4 ผู้อำนวยการจาก 4 โรงพยาบาล ร่วมกันแชร์ประสบการณ์ พัฒนาโรงพยาบาลสู่ Smart Hospital เผชิญหน้าความท้าทายใหม่ ๆ ในโลกยุคดิจิทัล
สมาคมนักบริหารสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข จัดงานประชุมวิชาการสมาคมนักบริหารสาธารณสุขปี 2564 องค์กรแห่งดิจิทัล ร่วมกับสำนักข่าว Hfocus และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ห้องประชุมสุทธาสิโนบล ชั้น 8 สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ ในหัวข้อการเสวนา "ความท้าทายของ Smart Hospital"
นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการ รพ.สมุทรสาคร กล่าวว่า สมัยก่อนตอนที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลปทุมธานี คนไข้เยอะมาก คิวยาวมาก เพราะโรงพยาบาลใกล้กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นโรงพยาบาลที่แออัด มีคนไข้กว่า 2,000 คนต่อวัน เมื่อคนไข้เยอะก็จะรีบมาเอาคิวตั้งแต่ตอนเช้า พอรับคิวได้ช้าครั้งหน้าคนไข้ก็มาเช้าขึ้น จึงเริ่มต้นด้วยการแก้ปัญหาใช้เทคโนโลยีช่วยบอกคิวให้คนไข้รู้คิวล่วงหน้า ไม่ต้องรีบมาตั้งแต่เช้า จากนั้นก็มีการใช้ Line @ MOPH Connect ต่อยอดจากระบบคิวที่ทำภายในโรงพยาบาล มาเป็นการใช้ระบบคิวนัดออนไลน์แบบเหลื่อมเวลา และระบบแจ้งเตือนเพื่อกันลืม ถึงคนไข้อยู่บ้านก็จองคิวได้ เพิ่มความสะดวกให้กับคนไข้มากขึ้น นอกจากนี้ โรงพยาบาลปทุมธานียังร่วมมือกับองค์กรอื่นอย่าง Pathum Thani TOT Help Call Center ระบบแจ้งเหตุที่นำระบบระบุพิกัดด้วยดาวเทียม เพิ่มโอกาสรอดชีวิต และลดความพิการจากภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคหัวใจขาดเลือด หรือเส้นเลือดสมองตีบ/แตก (Stoke) โดยให้เบอร์โทรศัพท์กับคนไข้กลุ่มเสี่ยง หากเกิดกรณีฉุกเฉินสามารถโทรศัพท์แจ้งได้ โปรแกรมจะให้ข้อมูลว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงโรคใดบ้าง
ในการดำเนินการของ รพ.สมุทรสาครนั้น นพ.อนุกูล อธิบายว่า มีความแตกต่างจากโรงพยาบาลปทุมธานี ด้วยมีคนไข้แออัดกว่าถึง 3,000 คนต่อวัน ที่ผ่านมา เน้นการทำงานกับผู้ป่วยต่างด้าว และเรื่องโควิด-19 เพราะจังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก อาศัยอยู่กันเป็นชุมชน จึงมีการทำ อสต.ออนไลน์ แอปพลิเคชันสำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว โดยอบรมทฤษฎีเน้นหนักกลไกป้องกันโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว มีการเรียนออนไลน์ ทำข้อสอบ ประเมินผลออนไลน์ การรายงานและแจ้งเหตุในเคสที่ต้องสงสัย เป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อความสะดวกยิ่งขึ้น
ด้านนพ.วิโรจน์ วิโรจนวัธน์ ผู้อำนวยการ รพร.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยกับผู้รับบริการ สร้างการมีส่วนร่วมในระบบสุขภาพ โดยให้คนไข้มีความรู้เรื่องโรคภัยประสานกับผู้ให้บริการ ที่จะพูดคุยร่วมกัน และต้องเน้นการทำงานอย่างเป็นระบบโดยเก็บข้อมูลไว้เพื่อการประมวลผลด้วยการสร้างระบบสารสนเทศ สำหรับโปรแกรมที่ใช้นั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน 1.Line @ MOPH Connect ที่กระทรวงสาธารณสุขส่งเสริมให้ใช้งาน ช่องทาง Line @ จะช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล และเมื่อทำ Pin Code ก็จะยิ่งปกป้องข้อมูลให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น Line @ ยังสามารถโคลนไลน์ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนที่ใช้งานไม่เก่ง นำเบอร์มือถือให้ลูกไปโคลนไลน์เพื่อดูข้อมูลสุขภาพประจำปี เช่น โรคเบาหวานและโรคความดัน แทนเจ้าตัวที่ไม่สามารถดูข้อมูลสุขภาพของตัวเองได้ 2.Smart Back Office ส่วนนี้จะเป็นเรื่องของบุคลากร ทั้งเรื่องการลา การทำประเมินสมรรถนะ และเรื่องการเงินเพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์
