โรงพยาบาลเฉพาะทางโรงพยาบาลจังหวัดใหญ่ๆ โรงพยาบาลชุมชนยังไม่มีหมอเฉพาะทางด้านจิตเวช เกิดปัญหาทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้เข้าไม่ถึงการบริการ เข้าไม่ถึงยา, บทบาทใหม่ขอหมออนามัยคือ ช่วยดูแลผู้ป่วยจิตเวชให้คืนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์กลับคืนมา ด้วยการคัดกรองโรคในชุมชน ส่งต่อคนไข้เพื่อรับการตรวจรักษา ติดตามการใช้ยาและประเมินอาการ ช่วยให้เข้าถึงยา แม้กระทั่ง การไปฉีดยาถึงที่บ้านของคนไข้ รวมทั้งส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจและช่วยดูแลคนไข้.

ดังนั้น บทบาทตรงนี้ก็คือ หมออนามัยจะต้องปรับพฤติกรรมของผู้ป่วย ควบคู่ไปกับการรักษาและการใช้ยาของแพทย์ ให้การดูแลด้านจิตใจสังคมของผู้ป่วยและครอบครัว ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยต้องสนใจเรียนรู้วิธีส่งเสริมให้เกิดการตายอย่างมีศักดิ์ศรีและประหยัด ไม่ใช่ตายคา ICU ตายคาเครื่องมือแพทย์ด้วยราคาที่แพงมากจนเป็นหนี้สิน หมดเนื้อหมดตัว. ต้องเน้นเรื่องการป้องกันโรคใหม่ๆ เช่น ส่งเสริมกิจกรรมการออกกำลังกาย การควบคุมอารมณ์ การบริหารจิต การปฏิบัติทางศาสนา หรือการพัฒนาทางจิตวิญญาณ. หมออนามัยจะต้องมีบทบาทในการป้องกันควบคุมโรคต่างๆ. หมออนามัยต้องเรียนรู้จากสื่อต่างๆ เรียนรู้จากระบบไอทีต่างๆ และน่าจะมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่เรียกว่า "KM หรือ knowledge management" ของเครือข่ายหมออนามัยที่ระตับตำบล อำเภอ จังหวัด โดยประสานงานกับแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ หรือวิชาชีพอื่นๆ ให้เป็นเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อดูแลคนไข้ที่ชุมชนและสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน

2. หมออนามัยคือ บุคคลที่เสริมพลังสร้างอำนาจให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งด้านการดูแลสุขภาพตนเอง พึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง

สำหรับคนทุกวัยตั้งแต่ปฏิสนธิจนสู่เชิงตะกอน. หมออนามัยต้องมีความรู้ในการที่จะส่งเสริมให้ประชาชนในการดูแลมนุษย์ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทำให้เด็กในครรภ์มีวิวัฒนาการที่สมบูรณ์ ทางกาย ทางสมอง ทางอารมณ์ ส่งเสริมการฝากครรภ์ การคลอดที่ปลอดภัย การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การดูแลภาวะโภชนาการเด็ก รวมทั้งส่งเสริมการดูแลสุขภาพตนเองของกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน วัยสูงอายุ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต. ตรงนี้จะต้องมีแนวคิดว่าสุขภาพอยู่ในวิถีชีวิตของประชาชน ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน ในเรื่องการกินอยู่หลับนอน การทำงาน การพักผ่อนหย่อนใจ โดยให้มีลักษณะที่เอื้อต่อสุขภาพกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ. ขณะเดียวกันหมออนามัยควรจะดูแลสุขภาพตัวเองด้วย ดูแลครอบครัวตัวเองด้วย โดยทำหน้าที่เป็นต้นแบบของประชาชน ในการเลี้ยงลูกให้ดีๆ ในการสร้างครอบครัวที่อบอุ่น เข้มแข็ง เรียนรู้วิธีผ่อนคลายความเครียด ในการพัฒนาจิตวิญญาณให้สูงส่ง เรียนรู้การเผชิญวิกฤติการณ์ชีวิตต่างๆ ในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง และมีความสุข

