สรุปผู้ป่วยโควิดเกี่ยวข้องท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา รวม 38 รายใน 7 จ. เผยคืบหน้าการติดเชื้อหญิง 51 ปี คาดมาจากขณะนั่งรออยู่ที่สนามบินร่วมกับผู้ป่วยสิงห์บุรี ผู้ป่วยจากพิจิตร และผู้ป่วยกทม. มีการสวมหน้ากากอนามัยไม่ถูกต้อง โดยหน้ากากตกลงมาอยู่ใต้จมูกและปาก เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อในประเทศไม่เกี่ยวกับเมียนมา เป็นติดใน ASQ
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี พลตรี จักรพงษ์ จันทร์เพ็งเพ็ญ กองบัญชาการกองทัพไทย ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) พร้อมด้วย นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 และมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 บริเวณพื้นที่ด่านชายแดน
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า สำหรับความก้าวหน้าการสอบสวนผู้ป่วยโรคโควิด-19ที่เกี่ยวข้องกับ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ณ วันที่ 7 ธ.ค.2563 โดยทีมปฏิบัติการสอบสวนโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา พิจิตร ราชบุรี สิงห์บุรี กทม. กรมควบคุมโรค ฯลฯ โดยข้อมูลตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ช่วงปลายเดือนพ.ย. มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยจากท่าขี้เหล็ก เมียนมารวมทั้งสิ้น 38 รายใน 7 จังหวัด แบ่งเป็นติดเชื้อจากต่างประเทศ(เมียนมา) 36 ราย ติดเชื้อในประเทศมี 2 ราย คือ เคสเชียงรายและสิงห์บุรี ส่วนอีกส่วนพบในสถานที่กักกันโรค(LQ)
โดยผู้ติดเชื้อในประเทศ 2 รายใน 38 รายนั้นไม่มีประวัติไปท่าขี้เหล็ก แต่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิดที่มาจากท่าขี้เหล็กก่อนหน้านี้ ส่วน 20 รายใน 38 ราย ตรวจพบเชื้อใน LQ อย่างไรก็ตาม จากการสอบสวนโรคเพิ่มเติมพบว่า 36 ราย ยกเว้น 2 รายที่ติดเชื้อในประเทศนั้น พบความเกี่ยวข้องกับสถานที่บันเทิงในท่าขี้เหล็ก เมียนมา ชื่อโรงแรม “1G1-7Hotel” ซึ่งห่างจากพรมแดนไทย อ.แม่สาย เพียง 1.5 กิโลเมตร ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรประมาณ 2-3 กิโลเมตร เป็นโรงแรมที่เป็นสถานบันเทิงแบบครบวงจร มีนักลงทุนจากต่างชาติมาร่วมลงทุนภายในมีสิ่งบันเทิงแบบครบวงจร ทั้งผับ เธค บาร์ คาราโอเกะ กาสีโน โดยพบว่ามีคนไทยไปทำงานจำนวนมากหลายร้อยคน โดยสถานบันเทิงดังกล่าวได้ปิดเมื่อวันที่ 24 พ.ย. เพราะมีโควิดระบาด คนไทยจึงทยอยเดินทางกลับโดยลักลอบเข้าเมืองผ่านช่องทางธรรมชาติ ทั้งนี้ มีบางคนยังไม่มีอาการยังอยู่ในระยะพักตัวของโรคทำให้กลับมาแล้วยังต้องกลับมาสังเกตอาการต่อ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทุกคนที่กลับมาจะอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองฝ่ายความมั่นคง จัดระบบให้อยู่ในโลคอลกรณีที่รัฐจัดให้เป็นเวลา 14 วันและตรวจหาเชื้อ 2 ครั้งในระหว่าง 14 วัน
นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับผลการสอบสวนโรคเพิ่มเติมกรณีผู้ติดเชื้อ 2 รายในกทม. คือ ชายอายุ 30 ปีและหญิง 26 ปีที่มีประวัติเดินทางไปสถานบันเทิงท่าขี้เหล็ก ล่าสุดพบผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยรวม 91 ราย แบ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 22 ราย มีผู้สัมผัสในชุมชน 10 ราย คือ เชียงราย 2 ราย ตรวจไม่พบเชื้อ 1 ราย อีก 1 รายรอผลการตรวจ ปทุมธานี 1 ราย รอผลการตรวจเชื้อ และกทม. 7 รายอยู่ในโรงแรม ซึ่งขณะนี้ติดตามตัวอยู่ ทราบรายชื่อหมดแล้ว และที่เหลืออีก 12 รายเป็นผู้สัมผัสในยานพาหนะ นอกนั้นเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 69 ราย ส่วนที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่า เคสกทม.อยู่ย่านที่จะมีการชุมนุมหรือไม่นั้น จากการสอบสวนโรคไม่พบว่าเกี่ยวข้องกัน
ส่วนกรณีผู้ป่วยหญิงอายุ 51 ปีในจ.สิงห์บุรีที่มีรายการก่อนหน้านี้ ความคืบหน้าการติดตามผู้สัมผัสกับผู้ป่วยหญิงรายดังกล่าว พบทั้งหมด 55 ราย เสี่ยงสูง 37 รายในจำนวนนี้ 32 รายได้รับการตรวจแล้วไม่พบเชื้อ และอยู่ระหว่างรอผลตรวจอีก 5 รายส่วนใหญ่จะเป็นสมาชิกในครัวเรือนเพื่อร่วมงานในที่ทำงานและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ไปติดต่อและเพื่อนบ้านรวมทั้งร้านตัดเสื้อซึ่งอยู่ในการเฝ้าระวังสังเกตอาการต่อให้ครบ 14 วัน ส่วนผู้สัมผัสเสียงต่ำอีก 18 รายอยู่ระหว่างเฝ้าสังเกตอาการเช่นเดียวกันจนครบ 14 วัน ส่วนผลการสอบสวนเพิ่มเติมที่ระบุว่ามีการดูกล้องวงจรปิดก็พบว่าในเที่ยวบิน DD 8717 ซึ่งเป็นเที่ยวบินจากสนามบินแม่ฟ้าหลวงมาที่สนามบินดอนเมืองกรุงเทพฯวันที่ 28 พฤศจิกายนผู้ป่วยรายนี้นั่งอยู่ห่างจากผู้ป่วยก่อนหน้า 8 แถวจึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุของการรับเชื้อ
“ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการติดเชื้อเคสสิงห์บุรี คือ ขณะนั่งรออยู่ที่สนามบินแม่ฟ้าหลวง พบว่า มี ช่วงหนึ่งระหว่างรอขึ้นเครื่อง ผู้ป่วยสิงห์บุรี ผู้ป่วยจากจังหวัดพิจิตร และผู้ป่วยกทม. อยู่ในบริเวณเดียวกันและมีการสวมหน้ากากอนามัยไม่ถูกต้องโดยหน้ากากตกลงมาอยู่ใต้จมูกและปาก อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่เป็นผู้โดยสารที่ร่วมเดินทางมากับ 4 เที่ยวบิน ดังนี้ 1. สายการบินนกแอร์ เที่ยวบิน DD8717 วันที่ 28 พ.ย. 63 เวลา 13.40 น. 2. สายการบิน Thai Lion Air เที่ยวบิน SL533 วันที่ 29 พ.ย. 63 เวลา 10.40 น. 3. สายการบิน Thai Smile เที่ยวบิน WE137 วันที่ 29 พ.ย. 63 เวลา 20.30 น. 4. สายการบิน Thai Lion Air เที่ยวบิน SL545 วันที่ 30 พ.ย. 63 เวลา 19.15 น. โดยขอผู้โดยสารสังเกตอาการตนเอง เป็นเวลา 14 วัน นับจากวันเดินทาง หากมี ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้โทรแจ้ง 1422 หรือหน่วยงานสาธารณสุขใกล้บ้าน” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวย้ำอีกว่า สถานการณ์ ณ ขณะนี้ยังคงเป็นการติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศ เป็นการติดเชื้อในวงจำกัด โดยพบติดในประเทศเพียง 2 ราย ซึ่งสถานการณ์คล้ายช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา จึงยังห่างไกลจากจุดที่เคยระบาดในเดือน มี.