นพ.อดุลย์ เร็งมา ผู้อำนวยการ รพ.ยิ่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นราธิวาส เสริมถึงความสำคัญของ People Ware ว่า สิ่งแรกที่มองในฐานะผู้บริหารคือการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในการทำงาน ถ้าคนไม่ยอมรับการปฏิรูปจะไม่สำเร็จ จึงอยากทำในสิ่งที่เจ้าหน้าที่มองว่าได้ประโยชน์และเป็นผลดีเพื่อให้ทีมงานอยากเปลี่ยน ในปี 2561 จึงปรับระบบการทำงานเพื่อให้เจ้าหน้าที่สะดวกขึ้นโดยยกระบบ Back Office ขึ้นมาให้เป็น Digital Workplace ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน จากนั้นในปี 2562 จึงเริ่มเป็นการบริการให้ประชาชน เปลี่ยนเป็น OPD Paperless ในเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้น 2 เดือนก็เปลี่ยน IPD Paperless เพราะประเมินแล้วว่าเจ้าหน้าที่พึงพอใจ การใช้ AI เข้ามา ทำให้บุคลากรทุกคนได้เรียนรู้และเห็นผลสัมฤทธิ์ร่วมกัน
"People Ware เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด แล้วค่อยหา Software ดี ๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เป็น Digital Workplace ทำงานที่ไหนก็ได้ ข้อมูลต่าง ๆ ดูได้เป็น Realtime เรามี Y-time ตรวจสอบได้หมดว่า จุดนี้มีเจ้าหน้าที่กี่คน ดูได้ว่าทำงานกี่โมงกลับกี่โมง และในช่วงโควิด-19 เราไม่อยากให้บุคลากรมีความเสี่ยงจึงใช้ Digital Workplace มีการออกแบบ GIS บอกพิกัดได้ว่า อสม.อยู่ตรงไหน บ้านคนไข้หรือคนที่มีความเสี่ยงอยู่บริเวณใด จึงทำให้การดูแลรักษาสะดวกยิ่งขึ้น" นพ.อดุลย์ กล่าว
ขณะที่ พญ.ฤทัย วรรธนวินิจ ผู้อำนวยการ รพ.อุดรธานี กล่าวว่า ตนได้ย้ายไปดูแลงานที่โรงพยาบาลมาแล้ว 6 แห่ง ทำให้เห็นภาพรวมของการดำเนินงาน อย่างแรกต้องประเมินต้นทุนเสียก่อน แล้วจึงค้นหาโอกาสดูว่ามีทรัพยากรอะไรอยู่บ้าง จากนั้นให้สื่อสารและสร้างฝัน โดยทำให้บุคลากรมองเห็นภาพใหญ่ร่วมกัน ต่อมาก็ปักหมุดในการกำหนดช่วงเวลาว่าต้องเปลี่ยนแปลงภายในเมื่อไหร่ กำหนดงบประมาณ ดูว่ากลุ่มเป้าหมายจะเน้นไปที่แผนกใด ก่อนจะเปลี่ยนแปลงเป็น Digital Transformation แล้วจึงช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการ Brainstorming
"ปัจจัยของความสำเร็จในการทำงาน ต้องมีทั้งความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม บุคลากรทุกคนต้องรู้จักความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ผู้บริหารต้องทำงานเชิงรุก ช่วยอำนวยความสะดวกให้ทำงานง่ายขึ้น คอยสำรวจทรัพยากรอยู่เสมอว่าต้องเปลี่ยนอะไร เพิ่มตรงไหน ตรงนี้จะช่วยให้บุคลากรทำงานได้ดีขึ้น ที่สำคัญ ต้องส่งกลับคุณค่างานเพื่อให้บุคลากรเกิดความภาคภูมิใจในงาน และทำต่อไปอย่างสม่ำเสมอ" พญ.ฤทัย กล่าวพร้อมกับฝากข้อเสนอไว้ว่า อยากให้มี Free Software เพื่อให้ทุกที่ใช้ระบบเดียวกัน ทำงานง่ายขึ้น รวดเร็วยิ่งขึ้น และถ้าอยากให้ทั้งประเทศเปลี่ยนแปลงต้องมี Facilitators กลาง เพื่ออำนวยความสะดวก
สำหรับความท้าทายของ Smart Hospital นายทวี ธีระสุนทรวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ความท้าทายของระบบไม่ได้อยู่ที่ไอที แต่อยู่ที่กระบวนการ เพราะบางโรงพยาบาลมีกระบวนการที่แตกต่างกัน ไอทีไม่สามารถออกแบบให้สอดคล้องกับทุกแบบได้ จึงต้องทำให้มีกระบวนการเดียวกันเพื่อลดต้นทุนและการบริหารจัดการ การดำเนินงานทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพราะทุกหน้าที่ต้องเปลี่ยนแปลงในการทำงาน บุคคลที่สำหรับที่สุดคือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการปรับเปลี่ยนทั้งหมด เพราะการเปลี่ยนแปลงจะมีแรงกระเพื่อมเสมอ ผู้ที่จะเข้ามาจึงต้องแข็ง หลักการนิ่ง ชักจูงใจให้คนเห็นด้วยในการเปลี่ยนแปลง เพราะเทคโนโลยีจะเข้ามาได้นั้น จำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องปรับวิธีการทำงาน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากเน้นคือเรื่องของความปลอดภัย ทุกแพลตฟอร์มและทุกแอปพลิเคชั่น หลังบ้านปลอดภัยหรือไม่ ต้องระวังว่าจะถูกแฮคข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อมูลทางการแพทย์ ที่มีผลต่อความเป็นความตายของคนไข้ มีมูลค่ามหาศาลในการทำธุรกิจต่อได้ การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในอนาคต จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญเช่นกัน
จากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย Smart Hospital ก็ต้องก้าวหน้าต่อไป เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างง่ายดาย แต่ข้อมูลสุขภาพก็ต้องได้รับการปกป้องให้ปลอดภัยด้วยเช่นกัน
- 311 views