3. หมออนามัยคือ บุคคลที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายชุมชนด้วยความรัก

ไม่ว่าจะเป็น อบต. อสม. ครู พระ ผู้นำชุมชน องค์กรชุมชนต่างๆ. การทำงานกับเครือข่ายชุมชนถือเป็นความถนัดอย่างยิ่งยวดของหมออนามัย หมออนามัยมีความเก่งด้านนี้มาก มีความโดดเด่นด้านการทำงานเครือข่ายในชุมชน เพราะสถานีอนามัยเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เป็นหน่วยงานที่อยู่กับชุมชนตลอดเวลา. อันนี้ถือเป็นต้นทุนทางสังคมที่มีค่าอย่างยิ่ง

4.หมออนามัยคือ บุคคลที่ทำงานเป็นภาคีกับวิชาชีพทุกสาขา

ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ และอื่นๆ เพื่อช่วยกันทำงานในชุมชน เพราะหมออนามัยมีภาวะผู้นำของการทำงานเพื่อชุมชน ช่วยนำพาทีมงานทั้งหมดลงไปช่วยทำงานเพื่อชุมชน ให้บุคลากรต่างๆได้เรียนรู้ร่วมกัน ได้ไปสัมผัสปัญหา ได้สัมผัสความทุกข์ยากของผู้ป่วย ของประชาชน. ผมยังเชื่อมั่นว่าเราสามารถเสนอสิ่งเรียนรู้ให้แก่บุคคลต่างๆ แม้แต่นักเรียนนักศึกษาในการสร้างจิตสำนึก ในการสร้างคุณธรรม จริยธรรม เพราะเรามีวัตถุดิบ เรามีสื่อการเรียนรู้ที่มีชีวิตจิตใจ หมายถึงผู้ป่วยและครอบครัวที่มีปัญหาความทุกข์ยาก ซึ่งหมออนามัยรู้จักเป็นอย่างดี เอาครอบครัวผู้ป่วยเหล่านี้ เป็นสื่อที่มีชีวิตในการที่จะกระตุ้นต่อมจิตสำนึกของผู้คนต่างๆ ในสังคม. ดังนั้น เราจะมีเครือข่ายภาคีในการทำงานร่วมกันในชุมชน เพื่อประชาชนที่เรารัก รวมทั้งช่วยผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เกิดการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงที่ดีทั้งการศึกษา การสาธารณสุขที่ เอื้อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน.

"ผมเชื่อมั่นว่าด้วยการรวมตัวของกองทัพหมออนามัย ที่อยู่ด่านหน้าของแนวรบสุขภาพของประเทศ ด้วยการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของหมออนามัย ในการปรับเปลี่ยนบทบาทและภารกิจใหม่ๆ ต่อการเผชิญปัญหาใหม่ๆ หมออนามัยจะสามารถสร้างคุณูปการใหม่ๆต่อการสร้างเสริมสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งจะเป็นการสร้างคุณค่าของหมออนามัยให้เป็นที่ยอมรับของสังคมยิ่งๆขึ้นไป"

ภาพหมออนามัยหลับคาชุดกันฝน ในสถาน สังเกตอาการผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือภาพหมออนามัยใส่เสื้อกันฝน ไปตรวจคนไข้ หรือกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 บนดอย หรือภาพการปฏิบัติงานในช่วงการระบาดโควิดระลอกแรกทั่วประเทศ จนถึงการระบาดในระลอกนี้ที่สมุทรสาคร ปริมณฑล และพื้นที่อื่นๆ ถือเป็นแค่ส่วนน้อย ที่มีการสื่อสารในโซเซียล และแม้จะมีบางส่วน บางเพจ ที่เข้าใจผิดว่านั่น คือการปฏิบัติงานของ อสม. หรือ แพทย์ พยาบาล

แต่หมออนามัย ก็ยังคงปฏิบัติงานอย่างไม่ย่อท้อ ทั้งในสถานการณ์ปกติ หรือสถานการณ์ที่มีโรคระบาดเช่นปัจจุบัน

เพราะ “หมออนามัย(หรือนักสาธารณสุข) หัวใจคือประชาชน”