ห้ามพลาด! หมอโรงพยาบาลยี่งอ ชวนเปลี่ยนโลกแบบไม่หักด้ามขวาน 2 ธ.ค.นี้ ร่วมถอดรหัสไม่ลับ ใช้ระบบดิจิทัลอย่างไร ให้เป็นสมาร์ทฮอสพิทัล ดึงเอไอ ช่วยสกัดโควิด-19 เตือนระบบดิจิทัลพัฒนาทุกวัน หากอยู่เฉยเท่ากับล้าหลัง แนะบุคลากรเปิดใจช่วยองค์กรยังยืนได้
หลายคนสงสัย ว่า การพลิกโฉมโรงพยาบาลด้วยระบบดิจิทัลอย่างไร ให้กลายเป็นสมาร์ทฮอสพิทัล (Smart Hospital) ล่าสุดสมาคมนักบริหารสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขจัดงานประชุมวิชาการสมาคมนักบริหารสาธารณสุขปี 2564 องค์กรแห่งดิจิทัล ในวันที่ 2 ธันวาคม 2563 เวลา 09.00-15.30น. ที่ ห้องประชุมสุทธาสิโนบล ชั้น 8 สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ งานนี้ยังได้รับเกียรติจากโรงพยาบาลตัวอย่างที่มีการใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาในการบริการประชาชน
นพ.อดุลย์ เร็งมา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นราธิวาส เปิดเผยถึงการใช้ระบบดิจิทัลให้เป็นสมาร์ทฮอสพิทัล (Smart Hospital) โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า หลักของระบบดิจิทัล คือ การนำหุ่นยนต์หรือเอไอ มาทำงานแทนคนให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับในส่วนของโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ได้มีการนำเอไอมาทำงานแทนบุคลากรทางการแพทย์ได้ประมาณ 2 ปี และจากการนำเอไอมาใช้ทำให้เห็นถึงประโยชน์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสิ่งที่สำคัญก่อนที่โรงพยาบาลยี่งอจะนำระบบดิจิทัลมาใช้ ได้มีการวางแผนเพื่อความสำเร็จโดยแบ่งเป็น 3 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย พีเพิลแวร์ หรือ ตัวบุคลากร ในโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญและยากที่สุดของการใช้ระบบดิจิทัล เพราะการจะนำระบบดิจิทัลมาใช้งานตัวของเจ้าหน้าที่จะต้องอยากใช้ด้วย ดังนั้นโจทย์ใหญ่ คือ จะทำอย่างไร ให้เจ้าหน้าที่รู้สึกว่าการนำระบบดิจิทัลมาใช้ ตัวเจ้าหน้าที่จะได้ประโยชน์ ลดภาระการทำงาน ทำให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้น
โรงพยาบาลเริ่มนำระบบดิจิทัลมาใช้ในส่วนของ Back Office เกี่ยวกับการใช้ชีวิตของเจ้าที่ในโรงพยาบาล เพื่อดึงดูดให้เจ้าหน้าที่มีความสนใจและนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการทำงาน เช่น ระบบการเซ็นชื่อเข้าออกงาน ระบบการขอลางาน เป็นต้น ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ได้ใช้ระบบเอไอ มีความรู้สึกว่าการใช้ชีวิตมีความสะดวกสบายและง่ายขึ้น เพราะข้อมูลทุกอย่างอยู่ในระบบมือถือ อยากได้ข้อมูลส่วนไหนก็สามารถค้นหาได้ ทำให้บุคลากรรู้สึกว่าชีวิตสะดวกสบายขึ้นมีประโยชน์ โปร่งใส สามารถตรวจสอบ เพราะมีการโชว์ข้อมูลอยู่หน้าจออยู่แล้ว จึงเริ่มมีการเปิดใจยอมรับและนำเอไอเข้ามาช่วยทำงาน
เมื่อก้าวแรกสำเร็จ จึงเริ่มดำเนินการในส่วนของระบบของซอฟต์แวร์ (Software) ควบคู่กับการพัฒนาระบบฮาร์ดแวร์ (Hardware) ต่อทันที โดยผู้บริหารของโรงพยาบาลได้มีการหารือกับแอดมินของ Software ในการเปลี่ยนการใช้ระบบปฏิบัติการ ที่แต่เดิมต้องใช้อยู่บน PC เท่านั้น ให้สามารถปฏิบัติงานผ่านทางมือถือได้ โดยโรงพยาบาลมีการผลิตระบบการเช็คชื่อการเช็คประวัติผู้ป่วย ซึ่งไม่ต้องค้นหาจากกระดาษที่ต้องใช้การสัมผัส หันมาใช้การค้นหาข้อมูลผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งทำให้ง่ายและช่วยลดการสัมผัสช่วยตอบโจทย์ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี
“สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ Digital คือ ต้องสามารถซื้อใจ พีเพิลแวร์ให้ได้ เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดใจพร้อมที่จะเรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงการนำระบบดิจิทัล มาทำให้โรงพยาบาลยี่งอเป็นสมาร์ทฮอสพิทัลจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เห็นได้ชัดว่าเจ้าหน้าที่ชอบระบบดิจิทัลมาก เพราะช่วยลดการสัมผัส เช่น จากเดิมต้องมีการค้นหาเอกสาร OPD เปเปอร์เรทตามแฟ้ม ก็ไม่ต้องค้นหาเอกสารผู้ป่วย ไม่ต้องปริ้นเอกสาร เพราะมีการนำเอไอเข้ามาใช้ รวมถึงการวัดอุณหภูมิร่างกายของผู้ป่วยโรงพยาบาลก็มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ จึงช่วยลดการสัมผัสทำให้เจ้าหน้าที่ประทับใจมาก ” นพ.อดุลย์ ขยายภาพการใช้ระบบดิจิทัล” ผอ.โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ กล่าว
นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด โรงพยาบาลก็ได้มีการพัฒนาระบบดิจิทัล ที่ตรงกับบริบทของชุมชน โดยทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้รู้ถึงพิกัดบ้านของกลุ่มผู้ต้องสงสัย โดยเมื่ออสม.ลงเยี่ยมบ้านก็ให้ทำการส่งลิงค์มาให้กับโรงพยาบาล เพื่อทำการติดตามผู้ต้องสงสัยว่ามีกี่หลังคาเรือน โดยใช้ระบบ GPS ทำให้เรารู้ที่อยู่ของผู้ต้องสงสัยผู้ป่วย และรู้ว่าอสม.คนไหนเป็นคนดูแล ช่วยทำให้การเฝ้าระวังและควบคุมโรคเป็นไปด้วยความรวดเร็ว อย่างไรก็ตามเทคโลโนยีมีความจำเป็นมาก หากมี AI เข้ามาช่วยทำงาน ปัจจุบันโรงพยาบาลมีการต่อยอดพัฒนาระบบเอไอ มาใช้เรื่องสิ่งแวดล้อมและขยะ รวมถึงการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCD ด้วย เนื่องจากโรงพยาบาลมี database และ GPS ในพื้นที่ยี่งออยู่แล้ว
“การพัฒนาระบบดิจิทัล โรงพยาบาลใช้งบประมาณเพิ่มจากเดิมบ้าง แต่ไม่มาก เพราะจะเน้นทำตามลำดับความสำคัญของบริบทไม่ได้เปลี่ยนแบบหักด้ามขวาน จะค่อยๆเปลี่ยนตามบริบทความสำคัญ หรือ บางระบบฝ่ายไอทีของโรงพยบาลก็พัฒนาขึ้นเอง เช่น ระบบรดน้ำ ระบบการเปิดประตู เป็นต้น หากโรงพยาบาลไหนอยากจะพัฒนาเป็นโรงพยาบาลสมาร์ทฮอสพิทัล หรือหากใครอยากเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องดิจิทัลและพร้อมที่จะสร้างความสนุกไปด้วยกัน สามารถมาร่วมรับฟังได้ในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ ในงานประชุมวิชาการสมาคมนักบริหารสาธารณสุขปี 2564 องค์กรแห่งดิจิทัล เนื่องจากผมจะนำความรู้ในเรื่องการใช้ระบบดิจิทัลเพื่อทำให้โรงพยาบาลเป็นสมาร์ทฮอสพิทัลมาแบ่งปัน นอกจากนี้ผู้ที่มาร่วมงานยังจะได้พบกับการพัฒนาโปรแกรมที่ใช้ GPS ของพื้นที่ยี่งอมาประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นอีกด้วย” ผอ.โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ เชิญชวนผู้สนใจมาร่วมรับฟังการใช้ระบบดิจิทัลเพื่อทำให้โรงพยาบาลเป็นสมาร์ทฮอสพิทัล
ที่ผ่านมาโรงพยาบาลยี่งอ ถือว่าเปลี่ยนแปลงไปในระดับที่ค่อนข้างภูมิใจ เป็น Digital Hospital โรงพยาบาลเปลี่ยนจากสิ่งที่เป็นสิ่งที่ท้าทาย คือการเปลี่ยนทัศนคติ หรือ Attitude ของบุคลากรเป็นหลัก แล้วใช้ AI ที่ตรงกับบริบทของโรงพยาบาลมาเป็นตัวช่วย
นพ.อดุลย์ ย้ำทิ้งท้ายว่า ระบบดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตและโลกใบนี้อย่างแน่นอน และที่สำคัญระบบดิจิทัลมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทุกวันไม่มีทางจบสิ้น หากเราอยู่เฉยๆ ก็ล้าหลังทันที เพราะระบบดิจิทัลไม่มีเคยหยุดอยู่กับที่ แต่ตัวแปรที่สำคัญที่จะทำให้เรายั่งยืนได้ คือ ตัวบุคลากร เพราะเมื่อไหร่ที่บุคลากรทั้งองค์กร คิดว่าระบบเอไอ มันดี มันง่าย มันน่าใช้ นั่นจะทำให้องค์กรเกิดความยั่งยืน
อย่าลืมติดตามข้อมูลดีๆ กับการประชุมวิชาการสมาคมนักบริหารสาธารณสุขปี 2564 องค์กรแห่งดิจิทัล ในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00-15.30น. ที่ ห้องประชุมสุทธาสิโนบล ชั้น 8 สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ งานนี้ยังสามารถรับชมผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์จากทางเพจ Hfocus เพื่อเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์สำหรับผู้ที่สนใจแต่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานได้
(อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : ชวนร่วมงานปรับรูปแบบโรงพยาบาลสู่องค์กรดิจิทัล 2 ธ.ค.นี้ การบริการประชาชนจะเปลี่ยนไป..)
- 92 views