ค. ที่เป็นการระบาดช่วงแรกของไทย ที่สำคัญ ณ ปัจจุจบันไทยมีองค์ความรู้ ทรัพยากร การเตรียมพร้อมรับมือต่างๆ ทั้งความเข้าใจของประชาชนในการรับมือ การป้องกันตัวมากกว่าตอนระบาดแรกๆ สรุปคือ เป็นการติดเชื้อในวงจำกัด
เมื่อถามถึงกรณีเคสติดเชื้อในประเทศที่พบบริเวณสถานที่กักกันเป็นบุคลากรทางการแพทย์ นพ.โสภณ กล่าวว่า เบื้องต้นน่าจะมาจากการสวมชุดป้องกันที่บางช่วงอาจไม่มิดชิด แต่ก็ต้องมีการสอบสวนโรคเพิ่มเติม ซึ่งเคสนี้ไม่เกี่ยวกับเมียนมา แต่ติดในสถานที่กักกันทางเลือกหรือ ASQ
ด้าน พล.ต. จักรพงษ์ จันทร์เพ็งเพ็ญ กองบัญชาการกองทัพไทย ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กล่าวว่า ศปม. กวดขันตรวจตราพื้นที่ชายแดนอย่างเข้มข้น โดยแบ่งพื้นที่ 3 ส่วน ส่วนแรก คือ พื้นที่ชายแดน เน้นตรวจตราพื้นที่ทางธรรมชาติ แต่เนื่องจากเขตชายแดนยาว 2,400 กิโลเมตร จึงต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วย เช่น ใช้โดรนของกองทัพอากาศ ตรวจตรา ติดตั้งกล้อง ซีซีทีวี เพิ่ม วางเครื่องกีดขวาง เพื่อจำกัดพื้นที่การลักลอบเข้ามา ร่วมทั้งร่วมมือด้านการข่าวกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสกัดกั้นการเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ส่วนสอง พื้นที่ชายแดนถึงพื้นที่ตอนใน เป็นการสนธิกำลังระหว่างตำรวจ ทหาร อาสาสมัคร สกัดตามพื้นที่ที่คาดว่าจะลักลอบเข้าเมือง ตรวจค้นพาหนะที่ได้รับแจ้ง เป็นต้น ส่วนที่สาม คือ พื้นที่ตอนใน ซึ่งตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบ จัดชุดปฏิบัติการรวจค้นสอบสวนสถานประกอบการ โรงงาน ที่มีคนค่างด้าวทำงาน หรือสถานที่ที่ได้รับแจ้งจากประชาชนว่าไม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งมีชุดปฏิบัติการในการให้คำแนะนำและช่วยเหลือประชาชน ทั้งนี้หากประชาชนพบเบาะแส สามารถแจ้งมาได้ที่ สายด่วน 1138, 1559, 19
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงความพร้อมทางด้านสาธารณสุข ว่า หากมีการระบาดกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่าย รพ.กองทัพ เอกชน และมหาวิทยาลัย ถือว่ามีความพร้อม หากในกทม.และปริมณฑล คนไข้ติดเชื้อสามารถรองรับได้ 230-400 รายต่อวัน ทั้งประเทศรับได้ 1,000-1,700 รายต่อวัน ขณะที่เชียงรายประชานุเคราะห์ 60 เตียง และสามารถขยายไปรพ.รอบนอกได้อีก 300 เตียง ส่วนที่เชียงใหม่เตรียมไว้มากกว่า 120 เตียง จ.ตากอีกมากว่า 120 เตียง ส่วนที่มีข่าวลือว่าชายอายุ 70 ปีที่แม่สอด จ.ตาก ติดโควิดสียชีวิตนั้น ยืนยันว่าไม่จริง ขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษา ใส่ท่อหายใจ ให้ยา รักษาประคับประคอง อาการดีข้นแล้ว ไม่นานออกไปอยู่ห้องปกติได้
- 16 views